COVID 19 - PM 2.5 : พลิกวิกฤติเป็นโอกาส 'เชียงใหม่' Smart City

COVID 19 - PM 2.5 : พลิกวิกฤติเป็นโอกาส 'เชียงใหม่' Smart City

ฝุ่นควันเต็มเมือง ซ้ำเติมด้วยไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 'เชียงใหม่' จะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับนักท่องเที่ยวที่หายไป และคุณภาพชีวิตที่กำลังถดถอย

 

นับจากปี พ.ศ.1839 จนถึงวันนี้ก็ราว ๆ 700 กว่าปี ที่พญามังรายมีดำริให้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นบริเวณเชิงดอยสุเทพ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางทางการค้า และการปกครองของอาณาจักรล้านนา

ด้วยสภาพอากาศเย็นสบาย ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสมีน้ำใจโอบอ้อมอารี มีวิถีวัฒนธรรมที่งดงาม ยังไม่ต้องพูดถึงสถาปัตยกรรมล้านนาอันอ่อนช้อย เชียงใหม่จึงถูกกำหนดให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันดับต้นๆ ของประเทศ

และเมื่อประเทศไทยเปิดตัวเป็น ‘แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม’ ของโลก แน่นอนว่า ‘เชียงใหม่’ ก็คือ 1 ใน 5 ที่ถูกโปรโมทให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมเยือน

นับแต่นั้นมา การท่องเที่ยวก็นำรายได้ นำเม็ดเงินมาสู่เชียงใหม่อย่างเป็นกอบเป็นกำ เกิดธุรกิจท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันหลากหลายแขนง ตั้งแต่ที่พัก ร้านอาหาร รถโดยสาร รถเช่า บริษัททัวร์ ร้านขายของที่ระลึก ร้านซักผ้า และอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนที่ล้วนแต่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยว โดยข้อมูลปี 2562 ของสำนักงานท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 6 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท รายได้เหล่านี้มาจากการ ‘ขาย’ ทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้น

หากไล่ดูตามปฏิทิน เชียงใหม่แทบจะไม่ได้พักผ่อนแม้แต่ช่วงเวลาเดียว ...ในช่วงฤดูหนาว นักท่องเที่ยวต่างแห่แหนกันมาสัมผัสความหนาวเย็น ขณะที่ช่วงฤดูร้อน สงกรานต์เชียงใหม่ก็ติดอันดับโลก พอถึงฤดูฝน ป่าเขาและยอดดอยเปี่ยมเสน่ห์ หลายแห่งถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งถูกและผิดกฏหมาย ส่งท้ายด้วยลอยกระทงหรือ ‘ยี่เป็ง’ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ

จะเห็นว่า จากต้นปีจรดปลายปี เชียงใหม่แทบจะไม่ได้พัก เป็นอย่างนี้เรื่อยมานับตั้งแต่เชียงใหม่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองท่องเที่ยว

กระทั่งต้นปี 2563 เมื่อมีการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ซึ่งตรงกับช่วงพีคของการท่องเที่ยว จากความคึกคักของเมือง กลายเป็นความสงบเงียบ ตรอกซอกซอยที่เคยอัดแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวจากต่างแดนก็ตกอยู่ในความเงียบ รถราที่เคยขวักไขว่ ร้านอาหาร ที่พัก รถเช่า รวมไปถึงคลับบาร์ที่เคยมีนักท่องเที่ยวเดินเข้าออกอย่างคึกคัก ก็แทบจะร้างผู้คน

“ช่วงที่เกิดการระบาดของโรค มีการยกเลิกห้องพักแทบทุกวัน ที่พักแต่ละแห่งสูญเสียรายได้กันไปไม่น้อย” ป๊อป- รุจิพัฒน์ สุวรรณสัย ที่ปรึกษาชุมชนล่ามช้าง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ประกอบการด้านที่พักกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

