‘ช้างไทย’ ผู้ประสบภัยโควิด-19

‘ช้างไทย’ ผู้ประสบภัยโควิด-19

หลังปางช้างทั่วประเทศต้องปิดตัวลงกะทันหัน ควาญช้างขาดรายได้ ส่วนช้างก็เริ่มขาดอาหารปะทังชีวิต

 

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบกับคน ทว่ายังส่งผลกระทบต่อสัตว์ร่วมโลกอีกด้วย แม้จะยังไม่มีรายงานออกมาชัดเจนเรื่องการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงสู่คน แต่ในแง่ของการดำรงชีวิต อาหารที่ขาดแคลน กลายเป็นประเด็นหลักๆ ที่สัตว์ต่างได้รับผลกระทบ รวมถึงช้างและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย

ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเห็นข่าวเกี่ยวกับช้างไทยในวิกฤตโควิด-19 กันมาบ้างแล้ว ปางช้างหลายแห่งเปิดรับบริจาค เพื่อนำเงินเป็นค่าอาหารสำหรับช้าง เนื่องจากขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เคยหลั่งไหลเข้ามาก่อนหน้าที่โควิด-19 จะมาเยือน

จากสถิติในประเทศไทยมีช้างเลี้ยงกว่า 3,700 เชือก ตามที่จดทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ หรือที่เรียกว่าขึ้นทะเบียนตั๋วรูปพรรณ การปล่อยช้างเลี้ยงเข้าป่าจึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และช้างเลี้ยงไม่สามารถหาอาหารในป่าได้เอง เพราะเคยชินกับการให้อาหารของควาญช้างเสียแล้ว ประกอบกับทั้งไฟป่าและภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณอาหารในป่าไม่เพียงพอที่จะรองรับช้างทั้งหมดพร้อมๆ กันได้ เท่ากับว่าช้างไทยไม่ต่ำกว่า 3,000 เชือกกำลังต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารในวิกฤตนี้

 

376188

 

ช้างอยู่อย่างไรในวิกฤตโควิด-19

หลังจากโรคโควิด-19 เริ่มขยายวงกว้าง และพ.ร.ก. ฉุกเฉินถูกนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดนี้ ปางช้างทั่วประเทศไทยเริ่มทยอยปิดกิจการชั่วคราว ควาญที่นำช้างมาทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มพาช้างกลับถิ่น แม้ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร หรือบางแห่งอาจถึงขั้นปิดถาวร เพราะไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรมหันตภัยนี้จะพ้นไปเสียที

แสงเดือน ชัยเลิศ เจ้าของศูนย์บริบาลช้าง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อช้างมากว่า 30 ปี นอกจากช้างแล้ว ที่นี้ยังเป็นแหล่งช่วยเหลือทุกชีวิตที่เป็นเหยื่อการทารุณกรรมจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ปัจุบันมีช้างราวๆ 87 เชือก แมว หมา กระต่าย แพะ ม้า วัว ควาย หมูป่า รวมๆ แล้วกว่า 3,000 ชีวิต

เธอเล่าสู่กันฟังว่า แม้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะมีข้อยกเว้นสำหรับรถขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภคให้สามารถเดินทางได้ แต่บางพื้นที่กลับมีความยากลำบากในการเคลื่อนย้าย พี่เล็กยกตัวอย่างที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีช้างมากกว่าสองร้อยเชือก คนเลี้ยงช้างส่วนใหญ่ก่อนหน้านั้นต้องออกมาขนอาหารช้างจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น พังงา กระบี่ เพราะอาหารบนเกาะภูเก็ตไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงช้างจำนวนมาก แต่การประกาศเคอร์ฟิวในแต่ละพื้นที่ของภูเก็ต กลับทำให้การขนส่งอาหารเป็นไปด้วยความยากลำบาก การจะขนส่งอาหารแต่ละครั้ง ต้องขอออกใบอนุญาตทุกวัน หรือทุก 48 ชั่วโมง จากปศุสัตว์ในแต่ละพื้นที่

