ยันรัฐบาลขาดทุนจำนำข้าว2.6แสนล้าน

ยันรัฐบาลขาดทุนจำนำข้าว2.6แสนล้าน

ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 ฤดูกาลผลิตขาดทุน 2.6 แสนล้าน ใช้วงเงินรับจำนำเกินกว่ากรอบที่กำหนดเป็น 6.6 แสนล้านบาท

ภายหลังจากที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ได้ออกมาเผยรายงานแนวโน้มความเสี่ยงจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลไทยที่แบกภาระงบประมาณสูงขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการคลัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวลในกรณีดังกล่าวพร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาชี้แจงวันนี้ (7 มิ.ย.) ถึงสถานะโครงการ ว่าขาดทุนเท่าใด ส่งผลต่อฐานะการคลังประเทศหรือไม่
การพิจารณาตัวเลขขาดทุน-กำไรโครงการ จะต้องดูจากปริมาณและต้นทุนข้าวที่รัฐบาลรับเข้าสู่โครงการราคาเท่าใด และขายออกไปในราคาเท่าใด ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลโดย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ยืนยันมาโดยตลอดว่าข้าวได้ถูกทำสัญญาขายรัฐต่อรัฐไปเกือบหมดสต็อกแล้วเหลือไม่มีภาระผูกพันน้อยมาก แต่ล่าสุด นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ออกมาระบุว่าข้าวที่ติดภาระผูกพันหรือสัญญาขายมีเพียงข้าวถุงธงฟ้า 2 ล้านตัน จากปริมาณข้าวที่รัฐบาลรับจำนำเข้ามา 17-18 ล้านตันข้าวสาร

ปิดบัญชี31ม.ค.ขาดทุน2.2แสนล้าน

รายงานข่าวจากคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้สรุปตัวเลขผลการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยรัฐบาลได้ใช้เงินสำหรับการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด สำหรับปีการผลิต 2554/2555 และ 2555/2556 รวมทั้งสิ้น 661,224 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นผู้จัดหาจำนวน 408,750 ล้านบาท วงเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 90,000 ล้านบาท และเงินคืนจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์จำนวน 93,450 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้ทำการทดรองจ่ายไปเพิ่มอีกประมาณ 68,000 ล้านบาท ขณะที่กรอบการใช้เงินเพื่อโครงการนี้เป็นเงินกู้จำนวน 410,000 ล้านบาท และเงินจากธ.ก.ส.จำนวน 90,000 ล้านบาท รวมเป็น 500,000 ล้านบาท

ขณะที่ การปิดบัญชี ณ วันที่ 31 ม.ค. 2556 ปรากฏว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีผลขาดทุนรวม 220,967 ล้านบาท แบ่งเป็นการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2554/2555 จำนวน 42,963 ล้านบาท การรับจำนำข้าวนาปรังฤดูกาลผลิต 2555 จำนวน 93,933 ล้านบาท และการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2555/2556 จำนวน 84,071 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวและผลผลิตการเกษตรในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปรากฏผลขาดทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 393,902 ล้านบาท โดยการรับจำนำข้าวนาปรังในปี 2551 มีผลขาดทุน 33,623 ล้านบาท การรับจำนำข้าวนาปี ปี 2551/2552 มีผลขาดทุน 30,449 ล้านบาท และ การรับจำนำข้าวนาปรังปี 2552 มีผลขาดทุน 41,677 ล้านบาท

คาดถึงเดือนพ.ค. ขาดทุน 2.6 แสนล้าน

คณะกรรมการปิดบัญชีฯ รายงานว่า การขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะการขายข้าวได้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า รัฐบาลต้องแก้ไขโดยด่วน เพราะว่ากระทรวงพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะขายข้าวไม่ได้ราคา ทำให้เงินที่ได้จากการขายลดลง และวงเงินจำนำข้าวก็เต็มจำนวนแล้ว จะกระทบต่อการรับจำนำในฤดูกาลถัดไป

