บุญช้างไซยะบุรี วิถีที่เปลี่ยนไป

บุญช้างไซยะบุรี วิถีที่เปลี่ยนไป

ขณะที่ช้างไทยกกำลังถูกไล่ล่าเพื่อประโยชน์ทางการค้า ช้างในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวก็เริ่มประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน

“เฮา เฮา เฮา” เสียงสื่อสารสั่งให้หยุด ที่ ทองคำ ควาญช้างชาวม้งวัย 29 ปี ใช้กับ 'แม่มาง' ช้างเพศเมียวัย 32 ปี หลังจากที่ช้างแม่ลูก 2 ทำท่าจะเมินหน้าหนีเมื่อมีคนเดินเข้ามาใกล้แล้วขอถ่ายรูป ในงานบุญช้าง แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในโลก ที่รัฐบาลลาวเร่งนำมาเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวในประเทศที่จัดอย่างต่อเนื่องมา 7 ปี

  • ช้างป่ากับวิถีท่องเที่ยว

ช้างแม่มางมีท่าทีกลัวและกังวลต่อคนแปลกหน้า และพยายามเบี่ยงตัวหนีจากคนที่เข้าไปใกล้ นักท่องเที่ยวหลายคนที่ไปเยือนงานบุญช้างจึงถอดใจจากการสัมผัส แต่ทองคำกลับอธิบายเพื่อความเข้าใจตรงกันว่า แม่มางเป็นช้างเลี้ยงที่เติบโตในบ้านเวียงแก้ว เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี โตมากับป่า เขาคุ้นเคยการใช้ชีวิตในป่ามากกว่าการมาผจญกับนักท่องเที่ยวนับร้อยนับพัน

แม้ว่าแม่มางและทองคำเคยเข้ามาร่วมขบวนพาเหรดในงานบุญช้างแล้วเมื่อปีก่อน ทว่าควาญช้างหนุ่มยืนยันว่า แม่มางยังไม่คุ้นเคยกับคนเมือง ต่างจากช้างของเพื่อนบ้านที่มีความเป็นมิตรมากกว่า จึงคิดว่าแม่มางคงไม่ชอบต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้จึงไม่นำแม่มางไปบริการให้ผู้มาเที่ยวงานช้างได้นั่งบนหลังเพื่อความเพลิดเพลินเหมือนเชือกอื่น

“จริงๆ เขาไม่ได้เป็นช้างอารมณ์ร้อน ออกจะขี้เล่นด้วยซ้ำ แต่พอมาเจอคนจำนวนมากก็หงุดหงิดบ้าง เพราะที่ผ่านมาแม่มางรับจ้างลากไม้ในป่าแถวหงสา บางครั้งก็ลากไปทิ้งไว้ที่ชายแดนไทย พอรถบรรทุกเข้ามาใกล้ก็พยายามหลบหนีแล้วไม่กินอาหาร เนื่องจากบางครั้งรู้สึกไม่พอใจกับเสียงดังของเครื่องจักร เราเองก็พยายามสอนเขาให้รู้จักทักทายคน เผื่อในโอกาสข้างหน้าจะต้องเข้าเมืองบ่อยๆ จำเป็นต้องปรับตัวแต่ก็ยาก เพราะแม่มางเติบโตมาจากบ้านนอก ไม่มีรถหรือเครื่องยนตร์รบกวนมากนัก”

หากถามถึงเหตุผลของการยอมเข้ามาร่วมงานช้างในครั้งนี้ ทองคำยอมรับว่าตัวเองไม่ต่างจากควาญช้างรายอื่นที่ต้องการหารายได้ตามกำลังที่มี อีกส่วนหนึ่งเมื่อรัฐบาลลาว หรือทางแขวงเรียกเข้ามาให้รับใช้ในงานนี้ก็ต้องยอมมาตามคำสั่ง โดยใช้เวลาเดินจากหงสา มาถึงไซยะบุรี เป็นเวลา เกือบ 5 วันเต็ม ในการมาร่วมงานครั้งนี้แม่มางมีเพื่อนร่วมเดินทางมา 3 เชือก จากบ้านเวียงแก้ว เพื่อมารับรายได้ประมาณ วันละ 260,000 กีบ (1,000 บาท) ซึ่งนับเป็นรายได้ที่เยอะพอสมควร แต่เมื่อหักค่าอาหารที่ต้องซื้อมาเลี้ยงแล้วก็ไม่คุ้ม ต่างจากชีวิตในเมืองหงสาที่มีรายได้ต่อเดือน แค่ประมาณ 950,000 กีบ (3,600 บาท) ก็ยังอยู่ได้ เพราะอาหารหากินได้ในป่า เราผูกไว้ ช้างก็กินได้ตามใจชอบ

