นักเทคโนโลยีนอกกรอบ 'ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ' กับสิ่งที่คาดไม่ถึงในอนาคต

นักเทคโนโลยีนอกกรอบ 'ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ' กับสิ่งที่คาดไม่ถึงในอนาคต

นักวิชาการไทยส่วนใหญ่เรียนเพื่อผลิตความรู้ ส่วนนักวิชาการฝรั่งหรือจีนเรียนเพื่อเอาความรู้ไปผลิตเทคโนโลยี แตนักวิชาการคนนี้ขอคิดต่างจากสังคมไทย

 

“เรื่องบางอย่างที่บางคนบอกว่า เป็นไปไม่ได้” แต่ ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักเทคโนโลยี บอกว่า “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้”

ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีคนนี้ ได้ทุนจากรัฐบาลออสเตรียไปเรียนปริญญาเอก สาขาเคมีเชิงฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยอินน์สบรูค หลังจากจบปริญญาเอก ยังทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิก ประเทศเยอรมนี อีกปีหนึ่ง

จึงไม่แปลกที่เขามีความคิดล้ำๆ เป็นนักเทคโนโลยีที่สนใจเรื่องการเกษตรและเรื่องอื่นๆ  เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพในมหาวิทยาลัย และทำโครงการเกษตรอัจฉริยะ ( Smart farm) เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแม่นยำ โดยใช้หุ่นยนต์การเกษตร ( Farmer Robot) มีหุ่นยนต์ Sensor Drone หรือเครื่องบินไร้คนขับไว้ตรวจตราพื้นที่ไร่นา รวมถึงทำเพจ เกษตรอัจฉริยะ-Smart Farm

“ผมชอบเกษตรตั้งแต่เด็ก เคยปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ ส่งไปขายในร้านโชห่วย ตอนนั้นครอบครัวไม่อยากให้เรียนเกษตร ผมไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์ และมีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้ลืมเรื่องเกษตร แต่ในที่สุดก็มาช่วยทำเทคโนโลยีทางการเกษตร” อาจารย์ธีรเกียรติ์ เล่า

 

-1-

 แม้จะเป็นนักเทคโนโลยีและอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้แค่นั้น เขายังคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ทางการเกษตรและวงการอื่นๆ 

“ทุกครั้งที่ได้เห็นท้องนา คนทำสวน รู้สึกมีความสุข ก็เลยคิดว่า แม้จะไม่ได้ทำไร่ทำนา ก็อยากเอาเทคโนโลยีมาใช้ทางการเกษตรในเมืองไทย เพราะสิ่งที่ผมเคยเรียนมา

อย่างเรื่องควอนตัมฟิสิกส์ แม้จะมีคนพูดถึงเทคโนโลยีพวกนี้เยอะ แต่ถามว่านำมาใช้ประโยชน์ได้ไหม ในเมืองไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น ไม่เหมือนจีนหรืออเมริกาที่มีทุกอย่างพร้อม แต่ถามว่า เราควรทำเรื่องเหล่านี้ไหม ก็ควรทำ ไม่อย่างนั้นตกขบวน เหมือนเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์ที่กลายเป็นพื้นฐานคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน”

เขาเชื่อว่า การเป็นนักคิด ไม่ควรติดกรอบ ควรนำทักษะความรู้มาดัดแปลงเป็นเทคโนโลยี เนื่องจากประเทศเราส่งออกทางการเกษตรเป็นอันดับ 11 ของโลก แต่การนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ไทยไม่ติด 30 อันดับแรกของโลก

IMG_0383_1  (ผลงานจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว จัดแสดงที่จีน)

     “โลกการเรียนรู้ในวันนี้ต่างจาก 20 ปีที่แล้ว ยุคนี้ใครมีเงินจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตก็หาความรู้ได้หมด  แต่สิ่งสำคัญคือทักษะในการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ขณะที่นักวิชาการไทยเรียนเพื่อผลิตความรู้ นักวิชาการฝรั่งหรือจีนเรียนเพื่อเอาความรู้ไปผลิตเทคโนโลยี ”

 

-2-

     เหมือนที่กล่าวมา เขาอยากนำเทคโนโลยีมาช่วยภาคเกษตร เพราะมองว่าปัญหาโลกร้อนจะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งกระทบต่อแหล่งผลิตอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในบ้านเรา

"ตอนผมทำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการดมกลิ่นดิจิตอล เคยขอทุนในเมืองไทย ไม่มีใครให้ทุนเลย แต่กลับได้รับการติดต่อจากต่างประเทศ สนับสนุนเงินทุน อย่างบริษัทนีเวียที่เยอรมันติดต่อมาให้ศึกษาเครื่องดมกลิ่นแทนมนุษย์ เพื่อใช้ดมกลิ่นโรลออนทารักแร้ 

ส่วนทางกองทัพเรือสหรัฐให้ทำเซ็นเซอร์ตรวจกลิ่นแอมโมเนียในเสื้อทหาร สามารถตรวจวัดความเครียดของทหารที่ไม่พร้อมปฎิบัติงานได้ ผมจึงทำเครื่องมือเหล่านี้  จมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว  ต่อมาพวกหมอก็สนใจอีกว่า จมูกอิเล็กทรอนิกส์จะดมกลิ่นคนเป็นเบาหวานได้ไหม เพราะเป็นกลิ่นเฉพาะตัว ก็เอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้อีก 

หลังจากที่ผมเปลี่่ยนตัวเองจากนักวิทยาศาสตร์เพียวๆ มาเป็นนักเทคโนโลยี ก่อนผมจะตีพิมพ์ผลงานอะไร ผมนึกก่อนว่า อยากจะให้ใครอ่าน อย่างเทคโนโลยีเสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ พวกทหารสนใจเรื่องพวกนี้ ก็อ่านเจอผลงานผม เราก็ได้เผยแพร่ความรู้"

นอกจากนี้เขายังเป็นหุ้นส่วนและร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ มีผลงานที่จดสิทธิบัตรทั้งหมด 8 ชิ้นในเมืองไทย อาทิ เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ,จมูกอิเลคโทรนิกส์กระเป๋าหิ้ว,เครื่องตรวจวัดกลิ่นตัวของมนุษย์เพื่อการระบุบุคคล ฯลฯ และมีผลงานอีก 4 ชิ้นรอยื่นสิทธิบัตร

 

-3-

ส่วนเรื่องสมาร์ทฟาร์ม เขา ยังได้ทุนจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่เห็นความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีการเกษตร 

“ตอนผมทำสมาร์ทฟาร์ม แทบจะขอทุนไม่ได้เลย เพราะนักวิชาการอีกรุ่นไม่เห็นด้วย บอกว่า“บ้านเราดินดำน้ำชุ่ม ปลูกอะไรก็ขึ้น ทำไมต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้” จนมหาวิทยาลัยมหิดลที่เน้นเรื่องการแพทย์ให้ทุนสนับสนุนมาเกือบสิบปี” อาจารย์ธีรเกียรติ์ เล่า และบอกว่า แม้บ้านเราจะปลูกอะไรก็ขึ้น แต่ปลูกแล้วออกมาดีหรือเปล่า

IMG_0409 (1) (โดรนใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องปกติในยุคนี้)

"อย่างองุ่นที่ใช้ทำไวน์ ปลูกยากมาก ไร่องุ่นในเมืองไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกอยู่ที่กราน มอนเต้ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ผมและเพื่อนนักวิจัยนำเทคโนโลยีพวกนี้มาใช้ ทำให้ฟาร์มจัดการง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้นักวิชาการรุ่นเก่ายอมรับแล้ว ทั้งๆ ที่เมื่อ 8-9 ปีที่แล้วไม่เห็นด้วย ผมมองว่า ถ้าเราไปตีกรอบ นวัตกรรมจะเกิดยาก สมาร์ทฟาร์มในเมืองไทย มีการนำเอาเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดมาใช้ในแปลงองุ่น เพื่อดูว่า ต้นองุ่นที่ปลูกในเมืองไทยรู้สึกยังไง แล้วเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ปริมาณน้ำที่ถูกต้อง ผมมองว่าเครื่องจักรกลทางการเกษตรยังเติบโตได้อีกเยอะ ตอนนี้มีโดรนทำแผนที่ โดรนพ่นยาใช้ในฟาร์มแล้ว”

 ว่ากันว่า เกษตรกรยุคใหม่ต้องเป็นผู้ประกอบการเกษตร จะปลูกอะไรต้องมองตลาดก่อนแล้วค่อยทำ อาจารย์ธีรเกียรติ์ ยกตัวอย่างงานวิจัยที่เขาทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล พวกเขาจะเริ่มจากมองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมก่อน  แล้วตั้งโจทย์ว่า ทำแล้วใครได้ประโยชน์ แม้สิ่งที่ทำจะเป็นงานวิจัยที่หลุดโลก แต่ต้องมีเป้าหมาย 

