‘ยาชีวภาพ’ ทางเลือกการรักษาผู้ป่วย'โควิด-19'

‘ยาชีวภาพ’ ทางเลือกการรักษาผู้ป่วย'โควิด-19'

การพัฒนา 'ยาชีวภาพ' ของนักวิจัยไทย อีกหนึ่งความหวังในการรักษา ก่อนที่วัคซีนโควิด-19 จะสำเร็จเสร็จสิ้นให้คนทั่วโลกได้ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์นี้

 

ช่วงที่คนทั้งโลกรอคอย 'วัคซีน' ป้องกันไวรัส โควิด-19 และยังไม่รู้ว่า นักวิจัยชาติไหนจะสามารถคิดค้นผลิตออกมาให้คนทั้งโลกได้ใช้ก่อน การรักษาด้วย 'ยา' จึงยังเป็นหนทางหลักในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ตัวยาหลายชนิด โดยเฉพาะ 'ฟาวิพิราเวียร์' (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด 19 และใช้มาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเข้ายาชนิดนี้มาจากญี่ปุ่นและจีน       

ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมไทย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ในเดือนมิถุนายนปี 2564 นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งแนวทางการรักษาที่น่าจับตามองและน่าจะเป็นทางเลือกในการรักษาได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การพัฒนา 'ยาชีวภาพ' โดยทีมผู้เชี่ยวชาญชาวไทย ซึ่งถ้าได้รับการสนับสนุนให้สามารถดำเนินไปตามขั้นตอนที่วางไว้อาจเห็นผลได้ในสิ้นปีนี้

สำหรับ 'ยาชีวภาพ' มาจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการผลิต โดยโครงสร้างของยาชีวภาพจะมีโปรตีนเป็นหลัก หรืออาจเป็นสารทางพันธุกรรม เช่น แอนติบอดี และฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งโครงการผลิตยาชีวภาพสำหรับรักษาโรคโควิด 19 นี้ สืบเนื่องจากที่ประเทศไทยได้ริเริ่มแนวทางการใช้ 'พลาสมา' ของผู้ที่หายป่วยจากโควิด 19 มารักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดย ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฎว่าได้ผลค่อนข้างดี

แต่เนื่องจากการใช้พลาสมา ซึ่งเป็นน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดสามารถรักษาผู้ป่วยได้ปริมาณน้อย และไม่สามารถผลิตออกมาในเชิงอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงต้องมีทางเลือกอื่นๆ  ล่าสุดนักวิจัยอเมริกาและนักวิจัยไทย กำลังศึกษาหาตัวยาจากการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมเพื่อทำยาชีวภาพ หนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล 

"ศูนย์เรามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ...อยู่ที่ว่าเราได้พลาสมาจากเม็ดเลือดขาวของคนป่วยโควิดเยอะแค่ไหน อาจารย์ยงช่วยเต็มที่ ไม่หวงเลยครับ พอสร้างคลังแอนติบอดีมนุษย์ได้เยอะ ก็จะมาคัดเลือกโปรตีนของไวรัสโควิด ตัวที่เป็นมงกุฎ เราก็จะหาตัวที่ยับยั้งไวรัส อีกสองเดือนข้างหน้าจะได้คลังแอนติบอดีครบ จากนั้นทดลองในสัตว์และคน ถ้ามีเงินสนับสนุนคงได้ทดลองในคน จึงจะสามารถผลิตออกมาเป็นยา ซึ่งขั้นตอนเยอะมาก"

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.พงศ์ราม รามสูต อธิบายต่อว่า งานวิจัยนี้แม้จะใช้พลาสมาที่ได้จากผู้ป่วยโควิด 19 ที่หายดีแล้ว แต่เป็นการใช้คนละส่วน โดยนายแพทย์ยงจะใช้ส่วนที่เป็นน้ำเลือด ส่วนยาชีวภาพจะใช้แอนติบอดีที่เป็นเม็ดเลือดขาว  

“มีการนำพลาสมา คือ น้ำเหลืองหรือน้ำเลือดของผู้ป่วยที่หายจากไวรัสโควิดมาใช้ เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันที่หลากหลาย บางตัวก็ยับยั้งได้ บางตัวก็ไม่ได้ เราต้องเลือกตัวที่ยับยั้งได้มากที่สุดนำมารักษาคนป่วยไวรัสโควิด

