'ล่มสลาย' ฮ่องกงในอนาคตอันใกล้?

'ล่มสลาย' ฮ่องกงในอนาคตอันใกล้?

ฮ่องกงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะคนใหม่ๆ ไม่มีใครผูกพันกับความเป็นจีนอีกแล้ว...

“ล่มสลาย” คือคำที่ใครๆ ต่างสรุป ว่าเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ฮ่องกงในอนาคตอันใกล้นี้

ความรุนแรงที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดการณ์เท่าไรนัก เพราะเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวพื้นๆ ที่ทุกๆ ม็อบทำกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหรับสปริงเมื่อ10ปีก่อน ม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดงในบ้านเรา ซึ่งทุกๆ ความเคลื่อนไหวตั้งธงไว้อยู่แล้วว่าจะให้ไปทางไหน ดังนั้นจึงกำหนดทิศทางเป็นรายวันไป ว่า “เอายังไงต่อ”

ที่ฮ่องกงก็เช่นกัน เริ่มจากการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วชวนกันออกไป flash mob หรือชุมนุมกันโดยไม่ได้นัดหมายสถานที่ เมื่อเห็นว่าวิธีนี้ไม่แรงพอ ก็เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ หันมาใช้ลูกหนักลูกชนเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นความรุนแรงลุกลาม

ถามว่าความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผลลัพธ์ที่ผู้ชุมนุมต้องการให้เกิดจริงหรือ คำตอบอาจจะยังไม่ชัด ณ บรรทัดนี้... แต่เราลองมาดูกันก่อน ว่ากว่าจะถึงวันนี้ได้นั้น ทำไมพวกเขาถึงออกมา

การชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง อาจจะมีฐานมาจากกรณีคดีอาชญากรรมคดีหนึ่ง เมื่อหนุ่มฮ่องกงพาภรรยาไปเที่ยวไต้หวัน แล้วก่อคดีฆาตกรรมฆ่าเมียตัวเอง เขาได้หลบหนีกลับฮ่องกง เมื่อกลับมา กฎหมายไม่สามารถเอาผิดเขาได้ เพราะเกิดขึ้นนอกอาณาเขตที่เงื้อมมือกฎหมายจะเอื้อมถึง ไต้หวันก็ขอตัวไปลงโทษไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

นี่จึงเป็นที่มา ให้ทางการฮ่องกงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่บังเอิญกฎหมายนี้ครอบคลุมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

ด้วยความรู้สึกที่ตัวเอง “ไม่ใช่จีน” ของฮ่องกงรุ่นใหม่ บวกกับความอัดอั้นทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ ทำให้มีการลุกฮือต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ จนเลยเถิดไปถึงขั้นการเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อกรุยทางสู่การ “ปลดปล่อย” ให้หลุดจากอ้อมอกของแผ่นดินใหญ่

เราท่านหรือคนทั่วไป มักทึกทักเอาเองว่า ฮ่องกงก็คือจีน และ คนฮ่องกงก็คือคนจีน แต่เมื่อไปถามฮ่องกงรุ่นใหม่แล้ว พวกเขาจะบอกว่าเขาคือชาวฮ่องกง เขาไม่มีอะไรที่เป็นจีนเลย

จากการสำรวจคร่าวๆ ตลอดระยะเวลาของการชุมชน พบว่า ผู้ชุมนุมในฮ่องกงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนวัยหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 30 ปี ขณะที่คนอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป มีไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ นั่นแสดงว่าคนที่ออกไปชุมนุมส่วนใหญ่ ลืมตาดูโลกหลังอังกฤษคืนเกาะให้กับจีน คนวัยนี้เกิดมาพร้อมกับ “หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่มีระบบเศรษฐกิจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนสูงกว่ายุคที่อังกฤษปกครอง

นักวิเคราะห์ต่างคาดเดาต่างๆ นานา ว่านี่คือช่องว่างทางความคิดของคนฮ่องกง พวกอายุมากคือคนที่ยังคงผูกติดอยู่กับรากเหง้าของความเป็นจีน ขณะที่คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้สึกอะไรแบบนั้นแล้ว

ดังนั้นความรัก ความภักดี ความภาคภูมิใจในความเป็นคนเชื้อชาติจีน แทบจะไม่หลงเหลืออยู่ ฉะนั้นคนรุ่นใหม่จึงไม่แยแสใดๆ ว่าฮ่องกงที่พวกเขาใช้เป็นที่ซุกหัวนอนนั้น มีความเป็นมาอย่างไร พวกเขาขอแค่ให้ได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างที่มันควรจะเป็น-ก็พอ

นั่น-เป็นเหตุผลถูกต้องที่คนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ตอบคำถามใครๆ ว่า “ทำไมเราต้องออกมา” ...จริงหรือ?

