บึงบอระเพ็ด

ปลายทาง "นครสวรรค์" ไม่มีใครไม่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวระดับตำนานอย่าง "บึงบอระเพ็ด"

แต่ถ้าใครคิดว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ ขอแนะนำให้ลองไปสัมผัสบึงน้ำแห่งนี้อีกสักครั้ง
. . .

แสงแรกของวันส่องสะท้อนผืนน้ำกว้างเปิดเผยรูปเงาเลือนลางของพันธุ์ไม้น้ำที่ประดับประดาบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ อีกมุม สะพานไม้ทอดตัวสงบนิ่งผ่านทะเลดอกบัวชวนให้ใครบางคนเดินทอดน่องไปในฝีแปรงของธรรมชาติ

แม้ภาพที่เห็น ณ ขณะนั้นจะงดงามเพียงใด แต่หากต้องการสัมผัสสีสันยามเช้าของบึงบอระเพ็ดอย่างถึงเนื้อถึงตัวแล้วล่ะก็ คงไม่มีวิธีไหนได้บรรยากาศเท่ากับการนั่งเรือออกไปกลางบึง พร้อมๆ แสงสีที่เปลี่ยนไปเป็นสดใสของท้องฟ้าในยามสาย

บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมานาน ย้อนอดีตวันวานคนรุ่นก่อนเรียกที่นี่ว่า "ทะเลเหนือ" หรือ "จอมบึง" ได้ชื่อว่าเป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก และ อำเภอชุมแสง ทิศเหนือของบึงเป็นศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด และอาคารแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด ส่วนด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของ "อุทยานนกน้ำ" มีเรือไว้คอยบริการสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาธรรมชาติ และเป็นจุดที่เราเริ่มต้นการเดินทางสำรวจผืนน้ำในอาณาบริเวณกว่า 1 แสน 3 หมื่นไร่แห่งนี้

หลังพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า เรือลำเขื่องก็พาผู้โดยสารร่วม 10 ชีวิต ออกสู่บึงน้ำจืดอย่างช้าๆ ความเงียบเปิดโอกาสให้สารพัดเสียงในธรรมชาติบรรเลงเพลงต้อนรับ แม้ว่าเสียงเครื่องยนต์จะดังแทรกอยู่เป็นระยะแต่ก็มิอาจขัดจังหวะการกินลมชมวิว โดยเฉพาะเมื่อเรือได้เคลื่อนมาถึงจุดที่เรียกว่า ทะเลบัวสาย อาณาจักรบัวสีชมพูสดใส ที่มีนกน้ำบินโฉบเฉี่ยวไปมาเรียกความสนใจไม่ได้ขาด

อย่างที่ทราบกัน บึงบอระเพ็ดไม่ได้เป็นแค่แหล่งท่องเที่ยวประเภทสวยงามเท่านั้น แต่ที่นี่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศ ในบึงน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์ไม้ พันธุ์ปลา นกนานาชนิด โดยในบริเวณที่มีระดับความลึกของน้ำไม่มากนัก จะมีพืชลอยน้ำเกาะกลุ่มอยู่ทั่วไป ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ พืชลอยน้ำเหล่านี้เกาะกลุ่มกันจนมองดูคล้าย "เกาะลอย" มีทุ่งบัว มีบริเวณที่เป็นเกาะซึ่งเดิมเป็นเนินดิน บริเวณที่ลุ่มชื้นแฉะ ป่าพรุและป่าละเมาะริมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างระบบนิเวศน้ำและบก ทำให้มีพืชยืนน้ำขึ้นอยู่หนาแน่น เหตุนี้อีกหน้าที่หนึ่งของบึงบอระเพ็ด คือการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นถิ่นอาศัยของนก ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น

จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าบึงบอระเพ็ดมีสัตว์อาศัยอยู่ประมาณ 148 ชนิด พืช 44 ชนิด สัตว์หายากที่เคยพบก็ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร, ปลาเสือตอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ แต่ที่ถือเป็นไฮไลท์คือในเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ซึ่งจะมีนกเป็ดน้ำจำนวนมากอพยพมาที่บึงแห่งนี้ ขณะที่นกประจำถิ่นหลายชนิด อาทิ นกเป็ดน้ำ นกอีโก้ง นกอีแจว นกปากห่าง จะวางไข่ในเดือนกรกฎาคม-มีนาคม พื้นที่บางส่วนจึงได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป นอกจากการล่องเรือชมธรรมชาติ เก็บภาพสวยๆ ของบึงบัว วิถีชีวิตที่พึ่งพาสายน้ำ นกสารพัดชนิดหลากหลายสายพันธุ์เหล่านี้ถือเป็นดาราหน้ากล้องที่เรียกเสียงรัวชัตเตอร์ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับนักดูนกทั้งหลาย พวกเขาลงความเห็นว่า บึงบอระเพ็ด คือ "มหานครแห่งนกน้ำ" เพราะเด่นทั้งปริมาณและความหลายหลาก แถมยังมีนกหายาก นกอพยพ เป็นของขวัญชิ้นพิเศษอีกด้วย