"ฉะนั้น ต้องแก้ไขที่กระทรวงพาณิชย์โดยด่วน ส่วนกระทรวงการคลังนั้น ได้ทำเต็มที่แล้ว และส่วน ธ.ก.ส.เอง ก็ต้องเร่งนำเรื่องที่ใช้จ่ายเงินเกินกรอบเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป" รายงานข่าว กล่าว

รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า การคำนวณผลขาดทุนดังกล่าวเป็นตัวเลข ณ สิ้นเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ ผลขาดทุนโครงการได้ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ประเมินผลขาดทุนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท หมายความว่า ณ เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ผลขาดทุนการดำเนินโครงการจะพุ่งถึง 260,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผลขาดทุนในการรับจำนำข้าวดังกล่าว ยังเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้นับรวมค่าเสื่อมราคาข้าวที่รัฐบาลสต็อกไว้จำนวนเฉลี่ย 20% หากนำมาคำนวณแล้วจะพบว่า ตัวเลขผลขาดทุนจะทะลุระดับ 400,000 ล้านบาท ถือเป็นการดำเนินนโยบายรัฐบาลที่มีผลขาดทุนจำนวนมาก

"ที่จริงแล้ว รัฐบาลก็ทราบถึงผลขาดทุนดังกล่าว แต่เห็นว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินคาดการณ์ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนวณตัวเลขใหม่" รายงานข่าวกล่าว

อคส.รับแบกสต็อกข้าว 15 ล้านตัน

นายสมศักดิ์ ระบุว่า ปริมาณสต็อกข้าวสารของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปี 2554/55 จนถึงปัจจุบันมีปริมาณรวม 17-18 ล้านตันข้าวสาร โดยเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำนาปี 2554/55 ประมาณ 2.3 ล้านตัน จากโครงการรับจำนำนาปรัง ปี 2555 ประมาณ 7.2 ล้านตัน และจากโครงการรับจำนำนาปี ปี 2555/56 ประมาณ 8 ล้านตัน แต่มีภาระผูกพันที่จะต้องขายให้แก่กรมราชทัณฑ์ และนำมาผลิตเป็นข้าวถุงออกขายประมาณ 2 ล้านตัน ทำให้เหลือสต็อกประมาณ 15 ล้านตัน ซึ่ง อคส.ไม่ทราบว่าข้าวที่มีอยู่กรมการค้าต่างประเทศได้มีการขายไปแล้วหรือไม่ จำนวนเท่าใด เพราะหากมีการขายแล้ว จะมีหนังสือมาถึง อคส.เพื่อเปิดคลังให้ผู้ได้รับมอบหมายเข้ามาขนข้าวออกไปเพื่อส่งมอบ

ชี้เหลือต้นข้าวในสต็อก 7.5 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนข้าวทั้งหมด เมื่อแยกเป็นข้าวสารที่ขายเป็นการทั่วไปได้ จะมีอยู่ประมาณ 7.5 ล้านตัน ที่เหลือเป็นปลายข้าว ซึ่งเป็นส่วนที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กำหนดเงื่อนไขให้ต้องส่งมอบทั้งต้นข้าวและปลายข้าว ทำให้ปริมาณสต็อกมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งปลายข้าวจะนำไปใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือการแปรรูปอาหารไม่ใช้บริโภคเป็นการทั่วไป

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ อคส.ต้องจ่ายในการเก็บรักษาข้าวประมาณเดือนละ 100 บาทต่อตัน เช่น ค่าแบกหามของกรรมการกระสอบละ 3 บาท หรือตันละ 30 บาท ค่าผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว 16 บาทต่อตัน ค่ารมยา อบยา 6 บาทต่อตันต่อเดือน โดยมีการรมยาทุก 2 เดือนครั้ง เป็นค่าใช้จ่ายตันละ 12 บาทต่อตันต่อ 2 เดือน และค่าเบี้ยประกัน ซึ่งคิดประมาณ 10% ของมูลค่าราคาข้าวที่จำนำและแปรเป็นข้าวสาร ซึ่งข้าวขาว 5% เฉลี่ยตันละ 17,000-18,000 บาท หรือเป็นค่าเบี้ยประกันประมาณตันละ 1,700-1,800 บาท