สำหรับสถานการณ์ของช้างในเมืองหงสา ขณะนี้ควาญช้างหลายคนเลือกเข้ามาเดินเร่ร่อนเพื่อหารายได้เสริม เนื่องจากฝั่งชายแดนหงสาไม่ค่อยมีคนจ้างลากไม้แล้ว ด้วยเหตุนี้ทองคำจึงเลือกมาทดลองการใช้ชีวิตของตนกับช้างในเมืองเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ในอนาคต แต่ถ้าหากเลือกได้ตนและเพื่อนบ้านอาจจะย้ายช้างไปรับจ้างลากไม้ที่เมืองอื่น เพราะอย่างน้อยการอยู่ในป่าก็ประหยัดค่าอาหาร ยังดีที่งานบุญช้างครั้งนี้ รัฐบาลลาวซื้ออาหารเลี้ยง ส่วนหนึ่งก็ให้คนเมืองไซยะบุรีช่วยบริจาค ซึ่งทุกคนก็เต็มใจทำเพราะช้างเป็นสัตว์โปรดของคนเมือง นานๆ เด็กๆ จะได้เห็น ก็ยอมช่วยค่าอาหาร

ช่วงเช้าก่อนการฝึกขบวนพาเหรดสำหรับช้างในงานประมาณ 65 เชือก ทองคำและเพื่อนจะพาช้างมาที่ริมแม่น้ำฮุงเพื่อดื่มน้ำให้เต็มที่ เพราะบนถนนที่เดินพาเหรดนั้นอากาศร้อน ช้างจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างดี ไม่เช่นนั้นอารมณ์จะหงุดหงิด อาจเสี่ยงทำร้ายคนได้ โดยทางทีมผู้จัดระบุกฎไว้แล้วว่า หากช้างเชือกใดเป็นอันตราย จะต้องเสียค่าปรับ ไม่มีใครรู้ว่าค่าปรับดังกล่าวจะเป็นเท่าใด แต่ควาญทุกคนก็ต้องป้องกันไว้ก่อน

ช่วงก่อนการเข้าร่วมพิธีพาเหรดจริง ยังมีช้างเพศเมียอีกหนึ่งเชือกชื่อว่า 'บัวบาน' ยืนโยกตัวไปมา ระหว่างที่ควาญช้างนำผ้าหลากสีสันมาตกแต่ง โดย แซะ ผู้เป็นควาญช้างรับจ้าง เล่าว่าช้างบัวบานเป็นช้างที่อารมณ์ดี ชอบดนตรีและเสียงเพลง แต่ว่าเวลามีใครเอาเครื่องประดับมาใส่บนตัวก็รู้สึกอึดอัด พยายามสลัดออก บางครั้งก็ต้องบังคับให้ใส่ อย่างกรณีผูกฝ้ายที่ข้อเท้านั้น บัวบานไม่ชอบและรู้สึกรำคาญ ก็พยายามบ่ายเบี่ยง แต่ตนและควาญรายอื่นสามารถควบคุมได้เพราะบัวบานรู้ว่าถูกดุ

สำหรับบัวบาน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ออกแสดง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากมายนอกจากเต้นโชว์ พอให้คนดูสนุกสนานเท่านั้น พอรู้สึกเมื่อยก็หยุดไปเอง