 

10

 แสงเดือน ชัยเลิศ

อีกปัญหาที่สร้างความหนักใจให้ก็คือ เธอมีคลินิกชุมชนสำหรับรักษาสัตว์ฟรีที่วันนี้ต้องปิดให้บริการ แต่ก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะช่วยเหลือสัตว์ เพราะได้เปลี่ยนคลินิกที่ว่าเป็นหน่วยเคลื่อนที่ รักษาถึงที่เมื่อต้องการความช่วยเหลือ แต่ยังไม่ทันเริ่มก็ต้องเจออุปสรรคอีกระลอก

“เราตั้งทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ แต่กลับกลายเป็นว่าบางพื้นที่เราไม่สามารถเข้าไปได้ ทั้งๆ ที่หมากำลังป่วย หรือวัวกำลังท้องอืด เพราะเกรงว่าจะนำเชื้อเข้าไปแพร่ในพื้นที่นั้น ภาครัฐไม่มีอะไรมารองรับสำหรับทีมสัตวแพทย์เลย ตอนนี้บุคคลที่ยกเว้นก็คือ บุคลากรทางการแพทย์ แต่ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ด้วย ทำให้สัตว์ถูกมองข้าม”

ในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่ง แสงเดือนต้องพูดกับพนักงานว่า ขอเก็บเงินส่วนที่เหลือไว้ก่อน เพราะมีสัตว์อีก 3,000 กว่าชีวิตที่อยู่ในการดูแล ถ้าพนักงานคนไหนไม่มีเงินกินข้าว ก็ให้มาช่วยตัดหญ้าหาอาหารให้ช้าง เพื่อแลกกับข้าวแต่ละมื้อ

“เราเองก็ยอมรับว่าต้องเลย์เอาท์พนักงานออกเกินครึ่ง (หลายร้อยคน) และให้ทำงาน 15 วันบ้าง เพราะเราก็ยังไม่รู้อนาคตตัวเองเลย ไม่มีเงินจ้างพนักงานได้ทั้งหมด และยังคงต้องออกไปตัดหญ้าให้ช้างกินอยู่ทุกวัน ณ ตอนนี้ยังพอมีหญ้าให้กินอยู่ แต่ถ้าเกิน 3 เดือนไปแล้ว ก็ต้องมาคิดว่าจะมีทางออกไหนสำหรับช้างได้บ้าง ส่วนเงินที่มีคนบริจาคเข้ามายังมูลนิธิ เราก็จะแจกจ่ายไปยังปางช้างที่ขอเข้ามา คิดว่าอยู่ได้ในเดือนสองเดือนนี้ แต่ก็เป็นอะไรสาหัสนะ ไม่รู้ว่ารัฐรับรู้เรื่องนี้หรือเปล่า”

  7

 

นักท่องเที่ยวหาย รายได้หด

ข่าวการปิดสายการบินระหว่างเมืองหรือระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมานั้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไป 8.3 ล้านคน สูญรายได้กว่า 4.1 แสนล้านบาท หรือ 2.4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ส่งผลให้มีผู้ว่างงานจากภาคการท่องเที่ยวกว่า 2 แสนตำแหน่ง เช่นนั้นแล้วหากไม่มีนักท่องเที่ยวซึ่งเสมือนรายได้หลักของช้าง ปางช้างหลายแห่ง รวมถึงธุรกิจโฮมสเตย์ โรงแรมต่างๆ และพนักงานในภาคการท่องเที่ยวย่อมได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

และแม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสัตว์ จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ แต่ในยามวิกฤต สัตว์เหล่านั้นกลับไม่ได้รับสวัสดิภาพใดๆ

