เพชรบุรี...เมืองหลวงแห่งการดูนก

แม้จะยังเปิดการท่องเที่ยวเพียงบางส่วน แต่คนรักธรรมชาติรอต้อนรับการกลับมาของนกน้อยในแหล่งดูนกระดับโลกของไทยเหล่านี้ได้เลย

 

‘เพชรบุรี’ จังหวัดเล็กๆ ของภาคกลางตอนล่างอันยิ่งใหญ่ เป็นเมืองเก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยถูกใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ปัจจุบันนักท่องเที่ยวรู้จักผ่านคำขวัญประจำจังหวัดว่า ‘เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม’ ทำให้ในปี พ.ศ.2562 มีนักท่องเที่ยวเข้าพักในจังหวัดเพชรบุรีมากกว่า 9 ล้านคน สร้างรายได้แก่ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 32,000 ล้านบาท เพราะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 123 กิโลเมตร มีทรัพยากรด้านท่องเที่ยวธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ของกินมหาศาล

ด้วยเนื้อที่ 3,890,711 ไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ เกือบ 4 เท่า โดยลักษณะภูมิประเทศ แบ่งเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตภูเขาทางตะวันตก มียอดเขาสูงที่รู้จักกันดี คือ ยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวชอบไปชมทะเลหมอก มีความสูง 1,207 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี อยู่ใน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 1.82 ล้านไร่ หรือ เกือบครึ่งของพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 2 เท่า

‘เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ’ เป็นเขตเกษตรกรรมของจังหวัด มีแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญไหลผ่าน อีกทั้งยังมีเขื่อนแก่งกระจานที่เป็นแหล่งน้ำเพื่อระบบชลประทานสำหรับการเพาะปลูกอีกด้วย ‘เขตที่ราบชายทะเล’ อยู่ทางด้านตะวันออกของจังหวัดติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ปัจจุบันเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของจังหวัด สำหรับการประมงและแหล่งท่องเที่ยว 

 

ทะเลหมอก ณ เขาพะเนินทุ่ง แก่งกระจาน

ทะเลหมอก ณ เขาพะเนินทุ่ง แก่งกระจาน

 

ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.สำนักงานเพชรบุรี) ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และกลุ่มดูนกจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดโครงการ ‘เพชรบุรี เมืองหลวงแห่งการดูนก’ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี ที่นอกจากจะมีศักยภาพในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและอาหารอร่อย ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะ 'การดูนก' ซึ่งนักท่องเที่ยวให้ความสนใจอย่างมาก และรู้จักกันมานานอย่างแพร่หลาย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งได้สร้างงานสร้างเงินให้กับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเพชรบุรีมาช้านาน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาดูนกในจังหวัดเพชรบุรี มักจะใช้เวลาขั้นต่ำ 1 - 3 วันขึ้นไป และใช้จ่ายโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อคนต่อวัน

‘เพชรบุรี’ มีนกให้ชมมากกว่า 600 สายพันธุ์ เกินครึ่งของชนิดนกที่พบในประเทศไทย เป็นศูนย์รวมนกหายาก นกอพยพ นกล่าเหยื่อ และนกสวยงามตามธรรมชาติมากมาย สามารถมาดูนกได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี และหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ก็เห็นพ้องเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดเพชรบุรี จะได้รับขนานนามว่า ‘เมืองหลวงแห่งการดูนก’ โดยมีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้ไปชมนกสวย ๆ ใน 4 เส้นทาง ได้แก่ ชมนกประจำถิ่นสีสันบาดตา ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน ศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกแห่งอาเซียน ในปี พ.ศ. 2548

 

นกจาบคาเล็ก

นกจาบคาเล็ก

นกกระจาบทอง

นกกระจาบทอง

 

เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อยู่ในเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเชื่อมต่อกับเทือกเขาภูเก็ต และตอนเหนือยาวเข้าไปในประเทศเมียนมา ฉะนั้นสัตว์ป่าจากประเทศอินเดียและพม่าก็จะแพร่กระจายลงมาถึงบริเวณนี้ด้วย อีกทั้งสัตว์ป่าจากประเทศมาเลเซีย ก็จะแพร่กระจายขึ้นมาตามเทือกเขาภูเก็ตจนถึงบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน ทำให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่า ทั้งจากทิศเหนือและทิศใต้อันเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในประเทศไทย 

แถมเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตภูมิพฤกษ์ 4 ลักษณะเด่น ได้แก่ Indo-Burmese 2.Indo-Malaysian 3.Annamatic และ 4.Andamanese ด้วยเหตุนี้จึงถูกประกาศเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นกในระดับโลก (Important Bird Area) โดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และภาคีขององค์กรอนุรักษ์นกสากล หรือ BirdLife International