รุจิพัฒน์บอกว่า จะว่าไปก็เป็นเรื่องดี เพราะเมืองจะได้พัก ได้ฟื้นตัว

“ตอนนี้เหมือนเป็นการปิดป่า เพื่อให้ป่ามันฟื้นตัว เราผ่านช่วงเวลาของความโลภกันมาเยอะ และทำให้เมืองบอบช้ำ ซึ่งถ้ามีการถอดบทเรียน ก็จะเห็นว่าการที่เราเน้นการท่องเที่ยวแบบนี้มันทำให้เมืองบอบช้ำขนาดไหน เราเน้นกลุ่มเป้าหมายทางการท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว ไม่เน้นหลากหลาย เราไม่เน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมของเมือง ซึ่งทีผ่านมาสัดส่วนรายได้ 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากการท่องเที่ยว เราควรจะลดตัวเลขลงและไปเพิ่ม productive ด้านอื่นที่ทำให้เมืองน่าอยู่”

 

S__33300608  

 

  • ไม่เน้นท่องเที่ยวแล้วเน้นอะไร?

หลายคนอาจมีคำถามแบบชวนทะเลาะในลักษณะนี้ แต่รุจิพัฒน์ชี้ว่า ประเด็นนี้ เขาเพียงคนเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด แต่ไอเดียจากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัยโครงการ ‘การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city)’ ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่มี ดร.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และกำลังลงพื้นที่รวบรวมคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะอยู่ในขณะนี้ คือการลุกขึ้นมากำหนดเป้าหมาย และทิศทางของเมืองเชียงใหม่ร่วมกันของทุกภาคส่วน

“ผมมองว่านับตั้งแต่สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมา เรายังไม่เคยออกมากำหนดเป้าหมายของเมืองร่วมกันเลย ทั้งๆ ที่หลายจังหวัดเริ่มมีการกำหนดเป้าหมายแล้ว เช่นที่จังหวัดนครสวรรค์บอกว่า จะเป็นเมืองที่มีระบบดูแลผู้สูงอายุที่ดีที่สุดในประเทศ ซึ่งเมื่อกำหนดเป้าหมายแบบนี้ เราก็จะมาร่วมกันออกแบบเมือง ออกแบบกิจกรรม กำหนดบทบาทของคนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายนั้นร่วมกัน”

รุจิพัฒน์ ยังเสนออีกว่า เชียงใหม่ต้องจัดวางตัวเองใหม่ ต้องไม่วางตัวเองไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับสองของประเทศไทย ต้องมองว่าเชียงใหม่เชื่อมกับระบบโลก วิธีมองแบบนี้จะให้ช่วยให้การกำหนดอนาคต หรือแม้กระทั่งการวางแผนการพัฒนาเมืองมีทิศทางมากขึ้น

“การวางตำแหน่งของตัวเองจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีกระบวนการและทิศทาง เคยมีคนถามว่า ถ้าเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคนจะจัดการอย่างไร ผมก็ลองถามในมุมกลับว่าถ้าเชียงใหม่ เหลือนักท่องเที่ยว 5 ล้านคนเราจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งตอนนี้มันเป็นไปแล้ว นักท่องเที่ยวเหลือไม่ถึง 5 ล้านแน่นอน และที่อยู่ก็คือกลุ่มตกค้างยังกลับไปประเทศไมได้ เพราะฉะนั้นการ positioning จะทำให้เราปรับตัวทันโลก ”

“จริง ๆ สถานการณ์โคโรน่าไวรัสมันทำให้เราช็อคอยู่ในเวทีโลก ปัญหาต่อมาก็คือเราไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน จนถึงตอนนี้เราไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ได้ เพราะปัญหามันไม่ใช่แค่ปัญหาของเชียงใหม่ แต่มันเป็นปัญหาที่เชื่อมกับโลก 

เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มาตั้งเป้าว่า อีก 5 – 10 ปีข้างหน้าโลกไปถึงไหน และเชียงใหม่จะเป็นอะไรของโลก จะอยู่ในหน้าที่ไหน คนในเชียงใหม่จะทำงานอะไร อยู่กินกันแบบไหน เราก็จะดีไซน์การจราจรผิด เพราะเราวิเคราะห์บนข้อมูลปัจจุบัน ถ้าเราบอกว่า เราต้องห่วงใยสิ่งแวดล้อม แต่คนต้องใช้รถ ต้องเดินทาง เราก็ต้องมาดีไซน์ระบบขนส่งให้มันเอื้อทั้งเรื่องการเดินทางและสิ่งแวดล้อม หรือต้องออกแบบการใช้ชีวิตทีต้องลดปริมาณคาร์บอนหรือลดการใช้ฟอสซิล เราจะทำกันอย่างไร ถ้าเราไม่ดูภาพแบบนี้เราก็ไม่รู้ว่าเราจะเดินไปทางไหน”

  S__33300610

 

  • Smart City ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่คือ ‘คน’

แม้การกำหนดเป้าหมายร่วมกันของคนเชียงใหม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไมได้ ดร.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ บอกว่า จากการร่วมประชุมเครือข่ายในช่วงที่ผ่าน หลายกลุ่มเริ่มเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และกำลังหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“ในกลุ่มจังหวัดที่ขับเคลื่อนเรื่อง smart city ทั้ง 5 จังหวัด ภาคประชาสังคมของเชียงใหม่มีความพร้อมมากที่สุด เพราะมีกลุ่มคนทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะมีกลุ่มเอกชนที่สนใจในการทำเรื่องพัฒนาเมือง กลุ่มองค์กรต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเชียงใหม่เป็นเมืองที่องค์กรพัฒนาเอกชนค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ปัญหาคือทำงานกันกระจัดกระจาย ไม่มีการพูดคุยหรือมาทำงานร่วมกัน”

ดร.ปิยะนุช ชี้ว่า ในกระบวนการขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็น Smart city ต้องประกอบไปด้วย 3 ภาคีหลักคือ เอกชน รัฐ และชุมชน สำหรับจังหวัดเชียงใหม่พบว่า องค์กรพัฒนาเอกชนค่อนข้างเข้มแข็ง และสามารถทำงานร่วมกับภาคชุมชนได้เป็นอย่างดี

“จากการทำงานวิจัยพบว่า การมีภาคี 2 ใน 3 จัดตั้งเป็นคณะทำงานก็สามารถส่งแรงขับเคลื่อนเมืองได้ แต่ต้องมาร่วมกันคิด หาความต้องการของเมืองให้ได้ก่อนว่าพื้นที่ต้องการอะไร ความเป็น smart city จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอะไร และการแก้ปัญหานั้นอาจเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้สะดวกสบายมากขึ้น ประชาชนยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ตัวความต้องการของเมือง ของประชาชน จึงจำเป็นและต้องมาจากหลายๆ ภาคส่วน ไม่ใช่เพียงจากกลุ่มแกนนำหรือตัวแทน 

จากนั้นไปดูวิสัยทัศน์ เป้าหมายของเมือง ดูจุดที่เป็นปัญหาของเมือง เมื่อเห็นช่องว่างระหว่างจุดที่อยากเป็น กับจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและปัญหา จึงหาวิธีในการลดช่องว่าง เพื่อไปถึงจุดหมายได้ดีที่สุด และเราจะปิดช่องว่างตรงนั้นอย่างไร ถ้าโดยการเอาเทคโนโลยีมาใช้เราต้องทำอะไรบ้าง เอาเงินทุนมาจากไหน ของเชียงใหม่ ถ้าภาคประชาชนรวมกลุ่มกันได้ แสดงเจตนารมณ์ วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ในท้ายที่สุดภาครัฐก็จะเข้ามาสนับสนุน”

“การรวมกันของภาคประชาสังคม กลุ่มต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่แรกๆ ของประเทศไทยที่มีการทำในรูปแบบที่ชัดเจนเป็น 'collaboration platform' ซึ่งมีรูปแบบการทำแบบนี้แล้วในต่างประเทศที่เป็น Smart city และก็คือการเป็น Smart People ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการวางแผนเมือง การกำหนดแนวทางอย่างชัดเจนให้กับภาครัฐ ระบุถึงความต้องการที่แท้จริงของภาคประชาชน”