“ต้องยอมรับว่า ถ้าเราขายสินค้าภาคเกษตรไม่ได้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี่เองที่จะมาช่วยพยุงให้นำเงินตราเข้าประเทศ ไม่ต้องบอกก็พอรู้ว่าคนทำธุรกิจเช่นนี้ล้มระเนระนาดกันขนาดไหน ที่ต้องตกงานทันทีก็คือพนักงานบริการ พวกทัวร์ ไกด์ พนังงานบุ๊กกิ้ง คนขับรถ ความช่วยเหลือที่รัฐประกาศว่าจะช่วยก็ยังไม่ชัดเจนและแน่นอนว่าไม่ทั่วถึง และในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยตรง เรายังไม่เห็นความชัดเจนที่จะช่วยเหลือ” แสงเดือนแสดงความเห็น

ทั้งนี้ธุรกิจปางช้าง มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ซึ่งธุรกิจปางช้างใหญ่ๆ ที่มีสายป่านยาว ในระยะ 3 เดือนอาจไม่เดือดร้อนนัก แต่ที่กระทบหนักก็คือปางช้างเล็กๆ ที่เจ้าของช้างนำช้างหลายๆ ตัวมารวมกันแล้วเช่าที่ดิน เปิดเป็นธุรกิจเล็กๆ และกลุ่มที่นำช้างไปให้เจ้าของปางช้างเช่า เพราะปางช้างบางแห่งไม่ได้มีช้างเป็นของตัวเอง แต่จะอาศัยเช่าช้างจากคนเลี้ยงช้าง ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ช้างก็ตกงาน ควาญช้างก็พลอยตกงานไปด้วย

แสงเดือนบอกว่า “หนึ่งเดือนแรกจากโควิด มีกลุ่มปางช้างและธุรกิจท่องเที่ยวบางแห่งติดต่อมาเพื่อจะขายธุรกิจให้กับทางมูลนิธิ ขายช้างให้บ้าง ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมตามปางช้าง ทำให้ได้เห็นความเดือดร้อนของพวกเขา บางแห่งเป็นรีสอร์ทด้วย มีทั้งหนี้สิน ไหนจะปากท้องของคนงานและช้างอีก”

เช่นเดียวกับที่ ‘บ้านเพราะช้าง’ กลุ่มช้างเลี้ยงตามวิถีชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่เกิดจากความตั้งใจอนุรักษ์ช้างและวิถีควาญช้าง เปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวที่รวมสองหมู่บ้านของคนเลี้ยงช้าง คือหมู่บ้านปูเต้อ และหมู่บ้านยะพอ ในอำเภอพบพระ จ. ตาก มีช้างทั้งหมด 28 เชือก

 

9

บ้านเพราะช้าง จ.ตาก

ตุหนุ-อดิศร พรไพรสณฑ์ คนเลี้ยงช้างวัย 28 ปี เอ่ยว่า โควิด-19 ทำรายได้หายไป ทั้งที่รายจ่ายยังคงมีอยู่... “ที่นี่เน้นการใช้ชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ วิถีชีวิตของคนกับช้าง วันนี้ต้องปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวชั่วคราว ก็ขาดรายได้ไปส่วนหนึ่ง แต่ยังมีเงินเก็บจากการขายข้าวโพดตามฤดูกาลอยู่ ซึ่งเป็นรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก”

ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น ตุหนุบอกว่าช้างหนึ่งตัวจะมีค่าอาหารประมาณ 1,000 บาทต่อวัน รวมค่าน้ำมันของควาญที่ต้องหาอาหารมาใช้ช้างกิน เพราะเขาไม่ได้เลี้ยงแค่ช้าง แต่เลี้ยงควาญช้างด้วย โดยปริมาณอาหารที่ช้างหนึ่งตัวกิน คือ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว นั่นหมายความว่าในแต่ละวันทั้งแสงเดือนและตุหนุต้องเตรียมอาหารสำหรับช้างที่ต้องดูแลในปริมาณมหาศาล ส่วนเรื่องยารักษาช้างที่เจ็บป่วย สำหรับที่บ้านเพราะช้าง ไม่น่าเป็นห่วงนัก ด้วยชาวปกาเกอะญอใช้สมุนไพรในการทำวิตามินรักษายามป่วยไข้อยู่แล้ว แต่จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อวัตถุดิบอื่นๆ ด้วย 