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กำลังจะถูกเสนอชื่อจัดตั้งเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทยอีกด้วย โดยมีรายงานพบนกอย่างน้อย 545 ชนิด เช่น นกเงือกกรามช้าง นกพญาปากกว้างท้องแดง นกขุนแผนอกสีส้ม นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง โดยมี ‘นกกระลิงเขียดหางหนาม’ เป็นดาวเด่น เพราะพบเพียงที่เดียวในประเทศไทย

 

นกเงือกกรามช้าง

นกเงือกกรามช้าง

นกพญาปากกว้างเล็ก

นกพญาปากกว้างเล็ก

 

ชมนกชายเลนอพยพ ณ ริมฝั่งทะเล อำเภอบ้านแหลม ได้แก่ บ้านปากทะเล ตำบลปากทะเล และโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม เป็นพื้นที่ราบติดอ่าวไทย และเป็นแหล่งทำนาเกลือสมุทรตามภูมิปัญญาดั้งเดิมแหล่งสุดท้ายของเพชรบุรี สามารถชมนกได้ตลอดทั้งปี เช่น นกยางเปีย นกตีนเทียน นกกินเปี้ยว นกยางโทนใหญ่ นกกาบบัว นกกาน้ำปากยาว นกกระทุง นกกุลาขาว และ แหลมหลวง หรือ ‘หาดทรายเม็ดแรกของเพชรบุรี’ ยังเป็นแหล่งทำรังวางไข่ที่สุดท้ายของ นกหัวโตมลายู และ นกนางนวลแกลบเล็ก รวมถึงเป็นที่พักผ่อนของนกทะเลหลายชนิดที่เข้ามาหลบมรสุม เช่น นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ นกนางนวลหัวดำใหญ่ นกนางนวลธรรมดา

ครั้นพอถึงฤดูหนาวก็จะมีนกอพยพอีก 50 ชนิดจำนวนหลายแสนตัว ที่เดินทางมากว่า 7,000 กิโลเมตรจากซีกโลกเหนือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคมในปีถัดไป เพื่อมาอาศัยหากินตามหาดโคลนและนาเกลืออันอุดมสมบูรณ์ ด้วยเพราะแถบนี้ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงแรมขนาดใหญ่ที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล เช่น นกอีก๋อยใหญ่ นกชายเลนปากงอน นกปากแอ่นหางดำ นกสติ๊นท์เล็ก โดยมี ‘นกชายเลนปากช้อน’ เป็นดาวเด่น ด้วยเพราะมีประชากรเหลือน้อยกว่า 400 ตัวบนโลก ทำรังวางไข่ที่ไซบีเรีย แต่หนีหนาวมาเพชรบุรีปีละ 7 เดือนเป็นประจำ เป็นหนึ่งในนกที่ผู้นิยมธรรมชาติ “ต้องเห็นสักครั้งก่อนตาย”

 

นกชายเลนปากช้อน เป็นนกหายากระดับโลก ที่ต้องได้เห็นสักครั้งก่อนตาย

นกชายเลนปากช้อน เป็นนกหายากระดับโลก ที่ต้องได้เห็นสักครั้งก่อนตาย

นกนางนวลหัวดำใหญ่และผองเพื่อน ณ  แหลมหลวง

นกนางนวลหัวดำใหญ่และผองเพื่อน ณ แหลมหลวง

 

ด้วยความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญของพื้นที่ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และภาคีองค์กรอนุรักษ์นกสากล (BirdLife International) จึงได้ประกาศเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นกในระดับโลก (Important Bird Area) อีกทั้งยังถูกประกาศเป็นพื้นชุ่มน้ำสำคัญสำหรับนกอพยพในระดับโลก (Flyway site of East Asian - Australasian Flyway Partnership (EAAFP) จนนำมาซึ่งการระดมทุนของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยจากนักดูนกทั่วโลก จัดซื้อที่นาเกลือประมาณ 50 ไร่ ณ บ้านปากทะเล ตำบลปากทะเล เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2562 เพื่อพัฒนาและเก็บรักษาพื้นที่สำคัญผืนนี้ ไว้ให้นกประจำถิ่นและนกชายเลนอพยพ ได้อาศัยหากิน อีกทั้งให้นักดูนกจากทั่วโลกได้มาชมนกสวยๆ ในเมืองไทยได้ตลอดไป