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ถือเป็นเวลานัดหมายของนักดูนกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พวกเขาเดินทางมาพร้อมกับอาวุธคู่ใจ-กล้องตัวโปรด เฝ้ารอนกตัวโปรดในอิริยาบทต่างๆ กัน บ้างก็บินโฉบโชว์ความสง่างาม เกาะกิ่งไม้เกี้ยวพาราสี สร้างรังวางไข่ ไปจนถึงป้อนอาหารให้ลูกน้อย แต่ที่ต้องอาศัยจังหวะเวลาและความตั้งใจจริง เห็นจะเป็นฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนหลายหมื่นตัวที่จะอพยพมาในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม นางเอกประจำบึง ก็ได้แก่นกเป็ดน้ำหายาก อย่าง เป็ดเทาพันธุ์อินเดีย เป็ดหงส์ และ เป็ดเปีย รวมไปถึงนกเป็ดน้ำที่หาตัวดูไม่ง่ายนักในเมืองไทย อาทิ นกเป็ดดำหัวสีน้ำตาล เป็ดปากสั้น เป็ดปากพลั่ว และเป็ดปีกเขียว

ทว่าหากถามผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อเอ่ยถึงบึงบอระเพ็ด สิ่งที่ดูจะเป็นตำนานอันน่าตื่นเต้นของพื้นที่แห่งนี้ คือ จระเข้ ร่ำลือกันว่าสมัยก่อนบึงบอระเพ็ดมีจระเข้ชุกชุมมาก จนผู้คนที่นั่งรถไฟผ่านสามารถมองเห็นจระเข้ที่ลอยอยู่ในบึงและส่วนหนึ่งก็ขึ้นมานอนผึ่งแดดตามชายบึงหรือบนเกาะ แต่ปัจจุบันจระเข้เหล่านี้ถูกล่าจนไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว เช่นเดียวกับนกหายากหลายชนิดที่กำลังถูกไล่ล่าและอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ไม่ต่างจากพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ ในประเทศไทย บึงบอระเพ็ด ผ่านการถูกทำลายและการฟื้นฟูมานับครั้งไม่ถ้วน จากเดิมซึ่งเคยมีพื้นที่ถึง 250,000 ไร่ ในปีพ.ศ. 2473 ปัจจุบันเหลือพื้นที่ประมาณ 132,737 ไร่ และในจำนวนนี้มีทั้งที่ถูกบุกรุกและเสื่อมโทรมไปเพราะขยายตัวของเมือง ความสวยงามของบึงบอระเพ็ดในวันนี้ จึงไม่ใช่สิ่งที่พึงตักตวงอย่างเดียว แต่ต้องช่วยกันดูแลรักษา...

เพราะที่นี่ไม่เพียงมอบทัศนียภาพอันงดงามไว้ให้ชื่นชม แต่ยังเป็นต้นธารอันอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด รวมถึงผู้คนที่ได้อาศัยพึ่งพิง

-----------------
เส้นทางดูนกชมบึง

เส้นทาง 1 “มหัศจรรย์แห่งบึงสายน้ำ”

เส้นทางแห่งการเรียนรู้และสัมผัสระบบนิเวศของลุ่มชุ่มน้ำของบึงบอระเพ็ด ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบึง เริ่มต้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เส้นทางนี้ใช้เวลาในการล่องเรือ 1 ชั่วโมง

จุดที่ 1 เกาะแห่งชีวิต เกาะวัด-เกาะ ดร.สมิธ เป็นกะใหญ่กลางบึงน้ำที่ปกคลุมด้วยกอพืชและป่าละเมาะ จึงนับเป็นบ้านอันแสนอบอุ่นและปลอดภัยที่นกน้ำน้อยใหญ่อาศัยอยู่ประจำตลอดทั้งปี พวกมันใช้เป็นที่สร้างรัง วางไข่ และเลี้ยงดูลูกตัวน้อยๆ อย่างยางควาย ยางเปียง ยางโทน กาน้ำ ไปจนถึงนกน้ำขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างอ้ายงั่ว นอกจากนี้ ยังมีการพบ “นกช้อนหอยดำเหลือบ” ที่หายากเป็นฝูงใหญ่อีกด้วย