แซะเล่าอย่างเศร้าใจว่า ปกติแล้วช้างบัวบานเป็นช้างลากไม้ที่มีนายทุนมาจ้างลากซุงประจำ วันหนึ่งบัวบานจะลากได้ประมาณ 4 ท่อน หนึ่งเดือนมีคนมาจ้างให้ลากประมาณ 4-5 วันติดกัน เป็นระยะทางรวม 7-10 กม. แต่พอช่วงใดที่ว่างงาน ตนและเจ้าของก็จะพาบัวบานมาบริการนักท่องเที่ยวที่อยากจะนั่งหลังช้าง เคยไปเวียงจันทน์มาแล้ว ที่นั่นมีนักท่องเที่ยวมากมาย รายได้พอที่จะซื้ออ้อยและกล้วยมาให้ในแต่ละวัน แต่เนื่องจากบัวบานเป็นช้างเดินเร็ว เขาไม่ชอบรอใคร หากคนที่ต้องการนั่งหลังช้างบัวบานแล้วชักช้า ช้างจะทำท่าปฏิเสธทันที

ด้วยเหตุนี้จึงย้ายบัวบานกลับหงสา เพื่อรับจ้างลากซุงเช่นเดิม เพราะกลัวจะทำคนขี่หลังตกลงมาบาดเจ็บ

  • จากพิธีศักดิ์สิทธิ์ สู่ความงามฉาบฉวย

งานบุญช้างครั้งนี้มีพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ชาวลาวให้ความสำคัญ คือการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยแซะอธิบายถึงพิธีดังกล่าวว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในอดีตนั้นคนเลี้ยงช้างเมืองหงสาจะมีพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญช้างปีละครั้งเพื่อสร้างความเป็นมงคลแก่ช้าง สะเดาะเคราะห์ให้สัตว์คู่บ้าน และทำเพราะความเคารพในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อใช้งาน ไม่ใช่การทรมาน เพราะช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศลาวที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงช้างเพื่อใช้งาน

ขณะที่แหล่งข่าวในไซยะบุรีรายหนึ่งเปิดเผยว่า แต่เดิมงานบุญช้างลาวได้รับทุนการสนับสนุนการจัดงานโดยมูลนิธิ Elephant d'asie จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาสนับสนุนนักอนุรักษ์และอาสาสมัครที่ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองช้างในประเทศลาว เพื่อให้พ้นธุรกิจการลักลอบค้าอวัยวะช้าง และการรักษาประเพณีดั้งเดิมของวิถีคนเลี้ยงช้างไว้ ซึ่งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว มูลนิธิฯ ได้ร่วมจัดมาโดยตลอดเนื่องจากแลเห็นความสำคัญของการเคารพช้าง แต่ขณะเดียวกันก็พยายามต่อต้านเรื่องธุรกิจการค้างาช้าง และอวัยวะต่างของช้างเช่นกัน รวมถึงนักอนุรักษ์บางรายก็กลายเป็นว่าต่อต้านการเลี้ยงช้างเพื่อใช้งานในป่าด้วย

ทว่าควาญช้างหลายคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะ ช้างในลาว คือช้างที่เกิดมาเพื่อร่วมใช้ชีวิตกับคนในการทำงานในป่า ไม่ใช่เลี้ยงไว้ดู ควาญช้างทุกรายไม่ได้ร่ำรวย แต่พอมูลนิธิฯ เข้ามาก็พยายามเปลี่ยนปลงหลายส่วน ซึ่งช้างหลายเชือกก็ถูกอนุรักษ์ไว้ โดยไม่ใช้งาน ชาวหงสาเข้าใจดีว่า เป็นมุมมองของฝรั่งเศสที่พยายามจะดูแลสัตว์ป่า แต่สิ่งเดียวที่คนลาวซึ่งเลี้ยงช้างไม่เห็นด้วย คือการพยายามตัดวงจรความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้าง แน่นอนว่าการใช้งานช้างเพื่อลากไม้และทำงานบางอย่างเป็นงานหนัก แต่ควาญไม่มีทางเลือก พวกเขาต้องกิน ต้องจ่ายเพื่อดำรงชีวิต การใช้งานช้างในพื้นที่หงสา และปากลายจึงเป็นเรื่องปกติ แต่จะทำในแบบพอดี ไม่ทรมานร่างกายช้างมากจนเกินไป ด้วยข้อถกเถียงนี้ทำให้อาสาสมัครบางส่วนยอมรับแต่ยังคงชื่นชมในพิธีบายศรีสู่ขวัญช้าง จึงยอมลงทุนจัดงานให้

ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ถอนตัวจากการจัดงาน เนื่องจากรัฐบาลลาวต้องการให้มีมหรสพและงานรื่นเริงหลายอย่างในบุญช้าง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ขณะที่บางส่วนมองว่าคอนเสิร์ตและงานรื่นเริงสร้างความรบกวนแก่ช้าง ส่วนเหตุผลปลีกย่อยอื่นๆ ของอาสาสมัครมองว่า ช้างลาวไม่ใช่ช้างฝึกสำเร็จรูปที่จะเชื่องและคุ้นเคยกับคนจึงไม่สนับสนุนงานช้างต่อไป

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลลาวจึงทุ่มทุนเพื่อการจัดงานมหกรรมบุญช้างอย่างใหญ่โตและเต็มไปด้วยมหรสพ เพื่อกระตุ้นกระแสท่องเที่ยวให้มีชื่อเสียง ส่วนพิธีบายศรีสู่ขวัญแม้จะยังมีแต่ก็เป็นแค่บางช่วงของงาน ไม่ได้มีรายละเอียดมากมาย ต่างจากอดีตที่ทำกันอย่างจริงจังและทุกคนเข้าใจบทบาทของงานอย่างดี

  • การอนุรักษ์ช้างลาว ความหวังริบหรี่

ข้าราชการเก่าในเมืองไซยะบุรี เล่าว่าแต่เดิมงานบุญช้างจัดขึ้นเล็กๆ มีเพียงแค่ขบวนพาเหรด โดยมี มูลนิธิ Elephant d'asie เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวเข้ามาก่อตั้งนานกว่า 10 ปี เพื่อร่วมอนุรักษ์ช้างลาวให้อยู่คู่ป่าต่อไป แต่ต่อมาเมื่องานช้างเริ่มมีชื่อเสียง รัฐบาลลาวเริ่มขยายกระแสการท่องเที่ยวให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ โดยย้ายสถานที่จัดงานเข้าสู่ตัวเมืองไซยะบุรี แล้วจ้างบริษัทจัดงานจากประเทศไทย เพื่ออำนวยการงานต่างๆ โดยให้เหตุผลว่าหงสาเป็นชนบท ไม่มีที่พักรองรับนักท่องเที่ยว จึงระดมช้างจากหงสามาสมทบกับช้างบ้าน เพื่อร่วมงานบุญในจุดเดียว นับเป็นการปลุกกระแสการท่องเที่ยวให้ไซยะบุรีเมืองอันสงบให้กลายเป็นเมืองอันมีเชื่อเสียงเลื่องลือ สามารถรองรับประชาชนได้ในทุกด้าน ทั้งที่พัก อาหาร

ควาญช้างในงาน เล่าว่าก่อนจะตัดสินใจมาที่นี่ มีข่าวลือว่ารัฐบาลลาวจะใช้ช้างไทยมาร่วมแสดงเพราะเป็นช้างแสนรู้และฉลาด แต่ควาญช้างในไทย คิดราคาเช่าช้างแพง รัฐบาลจึงยกเลิก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ในอนาคตช้างลาวคงไร้ความหมาย ดังนั้นปัจจุบันคนหงสาที่เลี้ยงช้าง จึงพยายามฝึกช้างให้ปรับสภาพยอมรับคนเมืองและนักท่องเที่ยวได้ "อย่างน้อยพวกเราก็ยังมีรายได้เสริมในกรณีที่งานลากซุงไม่มีให้ทำ” แซะทิ้งท้าย

งานบุญช้างครั้งนี้แม้จะครึกครื้นอย่างมาก และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมชนเผ่าทั้ง ม้ง เย้า ลาว ทว่าสิ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนก็คือ ภาพช้างหลายเชือกที่จำนนต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งควาญหรือคนเลี้ยงไม่มีสิทธิจะกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ได้ แต่อย่างน้อยวันนี้วัฒนธรรมอันสวยงามของลาวยังอยู่

สำหรับคนรักช้างอย่างแท้จริง คงได้แค่อธิษฐานให้ลาวยังคงวัฒนธรรมเดิม ไม่ใช่หมุนเปลี่ยนไปตามกระแสจนไม่เหลือรากเหง้าของตน

