ทักษะบัณฑิตยุคใหม่กับการเรียน'อินเดียศึกษา'

ทักษะบัณฑิตยุคใหม่กับการเรียน'อินเดียศึกษา'

อีกการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใคร 'อินเดียศึกษา'เพื่อสร้างรากฐานการทำงานในอนาคตให้มีความสามารถ และความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ใครที่กำลังมองหาหลักสูตรการเรียนที่มีความเป็นอินเตอร์ แปลกใหม่ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา นอกจากรายวิชาที่น่าสนใจแล้ว อาจจะต้องพิจารณาให้ไกลถึงสิ่งที่โลกการทำงานต้องการในอนาคต นั่นก็คือ การมีความสามารถ และความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Multi-skill, Multi-cultural) ซึ่งเป็นสิ่งที่บัณฑิตยุคใหม่ต้องมี

หลักสูตรอินเดียศึกษา ของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่นับว่าเป็นความแปลกใหม่ในเมืองไทย เพื่อปั้นบัณฑิตให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศอินเดียอย่างลึกซึ้ง ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเครื่องการันตีว่าบัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรนี้จะมีความรู้ความสามารถในหลากหลายศาสตร์ รวมทั้งความเข้าใจในบริบทวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Multi-skill, Multi-cultural)

นันทิตา ดูเบย์ ศิษย์เก่าหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) มธเล่าว่า ปัจจุบันตนทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดหาทรัพยากร ในบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยทำหน้าที่ประสานงานกับสำนักงานในประเทศอินเดีย ซึ่งนับเป็นตำแหน่งงานที่หาคนไทยทำได้ยากมาก เพราะคนไทยน้อยคนที่สามารถใช้ภาษาฮินดีในระดับติดต่อสื่อสารได้

อีกทั้งต้องมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมอินเดียเป็นอย่างดี ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธลับในการทำงานร่วมกับชาวอินเดีย สิ่งเหล่านี้ได้จากการเรียนอินเดียศึกษา ไม่ได้เน้นการเรียนเฉพาะด้านภาษา แต่ยังเน้นด้านวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการเจรจาทางธุรกิจกับอินเดีย ทำให้ตนได้รับโอกาสการทำงานดีๆ ที่ไม่คาดคิด

 “ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คือการปรับตัว และรู้จักนำองค์ความรู้ในวิชาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ รวมถึงความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังเช่นประสบการณ์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนที่อินเดียเป็นเวลา 1 เทอม ทำให้เราเป็นที่ยอมรับในด้านความสามารถที่หลากหลายในโลกการทำงาน

เธอ เล่าต่อว่า ตอนนั้นคิดว่าการที่เรารู้เรื่องอินเดียอย่างลึกซึ้ง อาจจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในไทย แต่ตนได้ค้นพบว่ายังมีบริษัทข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในไทยอีกมาก ที่มีส่วนงานที่ต้องประสานงานกับบริษัทในอินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีการดำเนินธุรกิจกับทั่วโลก ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต้องการผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอินเดียอย่างลึกซึ้ง

ในขณะที่ ประเทศไทยยังมีผู้ที่รู้ลึก รู้จริงเกี่ยวกับอินเดีย และสามารถสื่อสารภาษาฮินดีได้น้อยมาก การได้เรียนครอบคลุมในทุกมิติของอินเดีย อีกทั้งประสบการณ์แลกเปลี่ยนที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา 1 เทอม เป็นเครื่องยืนยันว่าเราผ่านการใช้ชีวิตและกระบวนการ ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าอยู่กับคนอินเดียได้ ก็สามารถอยู่กับคนทั้งโลกได้”  

 ด้านศิษย์เก่าที่เลือกเรียนภาษาฮินดีเพิ่มเติมที่ประเทศอินเดีย ก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริงอย่างศศิกานต์ พ่วงรัก บอกว่า ตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าอนาคตจะศึกษาต่อปริญญาโททางด้านภาษาฮินดีศาสตร์ ณ ประเทศอินเดีย และตั้งใจกลับมาทำงานด้านการศึกษาภาษาฮินดี จึงเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจสมัครทุนฮินดีระยะสั้น ซึ่งเป็นทุนที่สนับสนุนโดยรัฐบาลอินเดีย ใช้เวลาในการเรียน 9 เดือน ที่ประเทศอินเดีย เพื่อเติมเต็มความรู้ภาษาฮินดีให้พร้อมศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการซึมซับประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศอินเดียเพิ่มเติม

 

ประสบการณ์แลกเปลี่ยนที่อินเดีย (8)

 

นอกจากนี้ เธอยังตั้งใจทำหน้าที่เผยแพร่แง่มุมสุดอันซีนในอินเดีย ผ่านการเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อินเดี่ยนแลนด์ แดนมหัศจรรย์” ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตประจำวันที่มีทั้งเรื่องสนุก ลุ้น ตื่นเต้นในอินเดีย หรือจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มี ‘หิมะตก’ ที่หลายคนคาดไม่ถึง ทั้งหมดนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว และสร้างความเข้าใจอินเดียในมุมมองใหม่ๆ ให้แก่คนไทย ว่าอินเดียยังมีอะไรที่น่าสนใจให้ค้นหาอีกมาก

"การเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Multi-Cultural) ของอินเดีย ทำให้เราเป็นคนที่มีมุมมองที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้มากขึ้น รวมถึงสามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้ อินเดียศึกษา ยังเป็นอีกอาณาบริเวณศึกษาที่ยังไม่ ‘Mass’ ในเมืองไทย หรือเรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ที่คนไทยจำนวนมากยังไม่ค้นพบ ยิ่งเรารู้จักอินเดียอย่างลึกซึ้งก่อนใคร ก็ยิ่งคว้าโอกาสที่มากมายได้ก่อนคนอื่น” ศศิกานต์ กล่าวทิ้งท้าย

ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.pbic.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊ก facebook.com/PBIC.TU