ตุหนุ เล่าต่อว่า “ทุกๆ วันจะนำช้างไปมัดไว้ในป่า และควาญก็จะคอยเทียวไปเทียวมาวันละ 3 รอบ เพื่อดูแลและให้อาหารช้าง เช้า กลางวัน เย็น อาหารที่ช้างกินก็จะเป็นกล้วย อ้อย และที่ปลูกเสริมคือ หญ้าเนเปียร์ ส่วนถ้าเป็นอาหารจากป่าก็จะเป็นพวกไผ่ เถาวัลย์”

แม้ที่บ้านเพราะช้างจะมีหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกเพิ่มสำหรับช้าง แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ซ้ำยังต้องเจอกับไฟป่าและภัยแล้ง เห็นทีอาหารที่เคยมีจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอย่างสมบูรณ์แบบ

“ตอนนี้ช้างแต่ละตัวก็แยกย้ายกันไป อยู่กับควาญช้างที่เลี้ยง เพราะเราไม่มีงานให้เขาทำ แต่ก็ยังดูแลกันเหมือนเดิม ทั้งเรื่องอาหารและยา เราเตรียมปลูกหญ้าให้เยอะขึ้น เมื่อโควิดหาย ช้างทั้ง 28 เชือกก็จะมารวมที่นี่ และเปิดรับนักท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้างอีกครั้ง”

 

1

 

อนาคตช้างไทยสู้ภัยโควิด-19

แสงเดือน ในฐานะมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ยังคอยอัพเดตสถานการณ์การช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และในส่วนของภาคประชาชนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Lek Chailert) อยู่เสมอ บ้างก็ช่วยเป็นเงิน บ้างก็ส่งผลไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้นำเงินบริจาคช่วยเหลือช้างภาคใต้จำนวน 243 เชือก จาก 817 เชือกทั่วประเทศ 

ในเขตภาคใต้ มูลนิธิได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์อนุรักษ์ช้างภูเก็ต เป็นตัวแทนภาคสนามในการติดต่อ จัดหาแหล่งอาหาร จัดสรรอาหารให้ช้าง ตรวจสอบพิจารณาในการช่วยเหลือช้างและเจ้าของช้างที่ต้องการความช่วยเหลือ

หลังจากมหันตภัยนี้ผ่านพ้นไป ชะตากรรมของช้างไทยจะเป็นไปอย่างไรนั้น แสงเดือนมองว่า มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องของการปฏิวัติชีวิตช้าง คือช้างอาจกลับสู่ป่า มุ่งหน้าเป็นแรงงานลากไม้เถื่อน ออกมาเดินหาเงินตามท้องถนน บนพื้นคอนกรีตอันร้อนระอุ อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่แล้ว ก่อนจะถูกนำเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือไม่เจ้าของช้างอาจถอดใจขายเปลี่ยนมือให้กับนายทุน

ในส่วนของแสงเดือนเอง เธอว่า... "ก็ต้องวางแผนเพื่อหาเงินมาเยียวยาทั้งคนและช้าง เราประสานงานไปต่างประเทศเพื่อที่จะขอขายสินค้า พวกงานฝีมือพวกกระเป๋าต่างๆ เพราะหลังจากนี้ต้องมีงานสัมมนาและอีเวนท์ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อรับมาตรการ เราเริ่มจากกลุ่มที่จัดอีเวนท์ใหญ่ๆ ในอเมริกา ซึ่งทางบริษัทช่วยรับสินค้าของเราเพื่อใช้ในงานอีเวนท์ต่างๆ แล้วก็ยังมีหนังสือภาพที่ทำขายอยู่ด้วย” 

ขณะนี้การจะหวังพึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคงเป็นเรื่องยาก จึงต้องมองหาลู่ทางอื่นๆ อย่างเช่นการขายสินค้า เพื่อความอยู่รอด