  • วิกฤติช้างไทย -ลาว ในมุมนักอนุรักษ์

อดัม กรีน อาสาสมัครชาวออสเตรเลีย บอกว่าช้างแอฟริกาโชคดีที่มีพื้นที่อนุรักษ์มากกว่าช้างเอเชีย ขณะที่ไทยและลาวต้องต่อสู้เพื่อปกป้องช้างอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทรมานช้าง ในธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งเรื่องการใช้ตะขอตี ใช้แซ่เฆี่ยน เพื่อควบคุมช้าง การบังคับให้รับใช้นักท่องเที่ยว การอดอาหาร และการวางยา

อดัมย้ำว่า หลายพื้นที่ของไทยเคยมีการทรมานช้างให้เห็นกับตา หากไม่นับเรื่องการตัดงาทำเฟอร์นิเจอร์ เอาหางมาทำเครื่องประดับแล้ว ช้างเอเชียนับว่าถูกคุกคามอย่างไม่เป็นธรรมชาติ พวกเขาสูญเสียความเป็นสัตว์ป่ามาเนิ่นนาน แต่คนก็ยังไม่รู้จักพอ ด้วยเหตุนี้ธุรกิจช้างเพื่อท่องเที่ยวจึงรุ่งเรือง เพราะกระแสความนิยมแบบชั่ววูบ จึงเป็นที่มาขององค์กรอนุรักษ์สารพัดองค์กรที่เพิ่มเข้ามา

"สิ่งที่ได้ชัดในช้างเอเชีย คือบางแห่งมีการเลี้ยงเพื่อใช้งานไม่ต่างจาก วัว ควาย โดยคนเคารพในสิทธิของช้างอย่างสัตว์ชั้นสูง ซึ่งถามจากหลายคนว่าเป็นเพราะอะไร ได้คำตอบว่าชาวบ้านมองว่าช้างเป็นพาหนะของกษัตริย์ที่อยู่เบื้องบน จึงต้องอนุรักษ์และเคารพ แต่การใช้งานช้างจะแตกต่างกันไป ทว่าสิ่งที่ผมคัดค้านเป็นการส่วนตัว คือช้างที่ทำธุรกิจการท่องเที่ยว มีเวลาพักน้อย เจอคนมากกมาย ทำให้การผสมพันธุ์อย่างเป็นธรรมชาติเป็นไปได้ยาก เพราะเครียด เวลากินอาหารก็ไม่พอ

ส่วนที่นักท่องเที่ยวระแวงว่าช้างป่าดุ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะช้างป่าถูกเลี้ยงอย่างอิสระ ไม่มีล่ามโซ่ ไม่มีถูกเฆี่ยน ขณะที่ช้างบ้านแม้จะถูกล่ามโซ่เป็นบางครั้ง แต่พวกเขารับใช้คนอย่างยุติธรรมและผูกพันกับคน สิ่งที่น่าห่วงคือ ช้างที่แสดงโชว์ ช้างที่เข้าสู่วงจรท่องเที่ยวเต็มรูปแบบจะน่าห่วงกว่า เพราะเขาห่างไกลป่า ต้องฝึกตัวเองอย่างหนัก อาหารก็ได้รับไม่เพียงพอ หลายอย่างรบกวนวิถีชีวิตช้างเหล่านี้ การผสมเทียมในช้างเลี้ยงจึงเริ่มเกิดขึ้น ส่วนช้างป่าก็ถูกฆ่าตัดงา ตัดหาง เลาะกระดูก"

อย่างไรก็ตามหลังจากเข้าสู่การเป็นอาสาสมัครมานานนับ 10 ปี อดัมมองว่าปัจจุบันช้างเอเชียถูกตั้งเป้าการผลิตเพื่อการท่องเที่ยว มากกว่าการผลิตเพื่อใช้งานอย่างจำเป็น ขณะที่กระแสการอนุรักษ์ของชาวตะวันตก ก็กลับสร้างความขุ่นนเคืองมากขึ้น

เสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วนที่ระบุถึงสถานการณ์ช้างทั้งไทยและลาว ในปัจจุบันมีแนวโน้มชัดเจนว่า ช้าง คือสินค้าที่เป็นเป้าหมายของการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างน่ากังวล แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดลุกขึ้นมาทำงานเพื่อตั้งรับสถานการณ์นี้อย่างจริงจัง ขณะที่วงจรการค้างาช้างก็ทวีคามรุนแรงไม่แพ้กัน