หมอชายขอบ กับคนไข้ชายแดน

หมอชายขอบ  กับคนไข้ชายแดน

“หยุดยิงก่อน หมอจะเข้าไป” นี่คือภาระกิจส่วนหนึ่งของหมอพยาบาลโรงพยาบาลอุ้มผาง ต้องข้ามชายแดนไปรักษาคนไข้ที่พม่า

“ไม่ว่าจะคนไทยยากจนบนที่ราบสูง กะเหรี่ยง เมียนมา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หากไม่มีใครรักษาก็ตาย เมื่อมาโรงพยาบาลไม่มีเงิน หมอก็ต้องรักษา”  คุณหมอวรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก กล่าวในงาน The Givers Network 2019 

 

ภาพที่เห็นจนเจนตาสำหรับคนที่นั่น ก็คือ แม่อุ้มลูกฝ่าสายหมอกบางๆ ขึ้นเนินเขาเตี้ยๆ มาหาหมอที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ที่พึ่งยามยากของคนชายขอบและคนยากจน 

หากวันไหนพวกเขามาหาหมอแล้วไม่มีเงิน บางครั้งก็หอบผักผลไม้มาเป็นสินน้ำใจให้แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

 

“เวลาเจ็บป่วย เมื่อก่อนก็หามคนไข้ลงมาจากดอย แต่ตอนนี้พอมีรถยนต์ก็พาคนไข้มาหาหมอได้ แต่ก็ยังมีปัญหาการคมนาคม ขนคนไข้ยากลำบาก เมื่อก่อนก็ขอช้างชาวบ้านมาช่วย ตอนนี้ก็มีเฮลิคอปเตอร์มารับบ้าง” คุณหมอวรวิทย์ กล่าวและว่า ตอนแรกคิดว่าจะเป็นหมอที่ อำเภออุ้มผางแค่ปีเดียว แต่ผ่านมา 28 ปีแล้ว

 

"ก็ไม่ได้คิดว่า เสียสละอะไรมากมาย ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แค่รู้สึกว่าเมื่อคนอื่นทุกข์ ก็ต้องช่วย ได้ทำประโยชน์ให้พวกเขา ก็มีความสุข”

  dda_2

-1-

แม้งบประมาณจะไม่เพียงพอในการบริหารจัดการโรงพยาบาลเล็กๆ ที่มีแพทย์ 6 คน พยาบาล 55 คน เตียงที่สามารถรองรับคนไข้ได้ 62 เตียง และยังมีปัญหาอุปกรณ์การแพทย์และยาไม่เพียงพอ จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาซ้ำซากที่ไม่มีใครแก้

 

คุณหมอวรวิทย์ บอกว่า โรงพยาบาลเรา คนไข้สามารถนอนได้เป็นร้อยๆ คน เพราะชาวบ้านนอนพื้นได้ ไม่มีปัญหา พวกเขาขอแค่มีชีวิตรอดจากการเจ็บป่วย เพราะส่วนใหญ่ยากจน

 

“ตอนผมเป็นแพทย์ใหม่ๆ ที่นั่นเป็นแชมป์มาลาเรีย ตอนนี้ไม่ใช่พื้นที่เราแล้ว และตอนปี 2539 มีปัญหาอหิวาตกโรค คนไข้ชายขอบเสียชีวิตเยอะมาก ทำให้ผมนึกสมัยพระเจ้าอู่ทองที่ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่กรุงศรีอยุธยา เพราะมีโรคห่าระบาด ผมจึงเข้าใจเรื่องคนสมัยก่อนย้ายเมืองหนีโรคระบาด”

 

ว่ากันว่า ความรู้เรื่องสาธารณสุขมีอยู่แล้ว ถ้ามีอหิวาตกโรคระบาด คุณหมอบอกว่า ต้องจัดการเรื่องส้วมให้ถูกสุขลักษณะก่อน เรื่องเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ ทำไปแล้ว ผลก็จะออกมาทันที

 

“ผมและทีมเข้าไปรณรงค์ทำส้วมในพื้นที่กะเหรี่ยงฝั่งไทย เชื้อโรคจะได้ไม่แพร่กระจาย ปี2558 กะเหรี่ยงฝั่งเมียนมาร์ตรงข้ามอำเภออุ้มผาง ยังไม่มีส้วม 61 หมู่บ้าน แปดพันกว่าคน ได้รับผลกระทบจากอหิวาตกโรค คาดว่าเสียชีวิตเยอะ เราก็เข้าไปควบคุมได้ภายในสามสัปดาห์”

 

ไม่ใช่รักษาแค่คนยากจน คนชายขอบฝั่งไทย คุณหมอและทีมงานต้องลงไปในพื้นที่เมียนมา บางครั้งชนกลุ่มน้อยกำลังสู้รบกันอยู่ คุณหมอก็จะบอกว่า หยุดยิงก่อน หมอจะเข้าไป เมื่อเดินทางไปถึง ก็ชวนมาถ่ายรูปร่วมกัน     