ของบ 2 พันล้านดูแลสต็อกข้าว

"ตอนนี้ อคส. ต้องจ่ายค่าเช่าโกดังเก็บข้าวประมาณตันละ 20 บาทต่อเดือน ซึ่งของนาปรังปี 2555 จ่ายไปแล้วประมาณ 1,400 ล้านบาท ของนาปี ปี 2555/56 จ่ายไปแล้ว 400 ล้านบาท และคาดว่าจะต้องเก็บข้าวต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะขายได้ ซึ่งจะมีการตั้งงบค่าใช้จ่ายไว้เป็นปีต่อไป ซึ่ง อคส.ได้ทำเรื่องไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณจ่ายอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายหลังจากนี้สำหรับการดูแลข้าวในช่วงเวลา 1 ปี"นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากที่ อคส.เคยดำเนินโครงการรับจำนำมาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน พบว่าขณะนี้มีการเก็บสต็อกในจำนวนมากพอสมควร โดยปี 2544-2550 มีสต็อกค้างประมาณ 12 ล้านตัน โดยสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ช่วงปี 2551 ที่มีนายกอบศักดิ์ สภาวสุ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการระบายออกไปเลย ต่อมาในสมัยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี มีการระบายออกไปประมาณ 4-5 ล้านตัน แต่สมัยรัฐบาลนี้เพียง 3 โครงการ มีสต็อกถึง 17-18 ล้านตัน เป็นเพราะมีการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ผิดกับรัฐบาลก่อนๆ ที่กำหนดปริมาณรับจำนำไว้ที่ 4-5 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ตัวเลขสต็อกมีสูง

ยันเช่าไซโลจังหวัดพิจิตรถูกต้อง

สำหรับกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในสภา และมีการพาดพิงว่าการเช่าไซโลเก็บข้าวที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร มีการเช่ามาจาก บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ที่มีปัญหาฟ้องร้องกับกระทรวงพาณิชย์ ว่า กรณีดังกล่าว อคส.ได้เช่าช่วงไซโล จาก หจก.โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ซึ่ง หจก.โชควรลักษณ์ฯ ไปเช่ามาจากธนาคารกรุงไทย สำนักงานนครสวรรค์อีกทอดหนึ่ง เพื่อมาเข้าโครงการเก็บข้าวสารกับรัฐบาล และการเข้าร่วมโครงการ ก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร อคส.ถูกต้องตามขั้นตอนและระเบียบราชการทุกอย่าง ส่วนไซโลดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับใคร บริษัทไหน ไม่ทราบได้

"ที่มาแถลงไม่ได้รับมอบหมายหรือต้องถามใครก่อน แต่ต้องการอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าสิ่งที่อภิปรายในสภามีความคลาดเคลื่อน อคส.ทำทุกอย่างตามระเบียบที่กำหนดไว้โดยไม่รู้ว่าใครมาสายสัมพันธ์กับใคร ถ้าทำถูกระเบียบก็เข้าร่วมโครงการได้"นายสมศักดิ์ กล่าว

"วีระวุฒิ"โผล่โต้ทุจริตข้าว

พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการ รมว.พาณิชย์ กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้มีการลักลอบขายข้าวให้แก่โรงสีโชควรลักษณ์ฯ อย่างที่ นพ.วรงค์ กล่าวหา โดยกรมการค้าต่างประเทศได้มีการออกทีโออาร์เชิญชวนประมูลซื้อข้าว 2 ฉบับเป็นการทั่วไปอย่างถูกต้อง แบ่งเป็นข้าวสารค้างส่งมอบที่โรงสี เป็นข้าวนาปี 2548/49, ปี 2549/50 นาปรัง ปี 2549 และปี 2550 จำนวน 25,153 ตัน และข้าวสารเสียหายจากอุทกภัยจากนาปรังปี 2551 และปี 2552 อีก 66,927 ตัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2554 ซึ่งมีผู้สนใจยื่นซื้อถึง 10 ราย และโรงสีโชควรลักษณ์ฯ ได้ยื่นเสนอซื้อราคาสูงสุด ตันละ 5,700 บาท จึงตัดสินใจขายให้ ไม่ได้แอบขายให้อย่างที่กล่าวหา