ชมนกเล่นน้ำ ณ บ้านพุไทร อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งดำเนินการโดยชมรมอนุรักษ์นก สัตว์ป่า และธรรมชาติบ้านพุไทร มากว่า 10 ปีแล้ว ให้บริการซุ้มบังไพรอันแสนสะดวกสบาย แก่นักนิยมธรรมชาติได้เฝ้าชมสัตว์ป่าและถ่ายภาพนกสวยๆ ที่ออกมาดื่มน้ำเล่นน้ำเป็นประจำทุกวัน เช่น กระจงหนู นกกระรางสร้อยคอใหญ่ นกกาแวน นกกระทาดงแข้งเขียว ไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังเทา โดยมี ‘นกสาลิกาเขียว’ เป็นดาวเด่น ซึ่งช่วยให้ที่พักในละแวกเดียวกัน มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ เข้ามาพักเพื่อรอชมนกสวยๆ ที่หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกัน อย่างไม่ขาดสายตลอดปี สร้างงานและเงินลงสู่ท้องถิ่นโดยตรง ถือเป็นคุณประโยชน์อันเกิดจากผู้คนรอบพื้นที่อนุรักษ์ เห็นคุณค่าของทรัพยากรทางธรรมชาติที่ไม่ล่า ไม่หาไปขาย แต่ช่วยกันรักษาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน เพื่อคนทั่วโลกจะได้มาชมนกสวยๆ ที่ประเทศไทยได้ทุกวัน

 

นกสาลิกาเขียว

นกสาลิกาเขียว

บ้านปากทะเล

บ้านปากทะเล

 

ชมทุ่งรวงทอง ณ ทุ่งนา ตำบลหนองปลาไหล และตำบลบางจาก อำเภอเขาย้อย ปกติเป็นแหล่งชมนกทุ่ง เช่น นกยางควาย นกยางกรอกพันธุ์ชวา นกกระแตแต้วแว๊ด นกกระจาบทอง สีเหลืองสดใสสวยงามที่ทำรังเป็นจำนวนมากในช่วงเกี่ยวข้าว อีกทั้งเป็นแหล่งดูเหยี่ยวและอินทรีในช่วงฤดูหนาวซึ่งดีที่สุดในประเทศไทย เพราะนกล่าเหยื่อเหล่านี้จะอพยพหนีหนาวมาจากประเทศรัสเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และมองโกเลีย เช่น นกอินทรีหัวไหล่ขาว นกอินทรีเล็ก นกอินทรีปีกกลาย เหยี่ยวด่างดำขาว เหยี่ยวเพริกริน เพื่อมากินหนูในนาข้าว ซึ่งพอดีกับช่วงที่เราเกี่ยวข้าวประมาณเดือนพฤศจิกายน และนกเหล่านี้จะอยู่ช่วยเรากำจัดหนูในพื้นที่ ยาวไปจนถึงสงกรานต์ของปีถัดไป ก็จะอพยพกลับไปทำรังวางไข่ยังประเทศต้นกำเนิด ต้องชื่นชมนกล่าเหยื่ออพยพเหล่านี้ที่เดินทางมาจากแดนไกลเพื่อช่วยชาวนาไทย กำจัดศัตรูพืชแบบฟรีๆ มาตลอด โดยมี ‘นกอินทรีทุ่งหญ้าสเต็ป’ เป็นดาวเด่น

 

นกอินทรีทุ่งหญ้าสเต็ป

นกอินทรีทุ่งหญ้าสเต็ป

 

ขากลับจากเพชรบุรี ก็อย่าลืมแวะซื้อของฝาก อันมีให้เลือกหาแสนมากมาย ได้แก่ ของหวาน เช่น ขนมหม้อแกง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง วุ้นกรอบ อาลัว น้ำตาลสด ข้าวตังธัญพืช ไอศกรีมกะทิ ลอดช่องน้ำตาลข้น ผักผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ชมพู่เพชรสายรุ้ง มะนาวท่ายาง สับปะรด กล้วยหอมทองท่ายาง ทุเรียนป่าละอู กับข้าวกับปลา เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาสดๆ จากอ่าวไทย สาหร่ายพวงองุ่น อาหารทะเลตากแห้ง ปลาอินทรีเค็ม ปลาวง น้ำตาลโตนด ดอกเกลือทะเล ฯลฯ

ตามหลักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ (New normal Sustainable economy) กล่าวไว้ว่า “ถ้าจะอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ได้ คนท้องถิ่นก็ต้องอยู่ได้ด้วย เพื่อสังคมที่คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกัน อย่างมีความสุขด้วยกันตลอดไป”

 

บรรยากาศการดูนกปลายแหลมหลวง