หนุมานผจญภัยในสืบมรรคา

หนุมานผจญภัยในสืบมรรคา

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมเปิดการแสดงโขน ตอน “สืบมรรคา” ยิ่งใหญ่ ครั้งแรกหลังยูเนสโกประกาศรับรองโขนไทย 6 พ.ย - 5 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

k3

รัก รบ ตลก มาครบรสสำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตอนสืบมรรคา (สืบ -มัน-คา) พร้อมเปิดการแสดงในวันที่ 6 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ยิ่งใหญ่ตระการด้วยเทคนิคและกระบวนท่าแพรวพราว

หลังจากมีเสียงเรียกร้องจากแฟนโขนศิลปาชีพฯว่าอยากชมฉากตลก สุรัตน์ จงดา ผู้เขียนบทและกำกับการแสดงจึงรวบรวมความบันเทิงหลากรสมาบรรจุไว้ใน ตอนสืบมรรคา ทีมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการผจญภัยของหนุมาน

“โขนที่ผ่านมามีทั้งสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ โศกรันทด ฉากที่ทุกคนรอคอยและเรียกเสียงฮาทุกครั้งคือ ตลกโขน ตอนพรหมาศ ปี 2558 ไม่มีฉากตลก ผู้ชมมาถามหน้าโรงว่าทำไมไม่มีตลก คราวนี้จึงมีทั้งตลก รบกับยักษ์ทอมบอย แถมด้วยอารมณ์รักแบบเจ้าชู้ยักษ์ของทศกัณฐ์” กล่าวได้ว่าจัดมากำนัลอย่างเต็มอิ่ม

“เรื่องย่อของสืบมรรคา คือ พระรามใช้ให้หนุมานไปสืบหาหนทางไปกรุงลงกา พร้อมกับ นำแหวนกับผ้าสไบไปแจ้งข่าวกับนางสีดา ภารกิจของหนุมานครั้งนี้จึงเป็นการผจญภัย ต้องเจอกับด่านนางผีเสื้อสมุทรที่รักษาท้องทะเล เมื่อเห็นหนุมาเหาะผ่านมาเลยจะกินหนุมาน มาดูกันว่าเราจะทำอย่างไรให้หนุมานเหาะเข้าปากนางผีเสื้อสมุทรผ่านลงมาที่ท้องได้”

ผู้กับการแสดงและเขียนบทกล่าวถึงโขนในตอนนี้ว่า จะมีตัวละครใหม่เช่น นางอังกาศตไลเสื้อเมืองลงกาผู้รักษาด่านอากาศ เป็นยักษ์ผู้หญิงกิริยาเป็นทอมบอย ระหว่างสู้รบกันก็จะมีกระบวนท่าชวนขันที่หนุมานแอบจับนม จับก้น เรียกเสียงฮาได้ นอกจากนี้ยังมีฉากหนุมานสู้รับกับสหัสกุมาร ลูกชายของทศกัณฐ์จำนวนหนึ่งพันคน รบกับอินทรชิตจนถูกจับ

“ฉากตลกจะอยู่ในตอนประหารหนุมาน” อาจารย์สุรัตน์กล่าว

a2

ท่ารำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน

ในส่วนของฉากรัก ในตอนนี้เราจะได้เห็นกระบวนท่ารำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน อันแฝงไปด้วยความกรุ้มกริ่ม อันเป็นที่มาของสำนวน เจ้าชู้ยักษ์

ประเมษฐ์ บุญยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโส อธิบายถึงที่มาของฉากรักนี้ว่าเกิดจากทศกัณฐ์ที่เฝ้าคิดถึงนางสีดา พอสบโอกาสว่างจากราชการจึงแต่งกายงดงามจัดขบวนแห่ไปยังสวนขวัญเพื่อเกี้ยวนางสีดา

“ทศกัณฐ์ลักนางสีดามาไว้ในอุทยาน ให้นางยักษิณีเฝ้าอยู่ ไม่ได้นำไปไว้ในปราสาทราชวัง เพราะตอนนั้นมีนางมณโฑกับนางกาลอัคคี เป็นมเหสี ทศกัณฐ์มีความคิดถึงจึงแต่งเนื้อแต่งตัวสวยงามมีผ้าห้อยไหล่แดงฉาน ย้อมด้วยดอกคำแสดกับเงาะจะออกมาเป็นสีแดง

ทศกัณฐ์เวลาไปสวนจะไปในเวลากลางคืน เพราะฉะนั้นจึงมีคนถือโคม ดังนั้นในขบวนแห่จึงไม่มีอาวุธ แต่มีครื่องสูง มีเครื่องราชูปโภคที่เป็นของใช้ส่วนตัวไปด้วย