 

 "เมื่อ 100 ปีก่อนจะแบ่งเป็นสยามและพม่า พื้นที่ดั้งเดิมที่อุ้มผางเป็นของกะเหรี่ยงทั้งฝั่งไทยและเมียนมา ตอนผมเข้าไปในพื้นที่เพื่อจัดการกับปัญหามาลาเรียและอหิวาตกโรค สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อน คือ ลดการป่วย ทำส้วมและน้ำประปาภูเขา ซึ่งช่วยได้เยอะ กะเหรี่ยงฝั่งไทยบนพื้นที่สูง ทุกวันนี้ก็ยังคลอดลูกในป่าและมีปัญหาบาดทะยัก ผมมองว่า ชาวบ้านกะเหรี่ยง เมียนมา ม้ง ที่นั่นมีอะไรไม่เท่าคนอื่นเยอะ แล้วมันจะเป็นธรรมได้ยังไง ”

 

-2-

แม้การคลอดลูกบนดอยสูงจะมีหมอตำแยคอยช่วยเหลือ แต่หลายสิบปีที่แล้วพวกเขาไม่มีแม้กระทั่งมีดตัดสายสะดือ และไม่รู้จักการทำความสะอาด ทำให้เด็กติดเชื้อเยอะ ต้องมารักษาที่โรงพยาบาล

 

คุณหมอชายขอบก็เลยคิดวิธี เข้าไปสอนหมอตำแยชาวกะเหรี่ยงร้อยกว่าคนทำคลอด พร้อมทั้งแจกกระเป๋าพยาบาล

 

“เราทำมาหลายปีแล้ว เมื่อก่อนชาวบ้านใช้อะไรก็ได้ คมๆ ตัดสายสะดือ ปรากฎว่า โตมาเป็นบาดทะยัก ซึ่งค่าใช้จ่ายการรักษาสูง ผมก็เลยแจกกระเป๋าทำคลอดให้หมอตำแย อบรมให้ความรู้ ปัจจุบันในเขตอุ้มผางที่ผมดูแลไม่ตายแบบนางนากแล้ว ไม่มีโรคบาดทะยัก ”

 

สิ่งที่คุณหมอภูมิใจมากเป็นพิเศษ คือ กระเป๋าทำคลอดที่แจกหมอตำแยกะเหรี่ยงราคาแค่ 200 กว่าบาท โดยมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตง่ายๆ ที่ชั่งน้ำหนักเด็ก ผ้าอ้อม น้ำมันมะกอก สบู่ ใบมีดตัดสายสะดือราคา 3 บาท ฯลฯ

 

“แรกๆ ที่ผมมาเป็นหมอที่นี่ โรงพยาบาลยังเป็นที่พึ่งชาวบ้านไม่ได้ แต่โชคดีที่มีคนใจบุญอยากช่วยชาวบ้าน ผมก็รับหน้าที่เป็นคนกลาง มีคนบริจาคทั้งยา เงิน เครื่องมือแพทย์ และคนหลากหลายวิชาชีพทางสาธารณสุขก็เข้ามาช่วย เพราะชาวบ้านเยอะมากไม่มีหลักประกันสุขภาพ และเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์”

 

คุณหมอวรวิทย์และทีมงาน พยายามช่วยเหลือคนเหล่านั้น โดยไม่ได้แบ่งว่า นั่นคนไทย นี่กะเหรี่ยง โน้นพม่า แต่มองว่านี่คือมนุษย์

 

“ไม่ว่าคนไข้จะอยู่ฝั่งไหน ถ้าเข้าถึงบริการได้จะช่วยได้เยอะ ในอนาคตวัณโรคจะเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากติดต่อทางลมหายใจ ถ้าเป็นวัณโรคธรรมดา รักษา 6 เดือนจะใช้เงินแค่ 3,000-4,000 บาท ถ้าเป็นวัณโรคดื้อยาจะใช้เงินตั้งแต่สองแสนถึงล้านบาท ถ้าผมไม่รักษาคนเป็นวัณโรค แล้วปล่อยให้เขาขึ้นรถทัวร์หรือเครื่องบินจากอำเภอแม่สอดมาดอนเมือง เขาก็จะแพร่เชื้อวัณโรคให้คนอื่น เพราะวัณโรคไม่มีพรมแดน”

 

ว่ากันว่า ทุกสัปดาห์จะมีแพทย์เข้าไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงในเมียนมา เพื่อรักษาคนไข้ที่สุขศาลา เมื่อหลายปีที่แล้วสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้เพื่อเป็นสนามบริการสาธารณสุขที่อยู่ไกลกว่าสาธารณสุขชุมชน