ช่วงที่อาจารย์ยงเริ่มนำพลาสมามาใช้ อาจารย์ได้จากผู้ป่วย 8 คน ตอนนั้นได้น้อยมาก อาจารย์ใช้ส่วนที่เป็นน้ำเลือด ส่วนที่เป็นแอนติบอดีเม็ดเลือดขาว ทางเราได้นำมาใช้ในโครงการนี้ เราจะได้สารภูมิคุ้มกันจากผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วรวมๆ 50 ราย โดยใช้วิธีพันธุวิศวกรรมสร้างคลังแอนติบอดีร้อยล้านตัว อีกสองเดือน( มิถุนายน-กรกฎาคม) ก็ได้ครบแล้ว

จากนั้นคัดเลือกว่าตัวที่สามารถจับกับโปรตีนผิวที่เป็นมงกุฎของโควิด แล้วนำไปทดสอบกับเชื้อไวรัสว่า ตัวไหนสามารถยับยั้งเชื้อได้ เลือกตัวที่ยับยั้งได้สูงที่สุดคือร้อยเปอร์เซ็นต์มาใช้เป็นยาชีวภาพ

ถ้าจะผลิตแบบอุตสาหกรรมให้คนทั้งโลก อาจารย์พงศ์รามบอกว่า การเลือกใช้วัคซีนและยาชีวภาพ คงทำได้ดีกว่าการใช้พลาสมา เนื่องจากพลาสมาจะใช้รักษาคนได้จำกัด ต้องนำมาจากคนที่หายป่วยจากไวรัสโควิด

“ถ้าพลาสมาของคนๆ นั้นมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็ใช้รักษาได้ หากต้องใช้ของคนนั้นๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมด และไม่สามารถผลิตแบบอุตสาหกรรม อีกอย่างพลาสมาที่ใช้ได้ ต้องมีความเข้มข้นแอนติบอดีสูง แต่ถ้าใช้แอนติบอดีไปจับเฉพาะตัวไวรัสโควิด โดยเอาเซลล์ไปสร้างในอาหารเลี้ยงเชื้อ ก็สามารถสร้างเยอะๆ ได้ ที่อเมริกาก็ทำแบบเดียวกับผม วิธีที่ผมทำคือ ต้องสร้างคลังแอนติบอดีเยอะๆ จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโชคและความเชี่ยวชาญ”

สุดท้ายกับคำถามที่ว่าว่า ยาชีวภาพต่างจากยาเคมีอย่างไร อาจารย์พงศ์รามให้ข้อมูลว่า ถ้ารักษาด้วยยาที่ผลิตจากสารสังเคราะห์หรือยาเคมี  คนไข้ต้องกินยาที่มีปริมาณความเข้มข้นมากพอที่จะจัดการกับเชื้อโรคได้ ส่วนยาชีวภาพ สามารถฉีดตรงไปถึงเป้าหมายที่เป็นเชื้อโรคได้เลย เพื่อเข้าไปล้อมรอบไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าเซลล์

 

20200405115245103

 

  • ยาชีวภาพ 

ทำมาจากสิ่งมีชีวิตและจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการผลิต โดยโครงสร้างของยาชีวภาพจะเป็นโปรตีนเป็นหลัก หรืออาจเป็นสารทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น แอนติบอดี และฮอร์โมนต่างๆ ตัวยาชีวภาพที่ใช้กันมานานและคุ้นเคยกันดี คือ อินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโกรท ฮอร์โมนช่วยเด็กแคระแกน

กระบวนการผลิตยาชีวภาพ มักจะได้มาจากการใช้จุลินทรีย์ และเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหล่านี้เป็นต้น จุลินทรีย์จะเป็นพวกแบคทีเรียหรือยีสต์ ที่พัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษ ผลิตสารที่เป็นยาชีวภาพที่เราต้องการได้ 

ทั้งนี้วิธีการพัฒนาจุลินทรีย์และเซลล์ต่างๆ มีหลายรูปแบบ เช่น การตัดต่อยีน หรือการสร้างแอนติบอดีแบบต่างๆ

  • ยาที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ 

มีต้นกำเนิดจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี หรือจากสารเคมี ที่ได้จากธรรมชาติ เช่น จากพืช หรือจุลินทรีย์ โดยยาสังเคราะห์ได้จากการสังเคราะห์ทั้ง 2 แบบ คือ สังเคราะห์จากห้องปฏิบัติการทั้งกระบวนการ และจากสารตั้งต้นสกัดจากธรรมชาติที่ถูกนำมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ดีขึ้น เช่น ออกฤทธิ์ดีขึ้น ลดความเป็นพิษ เป็นต้น โดยยาสารสังเคราะห์ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่มีโมเลกุลทางเคมีไม่ใหญ่มาก

หมายเหตุ : ยาชีวภาพและยาที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ ข้อมูลจาก :ดร. กัญญวิมว์ กีรติกรผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)