ปรับแบบรับ'ไฮสปีด'ค่าก่อสร้างสายสีแดงพุ่ง

ปรับแบบรับ'ไฮสปีด'ค่าก่อสร้างสายสีแดงพุ่ง

ปรับแบบรับ "ไฮสปีด" ค่าก่อสร้างสายสีแดงพุ่ง 1.5 หมื่นล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 25 กิโลเมตร วงเงินกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 สัญญา โดยสัญญา 1 หรืองานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง และสัญญา 2 หรืองานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต เปิดประกวดราคาในเดือนธ.ค. 2553 เพิ่งเซ็นสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงต้นปี 2556 และงานก่อสร้างไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะอยู่ในช่วงรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งต้องปรับแบบก่อสร้างเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง

ส่วนสัญญา 3 หรืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2554 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาเอกสารประกวดราคา

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อยู่ระหว่างปรับรายละเอียดแบบก่อสร้างระบบรางและสถานีบางซื่อเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง โดยจะเพิ่มรางรถไฟเป็น 4 ราง จากเดิม 3 ราง รวมทั้งขยายพื้นที่ชานชลาสถานีบางซื่อเป็น 600 เมตร จากเดิม 200 เมตร ส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นรวม 1.5 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของงานสัญญาที่ 1 ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มเอส.ยู. จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) คาดว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินเดิม 29,826 ล้านบาท โดยเนื้องานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มพื้นที่ชานชลาสถานีบางซื่อ

ส่วนงานสัญญาที่ 2 ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) คาดว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท จากวงเงินเดิม 21,235 ล้านบาท โดยเนื้องานที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มจำนวนรางเป็น 4 ราง จากเดิม 3 ราง

ทั้งนี้ การคำนวณค่าก่อสร้างในส่วนของเนื้องานที่เพิ่มขึ้น ใช้ฐานราคาตามสัญญาเดิม ซึ่งเป็นราคาที่คิดไว้เมื่อหลายปีก่อน ถือว่าต่ำกว่าราคาปัจจุบัน แต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการให้ปรับลดลงหรือไม่เกิน 15% ของวงเงินเดิม ร.ฟ.ท.จึงจะเชิญหน่วยงานกลางจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบความเหมาะสมของค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นจะเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตรวจสอบราคากลางทั้ง 2 สัญญา

"ร.ฟ.ท.ต้องหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะก่อสร้างตามแบบที่ปรับใหม่หรือไม่ เพราะปัจจุบันผู้รับเหมาไม่กล้าเดินหน้าก่อสร้าง หากร.ฟ.ท.ตัดสินใจล่าช้า เชื่อว่าผู้รับเหมาจะยื่นหนังสือขอก่อสร้างตามแบบเดิม เพราะต้องเร่งทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา"

สำหรับแบบก่อสร้างที่ปรับปรุงใหม่ จะช่วยให้สถานีบางซื่อเป็นสถานีกลางที่รองรับระบบรถไฟทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง และรถไฟทางไกล ซึ่งแบบก่อสร้างเดิมไม่ได้ออกแบบไว้รองรับรถไฟความเร็วสูง ส่วนการเพิ่มจำนวนรางเป็น 4 ราง จะช่วยด้านความปลอดภัยในการบริหารจัดการเดินรถ ซึ่งจะแยกรางรถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง และรถไฟทางไกล ออกจากกัน จากเดิมที่รถไฟทางไกลจะใช้รางร่วมกับรถไฟชานเมือง โดยทั้ง 2 ระบบจะใช้ระบบอาณัติสัญญาณต่างกัน การเดินรถในรางเดียวกันจึงเป็นไปได้ยาก และอาจเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในส่วนของงานสัญญาที่ 1 จะต้องตัดตอม่อที่สุ่มเสี่ยงต่องานโยธาเพิ่มอีก 65 ต้น จากเดิม 179 ต้น รวมเป็น 244 ต้น ส่วนสัญญาที่ 2 จะต้องตัดตอม่อเพิ่มอีก 39 ต้น จากเดิม 422 ต้น รวมเป็น 461 ต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การปรับแบบก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยเพิ่มจำนวนรางเป็น 4 ราง จะช่วยรองรับปริมาณรถไฟที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางหลักในการเข้า-ออกจากกรุงเทพฯ หากมีเพียง 3 ราง จะเกิดปัญหาคอขวดในอนาคต ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น กระทรวงฯจะสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าสามารถลงทุนเพิ่มได้หรือไม่

ส่วนการปรับแบบก่อสร้างสถานีบางซื่อ เป็นการปรับแบบเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงซึ่งเดิมไม่ได้ออกแบบรองรับไว้ หากก่อสร้างไปแล้วต้องปรับแก้ภายหลังจะเกิดความยุ่งยาก แต่การปรับแบบต้องดำเนินการเฉพาะส่วนที่จำเป็น เพราะปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม หากในอนาคตไม่ได้ดำเนินโครงการ พื้นที่ก่อสร้างที่ออกแบบไว้รองรับรถไฟความเร็วสูงต้องสามารถใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น รองรับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน

"ผมสั่งให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาความเหมาะสมของค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น หากราคาเพิ่มสูงมากจะตอบสังคมยาก โดยให้ร.ฟ.ท.เจรจาปรับลดวงเงินให้ได้มากที่สุด และเชิญคนกลางมาตรวจสอบความเหมาะสมของราคา คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด"