กสท.เคาะลดผังสาระช่องข่าว 50%

กสท.เคาะลดผังสาระช่องข่าว 50%

บอร์ด กสท. เคาะเกณฑ์ประมูลช่องข่าว "ลด" สัดส่วนผังรายการ "ข่าว-สาระ" เหลือ 50% จากเดิม 75% ชี้บทเรียนไอทีวีเป็นเหตุต้องปรับเกณฑ์ใหม่

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หรือเกณฑ์การประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) หลังจากเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะจนถึงวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยจะเสนอบอร์ด กสทช. พิจารณาในวันพุธที่ 17 ก.ค. นี้

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กสท. วานนี้ (15 ก.ค.) มีมติเห็นชอบให้ปรับเกณฑ์ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างประกาศ กสทช. เรื่องเกณฑ์การประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) รวม 24 ช่อง แบ่งเป็น ช่องเด็ก 3 ช่อง, ช่องข่าว 7 ช่อง, ช่องวาไรตี้ 7 ช่อง และ ช่องเอชดี 7 ช่อง

สำหรับเกณฑ์สำคัญที่มีการปรับเปลี่ยน คือ "ช่องข่าว" ซึ่งเดิมกำหนดให้ผังรายการต้องนำเสนอรายการข่าวและสารประโยชน์ในสัดส่วน 75% ปรับลดเหลือ 50% เพื่อให้ผู้ประมูลช่องข่าวมีความคล่องตัวในการประกอบกิจการและอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจสื่อ อีกทั้งช่องทีวีดิจิทัล ประเภทสาธารณะที่จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่รวม 12 ช่อง เป็นช่องรายการที่เสนอเนื้อหาข่าวและสาระเป็นหลักในสัดส่วน 75% อยู่แล้ว

"สำนักงาน กสทช. เสนอปรับเกณฑ์ช่องข่าวลดลง หลังจากรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ และนำบทเรียนจากอดีต การบริหารช่องข่าวไอทีวี ที่กำหนดสัดส่วนข่าวและสาระ 70% ซึ่งไม่สามารถประกอบกิจการอยู่รอดได้ ท้ายที่สุดต้องเสนอปรับลดสัดส่วนรายการข่าว" พ.อ.นที กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังปรับลดสัดส่วนข่าวและสาระในช่องข่าวเหลือ 50% บอร์ดกสท.ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ให้การแพร่ภาพรายการประเภทข่าวและสาระ จะต้องกระจายอยู่ในช่วงเวลาที่มีผู้ชมสูงสุด (ไพร์มไทม์) ของสถานีทุกช่วงในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% โดย บอร์ด กสท. จะออกมติกำหนดเวลาไพร์มไทม์ที่ชัดเจนอีกครั้งก่อนการประมูลช่องทีวีดิจิทัล

ลดค่าธรรมเนียมช่องรายการสาระ

พ.อ.นที กล่าวว่า สำหรับ "ช่องรายการ" ประเภทต่างๆ ที่นำเสนอรายการข่าวและสารประโยชน์ด้วยสัดส่วนกว่า 50-90% จะได้สิทธิประโยชน์การลดหย่อน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่นำส่งให้กับสำนักงาน กสทช. ในอัตราลด 15% จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2% ของรายได้ และหากมีการนำเสนอข่าวและสารประโยชน์มากกว่า 90% จะได้ลดหย่อนค่าธรรมในอัตรา 50% ซึ่งจะมีการกำหนดไว้ในประกาศ กสทช. ว่าด้วยการลดหย่อนหรือลดเว้นค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556

พร้อมกันนี้ บอร์ด กสท. ยังเห็นชอบให้ปรับราคาเคาะเพิ่มประมูลช่องเด็ก ซึ่งมีราคาเริ่มต้นประมูลช่องละ 140 ล้านบาท กำหนดเพิ่มราคาเคาะประมูลครั้งละ 1 ล้านบาท ปรับใหม่เป็นครั้งละ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อลดความถี่ในการเคาะเพิ่มราคาให้ผู้ประมูล

นอกจากนี้ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ในการตรวจสอบผู้ถือหุ้นบริษัทที่จะเข้าประมูลช่องข่าวและช่องเอชดี ซึ่ง กสทช.กำหนดห้ามบริษัทเดียวกันประมูลช่องข่าวและช่องเอชดี ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน "นอมินี" ที่จะประมูลทั้งช่องข่าวและช่องเอชดี

หลังจากนี้ จะนำร่างฯ ประมูลทีวีดิจิทัล ที่ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ เสนอให้บอร์ดใหญ่ กสทช. พิจารณา และหลังจากบอร์ดใหญ่เห็นชอบแล้วจะส่งร่างฯ ประกาศประมูลทีวีดิจิทัลในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

"หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ จะประกาศหนังสือเชิญชวน (information memorandum : IM) ให้ผู้สนใจมาซื้อซองประมูล โดยกำหนดระยะเวลาประมูลยังอยู่ในช่วงปลายเดือนก.ย.-ต้นเดือนต.ค.นี้"

"สุภิญญา"ค้านลดสัดส่วนช่องข่าว

ด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า บอร์ด กสท.เสียงข้างมาก มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งจากนี้ไปสำนักงาน กสทช. จะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กสทช. วันพุธที่ 17 ก.ค. นี้ เพื่อให้มีมติเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ตนเองจะสนับสนุนแนวความคิดและหลักการหลายเรื่องของร่างฯ ประมูลฉบับนี้ แต่ไม่สามารถรับหลักการบางเรื่องได้ จึงสงวนความเห็นต่อมติที่ประชุม เพราะก่อนที่บอร์ด กสท. จะพิจารณาร่างฯ นี้ได้ จะต้องเห็นรายงานการประเมินมูลค่าคลื่นฉบับเต็มจากทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบการพิจารณา

"ที่ผ่านมา ยังไม่มีการรายงานให้กรรมการรับทราบ มีเพียงการนำเสนอร่างรายงานเบื้องต้นในที่ประชุมเพียงครั้งเดียว ซึ่งการตัดสินใจครั้งสำคัญเช่นนี้ กรรมการทุกคนควรได้ศึกษารายงานฯ วิธีคิด การวิเคราะห์ในการประเมินมูลค่าคลื่นจากรายงานฉบับเต็ม"

หวั่นมีผลต่อราคาประมูลเริ่มต้น

นางสาวสุภิญญา กล่าวอีกว่า สำนักงาน กสทช. ได้เสนอแก้เงื่อนไขการประมูลช่องข่าว โดยปรับลดสัดส่วนเนื้อหารายการ จากเดิมที่กำหนดให้มีข่าวสารและสาระไม่น้อยกว่า 75% ให้เหลือ 50% ซึ่งอาจตั้งคำถามได้ว่ามีนัยสำคัญอย่างไรหรือไม่ต่อราคาตั้งต้นของราคาประมูล ดังนั้นจึงไม่เห็นชอบกับการลดสัดส่วนช่องข่าวดังกล่าว

แม้ที่ประชุมได้ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เห็นว่าควรต้องได้รับการยืนยันจากรายงานของทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ก่อน ว่าการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเนื้อหาช่องรายการในโค้งสุดท้ายนี้ไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับทุกภาคส่วนว่า เรื่องนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยรอบคอบ ถูกต้องและชัดเจน

เอกชนคาดช่องข่าวแข่งเดือด

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพิจารณาปรับหลักเกณฑ์สัดส่วนผังรายการ "ช่องข่าว" ทีวีดิจิทัล จากเดิมกำหนดให้นำเสนอข่าวและสาระสัดส่วน 75% เหลือ 50% จะทำให้เกิดการแข่งขันสูงในช่องรายการข่าว เนื่องจากมีสัดส่วนการนำเสนอรายการประเภทบันเทิงที่ 50% ใกล้เคียงกับช่องวาไรตี้และเอชดี ที่กำหนดให้นำเสนอรายการบันเทิง 75%

ขณะที่ช่องข่าวมีราคาเริ่มต้นประมูลต่ำกว่า คือเริ่มที่ 220 ล้านบาท ส่วนช่องวาไรตี้ SD เริ่มที่ 380 ล้านบาท ช่องเด็ก เริ่มต้นที่ 140 ล้านบาท และช่องเอชดี เริ่มที่ 1,510 ล้านบาท การปรับสัดส่วนช่องข่าว โดยลดรายการข่าวและสาระเหลือ 50% และบันเทิง 50% จะทำให้มีผู้สนใจประมูลช่องข่าวมากขึ้น และเกิดการแข่งขันสูง เชื่อว่าจะทำให้ราคาประมูลต่อช่องเพิ่มขึ้นด้วย

นายวัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารช่อง "ไทยรัฐทีวี" กล่าวว่า บริษัทสนใจประมูลทีวีดิจิทัลช่องข่าวเช่นกัน ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์ลดสัดส่วนผังรายการข่าวและสาระ ช่องข่าวเหลือ 50% ในมุมบวกจะทำให้ผู้ประมูลได้ใบอนุญาตช่องข่าว มีความยืดหยุ่นในการหารายได้จากผังรายการบันเทิงเพิ่มขึ้น แต่จะเกิดการแข่งขันสูงในการประมูลช่องข่าวเช่นกัน