ขณะที่ รุจิพัฒน์ เสริมว่า เชียงใหม่มีกลุ่มที่ทำงานด้านพัฒนาเมืองอยู่แล้วหลายกลุ่ม แต่ไม่อยู่ในเวทีเดียวกัน

“ที่ผ่านมาเราต่างคนต่างทำ บางคนก็ทำงานซ้ำกัน บางเรื่องมีคนทำถึง 10 กลุ่ม จริงๆ ทำ 2 กลุ่มก็พอ ที่เหลือไปทำเรื่องอื่น เช่น เรื่องการท่องเที่ยว เชียงใหม่ไม่เคยเข้ามาจัดการเรื่องการท่องเที่ยวเลยอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะมีกลุ่มทำอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำในแบบที่เป็นความต้องการของส่วนร่วม และเน้นหารายได้ที่ไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาเมือง ไม่เอื้อไม่เท่าไหร่ บางกลุ่มกลับทำในเรื่องที่เป็นอุปสรรค

สิ่งที่ผมกลัวก็คือ กลัวเหมือนกรุงเทพ คือไม่มีเป้าร่วม เป็นเมืองที่โตแบบสะเปะสะปะ และทุกวันนี้เราจะดึงกรุงเทพฯกลับมาเป็นอะไรก็ไม่ได้แล้ว ก็ต้องเป็นแบบนั้นต่อไป และถ้าเราไม่ทำอะไรกับเชียงใหม่ เราก็จะโตไปแบบนั้น คือการพัฒนาแบบแยกส่วน กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องวัฒนธรรมก็ทำกันไป กลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องเมืองมรดกโลกก็ทำของเขา กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำก็ทำไป”

 

S__33300611

 

อย่างไรก็ตาม แม้คอนเซ็ปต์ของ smart city คือการนำเอาเทคโนโลยีมาปิด GAP หรือ ‘ช่องว่าง’ เพื่อลดปัญหาการดำเนินชีวิตของคน กระนั้นก็ตาม ต่อให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดไหน หาก ‘ผู้ใช้’ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี เปรียบเหมือนเราใช้สมาร์ทโฟน แต่เราใช่เพียงรับสาย ก็ไม่มีประโยชน์ และไม่คุ้มกับการลงทุนด้านเทคโนโลยี

เหนืออื่นใด เทคโนโลยีนั้นต้องใช้สำหรับการแก้ไขหรือคลีคลายปัญหา ไม่ใช่เป็นภาระของเมือง

ซึ่งกระบวนการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่ความเป็น smart city ก็คำนึงถึงเรื่องนี้ นั่นจึงทำให้กระบวนการแรกคือการเข้าไปทำความเข้าใจกับ 'คน' และ 'กลุ่มคน'

“วิธีก็คือต้องเคลื่อนด้วยชุดความคิดใหม่ โดยที่เราต้องเอาคนรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยกับเราด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นคนกลุ่มน้อย และกลุ่มก็จะเล็กลงไปเรื่อยๆ เราก็จะกลายเป็นคนแก่หัวดื้อซึ่งซ้อนด้วยภาครัฐที่แก่กว่าเราและดื้อกว่าเรา และที่เราพยายามทำร่วมกับโครงการวิจัยคือ การสร้างเวทีเอาไว้ให้คนที่หลังจากรุ่นเราไปแล้วสามารถเข้ามาทำงานสานต่อได้" รุจิพัฒน์ ยืนยันหลักคิดในการขับเคลื่อน 'เชียงใหม่ Smart City'

"ผมเชื่อว่าคนเรามีศักยภาพ มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เพียงแต่ยังไม่มีเวทีตรงกลางให้คนเหล่านั้นได้เข้ามาแสดงความเห็น หรือแม้กระทั่งแสดงศักยภาพของตนเอง อย่างมีแบบแผน และกระบวนการ 

ที่สำคัญคืออย่างมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งถึงเวลานั้นความเป็น Smart City ก็จะเกิด”

 

S__33300613