องค์ความรู้เหล่านี้เราต้องศึกษาแล้วถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง ดูโขนจึงไม่ได้ดูให้สนุกสนานอย่างเดียวเราจะได้เห็นจารีตประเพณีต่างๆอยู่ในการแสดงโขนด้วย” อาจารย์ประเมษฐ์ กล่าว

“การแสดงโขนแต่ละตอนจะมีความพิเศษ ตอนนี้ก็เช่นกันนักแสดงจะสวมหัวโขนทศกัณฐ์หน้าสีทอง ถือเป็นหัวโขนที่เป็นศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม โดยเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ซึ่งตกทอดมายังกรมมหรสพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตามลำดับ

โดยครูอร่าม อินทรนัฎ ได้นำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง และแสดงให้เห็นถึงทศกัณฐ์ที่อารมณ์ดี หน้าตาผ่องใส รวมทั้งกระบวนท่ารำต่าง ๆ ในการแสดงโขนครั้งนี้ที่เชื่อกันว่า สืบทอดมาจากกรมมหรสพในรัชกาลที่ 6 คุณครูอร่าม ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในกรมศิลปากร ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ และนำมาถ่ายทอดมาสู่รุ่นครูต่าง ๆ ถือเป็นกระบวนท่าที่รักษา และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น”

k4

วัชรวัน ธนพัฒน์ ผู้รับบททศกัณฐ์ กล่าวถึงกระบวนท่ารำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนว่า

"แม้ชีวิตการทำงานจะอยู่ในงานการแสดงและการสอนโขนยักษ์ มานานหลายปีแล้ว แต่บทฉุยฉายทศกัณฐ์ ในฉากทศกัณฐ์ลงสวน เป็นท่ารำที่ยาก และไม่ค่อยได้แสดงบ่อยนัก

ในส่วนของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ทศกัณฐ์ลงสวนก็เพิ่งมีบทนี้ครั้งแรกในตอน สืบมรรคา ซึ่งผมเองยังต้องกลับมาฝึกซ้อมอย่างจริงจังกับครูที่เป็นศิลปินอาวุโส ระดับศิลปินแห่งชาติ ที่ช่วยแนะนำ ขัดเกลาการรำ ท่วงท่า อารมณ์ ได้แง่คิดและประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้น

จึงขอฝากถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกคน ให้มีความพยายามและใฝ่รู้อยู่เสมอ จดจำรายละเอียดกระบวนท่ารำจากครูอาจารย์ทุกท่านเป็นตัวอย่าง เมื่อถึงเวลาอันควร ความสามารถที่สั่งสมมาจะเป็นประสบการณ์ที่พร้อมขึ้นเวทีแสดง "

a3

นางอังกาศตไล

ท้ายนี้อาจารย์สุรัตน์ กล่าวถึงการแสดงโขน ตอน สืบมรรคา ว่า “เป็นตอนที่มีความสนุกสนาน หลากรส เต็มไปด้วยสีสัน มีการทำฉากเทคนิคให้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา แฟนตาซีมากกว่าเดิม สนุกสนานมากขึ้น และจะได้เห็นหนุมานผจญภัยที่ด่านต่าง ๆ จนถึงเมืองลงกา

รวมทั้งมีฉากไฮไลท์ เช่น ฉากแม่น้ำใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากเด่นของตอน โดยหนุมานและเหล่าวานร พบแม่น้ำใหญ่ หนุมานจึงนิรมิตกายให้ใหญ่โตเอาหางพาดต่างสะพานให้กองทัพวานรไต่ข้ามแม่น้ำมีตัวละครใหม่ ๆ อย่างนางอังกาศตไล ที่จะปรากฏเฉพาะในตอนนี้เท่านั้น

ตลอดจนท่วงท่าการรำได้มีการรื้อฟื้นท่ารำแม่บทเก่าแก่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยแสดงในการโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ครั้งใดมาก่อน โดยเชิญครูผู้เชี่ยวชาญระดับศิลปินแห่งชาติมาเป็นผู้ฝึกสอน ที่สำคัญการดำเนินเรื่องก็กระชับ ฉับไว และตื่นเต้น เข้ากับรสนิยมของผู้ชมรุ่นใหม่ รับรองว่าสนุกสนานชวนติดตาม แฟนโขนทุกคนไม่ควรพลาดชม”

รัก รบ ตลก มีครบรส

พบกับการผจญภัยของหนุมานได้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” 6 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซื้อบัตรเข้าชมได้แล้วที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com