ไม่น่าใช่-เพราะความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความบ้าระห่ำของนักศึกษาที่รวมตัวกันอยู่ (อาจจะไม่มีมากแล้ว) คือความคับแค้น อุกอั่ง จ่อมจมอยู่กับความเหลื่อมล้ำแสนทุกข์เข็ญที่พวกเขาต้องเจอทุกวี่วัน-ต่างหาก

เมื่อไม่นานมานี้ อ็อกแฟมได้ออกรายงาน 60 หน้าซึ่งแนะนำให้รัฐบาลฮ่องกงจัดสรรงบประมาณปี 2020 เพิ่มเติม 36.7 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในความยากจน องค์กรการกุศลอย่างอ็อกแฟมกล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกกว้างที่สุดในรอบ 45 ปี

การวัดค่าความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนมักวัดจากค่าสัมประสิทธิ์ของ Gini (ดัชนีใช้วัดความเหลื่อมล้ำ โดยนิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้) จาก 0 ถึง 1 ถ้าวัดได้ 0 หมายถึงมีความเท่าเทียมกัน พบว่าในเดือนมิถุนายนปี 2018 ตัวเลขของฮ่องกงอยู่ที่ 0.539 สูงที่สุดในรอบ 45 ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 0.411 และสิงคโปร์ 0.4579

ในปี 2016 ค่าเฉลี่ยของรายได้ในครัวเรือนของกลุ่มคนรวยฮ่องกงอยู่ที่ 112,450 ดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็น 43.9 เท่าของกลุ่มคนรายได้ต่ำที่สุด ที่มีรายได้เฉลี่ยเพียง 2,560 ดอลลาร์ฮ่องกง และกลุ่มคนจนเหล่านี้ต้องทํางาน 3 ปี 8 เดือน เพื่อให้มีรายได้เท่ากับเศรษฐีที่ทํางานเพียงเดือนเดียว

ข้อมูลเมื่อปีก่อน ระบุอีกว่า เศรษฐี 21 คนแรกของฮ่องกงมีสินทรัพย์รวมกันเท่ากับเงินสํารองระหว่างประเทศของฮ่องกง คือ 1.83 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในจำนวนนี้มีอยู่ 5 รายแรกที่ได้เงินปันผลจากหุ้นเพียงอย่างเดียวถึง 23,600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง รายได้ดังกล่าวนี้ไม่ต้องเสียภาษี เพราะฮ่องกงไม่เก็บภาษีเงินปันผลจากหุ้น

ในรายงานของอ็อกแฟมยังระบุด้วยว่า ภาวะความเหลื่อมล้ำนี้ คนที่จะได้รับผลกระทบมีอยู่  6 กลุ่ม คือ ผู้พักอาศัยในห้องแบ่งเช่า แรงงานรายได้ต่ำ สตรี เด็ก คนชรา และชนกลุ่มน้อยต่างชาติ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์หรือที่พักอาศัย ต้องยอมรับว่ามีราคามหาโหดในระดับวิกฤตเลวร้ายที่สุดในโลก เพียงแค่ที่จอดรถยังขายกันในราคา 664,000 ดอลลาร์ (เกือบ20ล้านบาท)

เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงลิบ ค่าครองชีพก็มากจนหารายได้แทบจะไม่พอจ่าย ทั้งหลายทั้งปวงคือความรู้สึกอัดอั้น โดยเฉพาะนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะหางานทำ พวกเขารู้สึกว่าทำไมต้องมาทนกับอะไรแบบนี้ และยิ่งมองไม่เห็นหนทางความเท่าเทียม หากจะให้รัฐบาลจีนเข้ามาปัดกวาดก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลจากปักกิ่งเองนั่นแหละที่เกื้อหนุนให้กลุ่มเศรษฐีไม่กี่คน เข้ามากอบโกย เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องย้ายทุนไปที่อื่น

ในเมื่อไม่มีห้องพักที่อบอุ่น ไม่มีเงินกินเงินใช้มากพอ หรืออาหารดีๆ ถ้าจะกินก็ต้องซื้อด้วยเงินแพงๆ ครั้นจะทำงานเพื่อหารายได้เยอะๆ ก็หาได้ลำบาก สิ่งเหล่านี้คือคนฮ่องกงรุ่นใหม่ต้องเผชิญ

ไม่แปลกถ้าฮ่องกงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะคนใหม่ๆ ไม่มีใครผูกพันกับความเป็นจีนอีกแล้ว... ถ้าจะล่มสลายก็ปล่อยให้มันเป็นไป