 

“ตั้งแต่ปี 2550 ทีมงานแพทย์และพยาบาลออกหน่วยพื้นที่ทุกสัปดาห์ มีการตั้งเสาสัญญาณดาวเทียม สื่อสารกับหมอในโรงพยาบาลผ่านไลน์ คนไข้ป่วยเป็นอะไรก็ส่งคลิป ส่งรูปมาปรึกษา ก็หาอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาไปไว้ที่สุขศาลา แล้วสอนคนที่นั่น” คุณหมอเล่า 

 

-3-

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง การรับบริจาคยาเหลือใช้ทุกชนิดที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งดำเนินมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากพวกเขาต้องดูแลคนไข้กว่า 70,000 คน ในจำนวนนั้นมีคนไข้กว่า 30,000 คน ไม่มีสิทธิใดๆ เลย ทั้งๆ ที่มีตัวตน ยากจน ป่วยบ่อยและอยู่ห่างไกลความเจริญ

 

“ผมคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ยา ปรากฎว่า คนไทยทั้งประเทศทิ้งยาเหลือใช้ปีหนึ่งหลายพันล้านบาท ทิ้งไปก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ใคร ผมก็เลยประกาศขอรับบริจาคทรัพยากรส่วนนี้ไม่ต้องใช้เงิน เราเอามาคัด มีถุงผ้าใส่ยาให้คนไข้กลับบ้าน แล้วให้นำมาโรงพยาบาลด้วย เพื่อเช็คว่า กินยาถูกต้องไหม " คุณหมอชายขอบ เล่า

 

ปกติยาที่ใช้ในโรงพยาบาลอุ้มผางมีมูลค่าปีละ 24 ล้านบาท เป็นยาเม็ดจำนวน 15 ล้านบาท ยาฉีดและยาที่ชาวบ้านไม่มีประมาณ 9 ล้านบาท ส่วนยาที่มีคนบริจาคคิดเป็นมูลค่าปีละ 9 ล้านบาท และในปี 2562 คุณหมอให้ทีมงานสรุปเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา มียาเหลือใช้ที่บริจาคเข้ามามูลค่ารวม 13 ล้านบาท บางรายการมีเยอะ ก็จะส่งให้โรงพยาบาลอื่นๆ

 

“อยากให้แนวคิดนี้ไปสู่โรงพยาบาลชุมชน และอยากให้คนไข้เห็นความสำคัญของการรักษาโรค หากเป็นความดัน เบาหวาน ถ้าไม่กินยาเป็นประจำจะคุมอาการของโรคไม่ได้ ผมอยากชักชวนหลายๆ โรงพยาบาลรับบริจาคยาเก่าของคนไข้ แล้วจัดยาใหม่น้อยลง ก็ลดงบประมาณได้เยอะ เราทำแบบนี้มาสิบกว่าปีแล้ว เพราะโรงพยาบาลเราไม่ค่อยมีเงิน และเราก็อยากได้ทรัพยากรส่วนนี้”

 

  นี่คืออีกวิธีบริหารจัดการสำหรับโรงพยาบาลที่ขาดงบประมาณ โดยการใช้ทรัพยากรเหลือใช้ให้คุ้มค่า เนื่องจากยามีราคาแพง

 

“อยากให้คนทำความเข้าใจว่า ยาไม่จำเป็นต้องแช่เย็นทั้งหมด เก็บในอุณหภูมิห้องก็ได้ ถ้าไม่โดนแดด ตากฝน หรือหมดอายุ ก็ใช้ได้” คุณหมอวรวิทย์เล่า และตลอด28 ปีที่เป็นหมอที่โรงพยาบาลอุ้มผาง เขาไม่ได้แค่รักษาคนป่วย ยังเปิดโอกาสให้คนได้ทำบุญ

 

“เรายังมีปัญหาเด็กๆ ขาดสารอาหาร ผมอยากให้คนมาช่วยทำอาหารโปรตีนในพื้นที่ เด็กๆ ไอคิวไม่ดี ขาดไอโอดีน แม้จะมีคนช่วยบริจาคเกลือไอโอดีนมา 20 กว่าปี แต่เราก็ยังช่วยเด็กได้ไม่ดีนัก เพราะไม่ได้แค่ขาดไอโอดีน แต่ขาดโปรตีนด้วยมีทั้งเด็กไทยยากจนและเด็กกะเหรี่ยง ผมก็คุยกับอาจารย์หลายท่านว่าจะทำโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เด็กๆ จะได้กินไข่ และผมขอย้ำอีกว่า ขาดมากก็ควรจะได้มาก”

 

แม้ประโยคที่ว่า “ขาดมาก ก็ควรจะได้มาก” จะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศนี้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยอยากเป็นผู้ให้...

    ..............................

    DSC01544

 คุณหมอวรวิทย์