จุดที่ 2 ทะเลบัวสาย อาณาจักรพรรณไม้น้ำที่เบื้องใต้ทะเลบัวสายสีแดงอันงดงาม เปรียบเสมือนผืนป่าใต้บาดาล เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้น้ำมากมายกว่า 50 สายพันธุ์ที่มีคุณค่าต่อสรรพชีวิตนั้น เป็นทั้งแหล่งผลิตออกซิเจน ที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ อีกทั้งกอไม้ที่ปกคลุมเหนือผิวน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบัวสาย บัวหลวง ผักตบ สาหร่าย และสันตะวานานาชนิด ก็เป็นแหล่งอาศัยทำรังของนกหลายชนิด อีกทั้งช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้

จุดที่ 3 โขดใหญ่ ลักษณะเป็นสักดอนทรายกว้างใหญ่ริมบึงน้ำ มีกอกกพงหญ้าชายน้ำขึ้นปกคลุม นอกจากเป็นแหล่งที่อยู่ของนกชายน้ำหลายชนิดแล้ว นกยางกรอก และนกยางไฟ มักอำพรางตัวคอยดักกินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่วนนกน้ำขนาดใหญ่ขายาวอย่างนกกาบบัว ก็มักชอบหากินตามชายน้ำที่ไม่ลึกนี้เช่นกัน เพราะมันสามารถเดินย่ำน้ำ ใช้ปากความนหาปลากินเป็นอาหารได้สะดวก นอกจากนี้บรรดานกทุ่งประจำถิ่นหลายชนิดก็ใช้บริเวณสันดอนนี้เป็นที่ทำรังและวางไข่ อย่างกระแตแต้แว้ด ตีนเทียน และกระจาบทอง

จุดที่ 4 สะดือบึง ในอดีตบึงบอระเพ็ดเคยมีจระเข้อาศัยอยู่ชุกชุมมาก จนสามารถมองเห็นได้อย่างง่ายดาย บริเวณสะดือบึงเป็นจุดสำคัญ ใจกลางของบึงที่มีความลึกมากที่สุด และภายใต้เวิ้งน้ำกว้างนี้เต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะปลาน้ำจืดเคยสำรวจพบถึง 148 ชนิด ปัจจุบันเหลือเพียง 30 ชนิด ทว่ายังมีสายพันธุ์ปลาที่หายาก เช่น ปลาเสือตอและปลากระโห้ ซึ่งสามารถชมพันธุ์ปลานานาชนิดได้ที่อาคารแสดงพันธุ์สัตวน้ำบึงบอระเพ็ดฯ ที่นี่ยังมีสัตว์น้ำอื่นๆ อีก อย่างเต่าบัว กุ้งก้ามกราม และตะพาบน้ำ นอกจากนั้นยังเป็นจุดที่นกอพยพย้ายถิ่นหายากมักจะมาแวะพักอาศัย เช่น นกสกัวขั้วโลกเหนือ ตะกรุม และเป็ดหงส์ บริเวณเวิ้งน้ำนี้มักพบ นกเป็ดผีเล็ก ว่ายหากินหรือเลี้ยงลูก ซึ่งที่จริงแล้วนกเป็ดผีไม่ได้อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ แม้ว่ารูปร่างหน้าตาจะคล้ายเป็ด แต่ที่เรียกว่าเป็ดผีเพราะมันดำน้ำเก่ง หายตัวได้ราวกับผี

เส้นทาง 2 “ตามรอยนกเจ้าฟ้าฯ”

เป็นเส้นทางที่อยู่ทางทิศใต้ของบึงบอระเพ็ด เริ่มต้นจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ล่องเรือไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่านกน้ำหลายชนิดในบึงบอระเพ็ด ซึ่งเคยค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เพียงแหล่งเดียวในโลก ใช้เวลาในการล่องเรือชมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที (ต่อจากจุดที่ 4 ในเส้นทางแรก)

จุดที่ 5 นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร บริเวณที่ตั้งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เคยเป็นจุดที่มีการค้นพบนกนางแอ่นชนิดใหม่ของโลกเมื่อ พ.ศ.2511 โดยคุณกิตติ ทองลงยา ได้ตั้งชื่อให้นกตัวนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” แม้จะไม่ได้พบเห็นมานานเกือบ 30 ปีแล้ว แต่นกเจ้าฟ้าฯ ก็เป็นตัวแทนที่บ่งบอกถึงคุณค่าความสำคัญของบึงบอระเพ็ด ถัดไปคือสถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดก็เป็นแหล่งศึกษาวิชาการเกี่ยวกับนกชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีหอดูนก และอนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจอีก 2 เส้นทางด้วย

จุดที่ 6 กอสนุ่นกลางน้ำ บริเวณนี้จะพบกับกลุ่มพืชลอยน้ำหลากหลายชนิดซึ่งเป็นที่พักอาศัยและหากินของนกน้ำที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะนกที่มีนิ้วเท้ายาวอย่างพวกนกพริก นกอีแจว และนกอัญชันคิ้วขาว เดินจิกกินแมลงบนผิวน้ำบนกอสนุ่นลอยน้ำ และยังเป็นที่ยืนจ้องจับเหยื่อของนกยางกรอก ยางไฟ ส่วนดงผักตบชวาก็เป็นจุดที่นกอีโก้งชอบมาหอยกินเป็นอาหารอีกด้วย บริเวณนี้จะได้พบกับนกอีแจว หรือ “ราชินีแห่งนกน้ำ” ซึ่งงดงามด้วยขนหางยาวสลวย ทว่าพฤติกรรมที่ทำให้ถูกเรียกว่าอีแจว ก็เพราะตัวเมียจะวางไข่รังหนึ่งแล่ว “แจว” หนีไปหานกตัวผู้ตัวอื่นต่อไป ปล่อยให้พ่อนกต้องฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกตามลำพัง

จุดที่ 7 ผู้มาเยือน บริเวณแหลมตาเส็ง เป็นสันดอนใหญ่ใกล้ขอบบึงร่มครึ้มด้วยไม้ยืนต้น จึงมีนกอพยพย้ายถิ่นชนิดที่หายากชอบมาแวะพักชายน้ำและมาเกาะอาศัยให้ชม อย่างเป็ดพม่า กิ้งโครงพันธุ์ยุโรป และคุดคูด่างดำขาว นกอพยพเหล่านี้รวมทั้งนกเป็ดน้ำหลายชนิดบินหนีลงมาจากเขตหนาวประจำทุกปี ส่วนพวกนกกาน้ำ เรามักจะเห็นพวกมันหลังจากดำน้ำไปจับปลาและจะขึ้นมาเกาะพักกางปีกออกผึ่งแดดให้ขนแห้ง นั่นเพราะนกกาน้ำไม่มีต่อมน้ำมันเคลือบขนกันน้ำเหมือนนกเป็กน้ำชนิดอื่นๆ

จุดที่ 8 ดงนกปากห่าง บริเวณแหลมนา เดิมทีนกปากห่างเป็นนกอพยพจากอินเดียเข้ามาทำรังวางไข่ในบริเวณนี้เป็นประจำ จนกระทั่งนกบางส่วนปักหลักหากินอยู่ในเมืองไทยตลอดทั้งปี แต่ในฤดูหนาวจะมีนกอีกจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามารวมกัน จนปัจจุบันทำให้จำนวนนกปากห่างเพิ่มขึ้นเป็นเรือนหมื่นเลยทีเดียว ผลก็คือหอยเชอรรี่ซึ่งเป็นสัตว์ต่างชนิดและศัตรูธรรมชาติของเกษตรกร ได้ถูกกำจัดไปอย่างมากมายโดยนกชนิดนี้ เป็นการควบคุมระบบนิเวศให้เกิดความสมดุล

--------------
การเดินทาง

จากตัวเมืองนครสวรรค์ไปบึงบอระเพ็ด สามารถไปได้หลายเส้นทาง ทางด้านเหนือ ให้ขับไปตามเส้นทางสายนครสวรรค์-ชุมแสง ทางหลวงหมายเลข 225 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาอีก 2 กิโลเมตร เข้าไปยัง สถานีพัฒนาประมงน้ำจืดบึงบอระเพ็ด ในบริเวณมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จัดแสดงตู้ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ เปิดให้ชมฟรี ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันพุธ

ด้านทิศใต้ของบึงบอระเพ็ด จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 3001 สายนครสวรรค์-ท่าตะโก ประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายอีก 4 กิโลเมตร ถึง อุทยานนกน้ำ หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และบริการเรือหางยาวชมบึง สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีพัฒนาประมงน้ำจืดบึงบอระเพ็ด โทร. 0 5627 4501, 0 5623 0183 (ข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานอุทัยธานี (อุทัยธานี นครสวรรค์) โทร 0 5651 4651-2)