'ไทรอัมพ์'ปรับกลยุทธ์สู้สินค้าจีน

'ไทรอัมพ์'ปรับกลยุทธ์สู้สินค้าจีน

ช่วง 3 -4 ปีที่ชุดชั้นในโนเนมนำเข้าจากประเทศจีน เข้ามาตีตลาดด้วยจุดขายที่มีราคาถูกว่า 5 เท่า

ส่งผลให้ชุดชั้นในแบรนด์เนมที่วางขายในห้างสรรพสินค้าต้องปรับกลยุทธ์สู้ด้วยการออกคอลเลคชั่นใหม่ และเพิ่มความถี่ในการจัดโปรโมชั่นทุกเดือน


สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้ชุดชั้นใน “สล็อกกี้” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แบรนด์หลักของ บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ต้องปรับกลยุทธ์รับมือสินค้านำเข้าจากประเทศจีนที่มาตีตลาด โดยทุ่มงบการตลาดสำหรับปีนี้เพิ่มขึ้น 100% พร้อมปรับกลยุทธ์การตลาดใน 2 ทาง คือ ขยายฐานจากกลุ่มนักศึกษา ที่มีความอ่อนไหวต่อราคาไปสู่กลุ่มลูกค้าวัยทำงานอายุ 25-40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และมีพฤติกรรมการซื้อชุดชั้นในตามแฟชั่น

กลยุทธ์การตลาดที่ออกมาตอบโจทย์ในจุดนี้จะมีการวางแผนการตลาดเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ และแคมเปญโปรโมชั่นที่จัดขึ้นในทุกๆเดือน ซึ่งเป็นกลยุทธ์กระตุ้นให้มีการซื้อชุดชั้นในเพิ่มขึ้น จากปรกติผู้บริโภคมีเสื้อชั้นในเฉลี่ยประมาณ 20 ตัวต่อคน และกางเกงในประมาณ 30 ตัว

นำร่องด้วยการตลาดกระตุ้นยอดขายในช่วงหน้าร้อน และเพื่อสร้างการรับรู้และตอกย้ำแบรนด์ให้กลุ่มลูกค้าคนทำงานได้ทดลองใช้สินค้าโดยตรง โดยเปิดตัวแคมเปญ “24/7” ท้าลองกางเกงในสล็อกกี้รุ่นคอมฟอร์ท ซึ่งมีเป็นกิจกรรมโรดโชว์ตามออฟฟิศและห้างสรรพสินค้า แจกกางเกงในสล็อกกี้ 500 ตัว และโปรโมชั่นซื้อ 2 แถม 1ตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคมนี้หลังจากนี้ยังมีการวางแผนเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแบรนด์อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่สามและสี่ของปีนี้

การกลับมารุกตลาดใน 3 ปีของ “สล็อกกี้” ไม่เพียงปรับเกมรับสินค้าจีนเท่านั้น ยังวางแผนขึ้นเป็นผู้นำตลาดภายในระยะ 2 ปี โดยวางเป้าหมายหลังทำตลาดเชิงรุกด้วยการขยายฐานและเพิ่มความถี่ในการซื้อแล้ว จะทำให้ชุดชั้นใน “สล็อกกี้”เบียด“จ๊อกกี้” ขึ้นแท่นมาเป็นเบอร์หนึ่งแทน รวมถึงมียอดขายเติบโตปีละ 20% ซึ่งมีอัตราการเติบโตกว่าตลาดรวมมูลค่า 1 พันล้านบาทที่เติบโต 10% ต่อปี

อย่างไรก็ตามชุดชั้นใน “จ๊อกกี้” ซึ่งเป็นแบรนด์นำเข้าโดยเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป (ซีเอ็มจี) ซึ่งมีจุดแข็งกว่า “สล็อกกี้” หลายขุม ซึ่งตอบโจทย์การทำตลาดชุดชั้นในยุคนี้ ซึ่งต้องมีความถี่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และด้วยการทำแบรนดิ้งผ่านหน้าร้าน และพื้นที่ในการจัดกิจกรรมโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เกาะไปกับจำนวนสาขาเซ็นทรัลที่มีครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศนั้น ถือเป็นสิ่ที่สล็อกกี้ เสียเปรียบเพราะมีหน้าร้านที่เป็นช่องทางขายและจัดกิจกรรมการตลาดเพียง 30 สาขาเท่านั้น

นางสาวชลรดี เลี่ยมตระกูล หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า การแข่งขันตลาดชุดชั้นในมีการแข่งขันสูง ทั้งด้านการดีไซน์ ฟังก์ชั่น และนวัตกรรม ทำให้ผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งมีพฤติกรรมในการเลือกซื้อชุดชั้นใน แบ่งแยกตามการใช้งานอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดทำให้เกิดดีมานด์ในการเลือกซื้อตามไลฟ์สไตล์ อาทิ

การซื้อชุดชั้นในแบบสปอร์ตสำหรับเล่นกีฬา หรือแบบที่ใส่กับเสื้อยืด ชุดทำงาน ชุดนอน ซึ่งทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการขยายตลาดค่อนข้างสูง โดยยอดขายชุดชั้นในสล็อกกี้แบ่งเป็น กลุ่มเบสิก 80% แฟชั่น 15% และสปอร์ต 5%