“อย่างการทำหุ่นยนต์ชิมอาหาร ผมมองว่า หุ่นยนต์ควรมีความรู้สึกนึกคิด เรื่องนี้ดูเหมือนไกลตัว แต่มีหนทาง เพราะเคยมีหุ่นยนต์เหวี่ยงคนงานผลิตรถยนต์เสียชีวิต หุ่นยนต์รุ่นหลังๆ จึงต้องมีหน้าตา คิ้ว ตา ปาก เวลาหันไปทางไหน คนจะได้รู้ หรืองานวิจัยที่เอาผิวหนังเทียมไปติดที่ขามือหุ่นยนต์ เมื่อมันสัมผัสตัวคนจะได้รู้ปริมาณแรงกด”

ปกติแล้วพวกฝรั่งจะเรียกงานวิจัยแบบโลกสวยว่า บลูสกายรีเสิร์ช พวกเขาอยากทำอะไรล้ำๆ แต่ตอนนี้ผมไม่มีงานวิจัยแบบนั้นแล้ว จะทำอะไรต้องมีประโยชน์ และผมเคยทำเรื่องหุ่นยนต์ชิมกาแฟ ให้มันบอกมาตรฐานเปรี้ยว ขม หวาน หอม มีผลงานตีพิมพ์ด้วย หรือการชิมข้าวชนิดอื่นๆ เปรียบเทียบกัน ซึ่งเรื่องความอร่อยอยู่ที่เรานิยาม แล้วนำมาทำเป็นระบบดิจิตอลประมวลผล"

IMG_0410 -การดูงานไร่องุ่นที่ใช้ทำไวน์ในฝรั่งเศส ใช้โซล่าร์เซลล์ครอบด้านบน (จากเพจเกษตรอัจฉริยะ -Smart Farm)

 

-4-

ไอเดียดังกล่าว เขายอมรับว่า เคยไปพูดกับคนในวงการอาหารว่า ต่อไปหุ่นยนต์จะสามารถชิมอาหารแทนคนได้ คนส่วนใหญ่มองว่า เป็นไปไม่ได้

"นักวิชาการอาหารบ้านเราไม่เชื่อเรื่องนี้ ต่อไปอาหารในอนาคต เราจะไม่กินเหมือนตอนนี้ จำได้ว่าตอนที่ผมกินอาหารไมโครเวฟยุคแรกๆ แม่ผมบอกว่าไม่มีคุณค่า แต่ตอนนี้ก็กินกันปกติ ต่อไปอาจมีอาหารที่ทำให้เราไม่ต้องลดน้ำหนักโดยการวิ่งออกกำลังกาย เพราะในอาหารมีเมตาบอลิซึมเท่าการออกไปวิ่ง 

ผมเป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงเนื้อสัตว์ปลูกจากเนื้อเยื่อ หรือเนื้อส้ตว์เลียนแบบจากพืช ตอนนี้เทคโนโลยีการเกษตรในเมืองไทยมีการปลูกพืชผักในพื้นที่ปิด โดยใช้แสงจากหลอด LED ควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้มาแล้ว เกษตรกรต้องปรับตัว

ในอนาคตห้างต่างๆ อาจปลูกผักขายเองในซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเนื้อสัตว์ปลูก เนื้อสัตว์จากพืช ก็มีสตาร์ทอัพในเมืองไทยทำแล้ว สิ่งที่ผมพูดเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วมาแล้ว" 

ไม่เว้นแม้กระทั่งเนื้อสัตว์ปลูกที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ มีโปรตีนมีคุณค่าทางอาหารที่ตลาดต้องการ ส่วนเรื่องรสชาติก็คงทำได้เหมือนการทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เรื่องนี้อาจารย์ธีรเกียรติ์ มองว่า  เป็นเรื่องการยอมรับของคนแต่ละรุ่น อย่างรุ่นลูกเขา ถ้าเห็นเนื้อพวกนี้ กินง่ายแล้วรู้สึกว่าไม่ต้องฆ่าสัตว์ มันดูโหดร้าย เขาก็อาจจะเลือกกินแบบนี้