ภาษีสามีภริยา (4)

ภาษีสามีภริยา (4)

ขอนำมาเป็นประเด็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา

ตามคำชี้แจงกรมสรรพากร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 14 มกราคม 2556 มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ของสามีและภริยาอย่างไร

วิสัชนา การหักค่าใช้จ่าย ให้สามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้จ่ายได้ตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับเงินได้แต่ละประเภทตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีที่ไม่อาจแยกได้ว่าเงินได้พึงประเมินนั้นเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ซึ่งสามีและภริยาได้แบ่งเงินได้ดังนี้
1. ถ้าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5)(6)(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
2. เฉพาะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จะเลือกแบ่งเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้แบ่งเป็นของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
เมื่อได้เลือกตาม 1. หรือ 2. แล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการในปีภาษีเดียวกัน จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน
ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินประเภทดังกล่าวกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้นั้น ให้สามีและภริยาเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของเงินได้พึงประเมินที่ได้แบ่งเป็นของแต่ละฝ่าย

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้อย่างไร

วิสัชนา การหักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ให้เป็นไปตามมาตรา 47 (1)(ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
1. กรณีมีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนส่วนตัวได้ 30,000 บาท และหักลดหย่อนสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้อีก 30,000 บาท
2. กรณีมีเงินได้ทั้งสองฝ่าย
(1) แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากกัน ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนส่วนตัวได้ 30,000 บาท แต่จะหักลดหย่อนสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้อีกไม่ได้
(2) เลือกยื่นรายการและเสียภาษี
วิธีที่ 1 กรณีถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของภริยาเป็นเงินได้ของสามี หรือเอาเงินได้ทั้งหมดของสามีเป็นเงินได้ของภริยา ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนส่วนตัวได้ 30,000 บาท และหักลดหย่อนสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
วิธีที่ 2 กรณีถือเอาเงินได้ตามมาตรา 40 (2) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของภริยาเป็นเงินของสามี หรือเอาเงินได้ทั้งหมดตามมาตรา 40 (2) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของสามีเป็น เงินได้ของภริยา ส่วนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของแต่ละฝ่าย แยกยื่นรายการและเสียภาษีในนามของตนเอง ให้ผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนส่วนตัว ฝ่ายละ 30,000 บาท แต่จะหักลดหย่อนสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้อีกไม่ได้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรอย่างไร

วิสัชนา การหักลดหย่อนบุตรและการหักลดหย่อนการศึกษาบุตร ให้เป็นไปตามมาตรา 47 (1) (ค) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
1. กรณีมีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาฝ่ายที่มีเงินได้หักลดหย่อนบุตรได้ 15,000 บาท และการศึกษาบุตร 2,000 บาท สำหรับบุตร 1 คน
2. กรณีมีเงินได้ทั้งสองฝ่าย
(1) แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากกัน ให้สามีและภริยาผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนบุตรได้ 15,000 บาท และการศึกษาบุตร 2,000 บาท สำหรับบุตร 1 คน
(2) เลือกยื่นรายการและเสียภาษี
วิธีที่ 1 กรณีถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของภริยาเป็นเงินได้ของสามี หรือ เอาเงินได้ทั้งหมดของสามีเป็นเงินได้ของภริยา ให้หักลดหย่อนสำหรับบุตรรวมกันได้ 30,000 บาท และการศึกษาบุตร 4,000 บาท สำหรับบุตร 1 คน
วิธีที่ 2 กรณีถือเอาเงินได้ตามมาตรา 40 (2) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของภริยาเป็นเงินของสามี หรือเอาเงินได้ทั้งหมดตามมาตรา 40 (2) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของสามีเป็นเงินได้ของภริยา ส่วนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของแต่ละฝ่ายแยกยื่นรายการและเสียภาษีในนามของตนเอง ให้ผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนสำหรับบุตรได้ 15,000 บาท และการศึกษาบุตร 2,000 บาท สำหรับบุตร 1 คน

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