ส่วนสาเหตุที่ราคาต่ำ เพราะโกดังที่เก็บเกิดน้ำท่วมทำให้มีข้าวบางส่วนเสียหาย ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ได้มีการแอบขายอย่างที่กล่าวหา และขอท้าเดิมพันตำแหน่งกับ นพ.วรงค์ ว่าหากไม่ใช่การแอบขายขอให้ นพ.วรงค์ ลาออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าเกิดพิสูจน์ได้ว่าตนแอบขายจริงก็พร้อมจะลาออกตำแหน่งเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ทันที

สำหรับกรณีถูกพาดพิงว่าภรรยาตนเอง เข้ามาบงการขายข้าว ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะตนได้หย่าขาดมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาภรรยาไม่เคยมาที่กระทรวงพาณิชย์แม้แต่ครั้งเดียว และการกล่าวหาแบบนี้ทำให้ครอบครัวเสียหาย ซึ่งที่จริงนพ.วรงค์ไม่ควรนำคนนอกที่ไม่รู้เรื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง และขอให้ตรวจสอบข้อมูล ไม่ใช่นำข้อมูลมาจากอดีต ผอ.อคส.แล้วมากล่าวหา โดยไม่ตรวจสอบ ซึ่งที่จริงอยากให้ไปตรวจสอบการขายข้าวโรงสี สมัยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ที่ขายข้าวหอมมะลิ 100% ไปให้ฟาร์มหนองลังกาฟาร์มตันละ 5,400 บาท

"มูดี้ส์"พลิกชี้เครดิตไทยไม่เสี่ยงจากจำนำ

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ระบุวานนี้ว่า อันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดลงอันเนื่องจากค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่มูดี้ส์ออกมาเตือนในสัปดาห์นี้ว่า ความเสียหายจากโครงการนี้ อาจส่งผลกระทบเป้าหมายของการทำให้งบประมาณสมดุล

"อันดับความน่าเชื่อถือไม่ได้เผชิญความเสี่ยง หากคุณพิจารณารายงานการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือที่เราเปิดเผยในปลายเดือนเม.ย. จะเห็นว่ามีปัจจัยจำนวนมากซึ่งสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ในปัจจุบันที่ระดับ Baa1 และนั่นเป็นเหตุผลที่เราคงแนวโน้มที่มี เสถียรภาพ" นายสเตฟเฟน ไดค์ นักวิเคราะห์ความเสี่ยงระดับประเทศของมูดี้ส์กล่าว

ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ Baa1 อยู่ในกรอบระดับล่างถึงระดับกลางของสถานะที่น่าลงทุน

นายไดค์ ระบุว่า ฐานะการคลังของไทย "ค่อนข้างแข็งแกร่ง" เมื่อเทียบกับประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเท่ากัน และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย "ค่อนข้างสดใส"

ในเดือนเม.ย. มูดี้ส์ ระบุว่า อันดับความน่าเชื่อถือที่ Baa1 ของ ไทย มีเสถียรภาพ โดยอิงตาม "ความแข็งแกร่งทางการเงินของรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูง" รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ แต่ มูดี้ส์ ก็ตั้งข้อสังเกตว่า "นโยบายประชานิยม" เป็นความเสี่ยงต่อวินัยทางการเงิน
ต่อข้อซักถามที่ว่า มูดี้ส์ ได้ติดต่อกับรัฐบาลตั้งแต่วันจันทร์หรือไม่ นายไดค์ กล่าวว่า "เราได้พยายามขอยืนยันตัวเลขดังกล่าวกับทางรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถทำได้"