ชีวิตในสวนอักษร 'สุภัตรา ภูมิประภาส'

ชีวิตในสวนอักษร 'สุภัตรา ภูมิประภาส'

มุมมองระหว่างบรรทัดของอดีตนักข่าวที่ก้าวสู่เส้นทางของนักแปล

ในยุคสมัยของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ข้อมูลมากมายล่องลอยอยู่ในอากาศ ตรงเข้าสู่ผู้รับสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต พฤติกรรมการอ่านยังคงมีอยู่แต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากหนังสือไปสู่หน้าจอมือถือ ข่าวสารสารพันไหลเวียนเข้ามาตลอดเวลาจนยากจะแยกแยะ แต่หากมีคนช่วยคัดสรรข้อมูลในฐานะ 'นักแปล' การอ่านหนังสือยังคงมีมนต์เสน่ห์ตราตรึงผู้อ่าน 

สุภัตรา ภูมิประภาส เป็นหนึ่งในนักแปลที่มีผลงานดึงดูดมิตรรักนักอ่านอย่างต่อเนื่อง ผลงาน 'ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง' เขียนโดยสุดา ชาห์ นักเขียนชาวอินเดีย  ได้รับการตีพิมพ์ถึง 12 ครั้ง ส่วนผลงานแปลเล่มอื่นๆ ของเธอ ทั้ง 'ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน' 'จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา' 'กองเรือหาคู่ : จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย' และล่าสุด 'อ่านสยามตามแอนนา การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ' แทบทุกเล่มได้รับการตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้แน่นอนว่าสุภัตราต้องผ่านการเป็น 'นักอ่าน' มาก่อน และเคยเป็น 'นักข่าว' จึงมีมุมมองการอ่านและแปลที่น่าสนใจ 

  • จากนักอ่านมาเป็นนักข่าวและนักแปลได้อย่างไร

 พี่เชื่อว่าคนที่มาทำงานในแวดวงนักเขียนหรือนักแปลต้องเป็นคนอ่านหนังสือ อย่างบ้านที่คนที่อยู่ด้วยตอนเล็กๆ เป็นคนชอบอ่านหนังสือหมดเลย เพียงแต่หนังสือแตกต่างกันไป คุณพ่อเช้ามาก็อ่านหนังสือพิมพ์ คุณแม่เป็นช่างเสื้ออ่านสกุลไทย ขวัญเรือน คุณตาก็อ่านเยอะมาก น้าชายเรียนวิศวะ จุฬาฯ ห้องน้าชายมีพล นิกร กิมหงวน เราโตมาในบรรยากาศที่ต้องมีหนังสือพิมพ์กับอาหารเช้า อ่านสี่แผ่นดินตั้งแต่ยังเล็กเรียนชั้นประถมด้วยซ้ำไป คุณพ่อก็รับชัยพฤกษ์ให้ เป็นสมาชิกหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก ก็ต้องขอบคุณที่ผู้ปกครองจัดการให้ อยู่โรงเรียนก็อ่านจากห้องสมุด เป็นคนที่ไม่เคยขาดหนังสืออ่านเลย นิยายก็อ่าน เช่าหนังสือจากร้านมาอ่านด้วย อ่านจนรู้ว่าบุคลิกของนางเอกทมยันตีเป็นไง ของสุวรรณีเป็นไง ของกฤษณา อโศกสินเป็นยังไง เช่าอ่านจนหมดร้าน

สิ่งที่เรามาทำงานในแวดวงนี้ได้ก็เพราะว่าเราอ่านหนังสือ แต่หนังสือที่่อ่านจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ เล็กๆ อ่านทุกอย่างที่มีในบ้าน อ่านนิยาย พอโตมาวรรณกรรมไทยกำลังฮิตเข้าสู่ยุคซีไรต์ ก็อ่านแทบทุกเล่ม จากนั้นก็อ่านหนังสือแปล ระหว่างนั้นก็อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษไปด้วย นี่ยังไม่รวมนิตยสารทุกฉบับที่มีในยุคของเรานะคะ พวกดิฉัน แพรว พลอยแกมเพชร ฯลฯ อ่านทุกอย่าง และแทบจะทุกคอลัมน์

  • งานข่าวมีส่วนช่วยส่งเสริมการอ่านอย่างไร 

การที่มาทำงานข่าวก็มีส่วนช่วย เพราะงานข่าวทำให้เราเจอคนหลากหลาย ไปสัมภาษณ์ แล้วก็ไปปิ๊งมูลนิธิโครงการตำราฯ(สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) ของอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) งานวิชาการตอนนั้นไม่ค่อยมีนักข่าวไป แต่นักข่าวที่ทำฟีเจอร์จะไป 

งานของมูลนิธิโครงการตำราฯ จะพูดถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในมุมที่สนุกมาก จำได้ว่าพอไปฟังบรรยายปุ๊บ เฮ้ย.. มันเปิดโลกเราเลย ทำให้เรารู้สึกว่าต้องไปตามค้นหา ตามอ่าน คือฟังเขาแล้วมันสนุกไง การเล่าเรื่องแบบนี้สนุกมาก ไม่ทำให้เราหลับ ลืมการเรียนในห้องเรียนไปเลย 

  • จากนักอ่านมาเป็นนักข่าวได้อย่างไร ทราบมาว่าไม่ได้เรียนสื่อสารมวลชนมาด้วย  

ช่วง 6 ตุลาฯ เคยช่วยงานเจเนอรัลเบ๊อยู่ที่ศูนย์นักเรียน ตอนนั้นศูนย์นักเรียนมีโครงการแลกเปลี่ยนหนังสือเรียน คุณพ่อเห็นชอบหนังสือก็พาไปช่วยงาน ก็ไปช่วยซ่อมหนังสือแล้วจัดชุดหนังสือให้กับคนที่ไม่มีเงินซื้อ  เป็นกิจกรรมนักเรียนช่วยเหลือสังคม ได้เห็นรุ่นพี่ทำกิจกรรมก็ถือว่าเปิดโลก จากที่อยู่แค่โรงเรียนคอนแวนต์

พี่ๆ เขาจะอ่านหนังสือหนักๆ ประเภทการเปลี่ยนแปลงสังคม ปรัชญาชาวบ้าน แด่หนุ่มสาว ในยุคนั้นมีพี่ยังอ่านนิยายอยู่ 

ช่วง 6 ตุลาฯ พี่โดนจับถูกขังที่บ้านปรานี ไม่รู้ข้อเท็จจริงอะไรเลย ออกมาก็ไม่รู้อะไรเลย ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่านักข่าวคืออะไร แต่เกิดความรู้สึกค้างคาเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริง 

เรื่องเรียนพอโดนจับคุณพ่อก็ไม่อยากให้เรียนมหาวิทยาลัยปิด จึีงไปเรียนที่หอการค้า มี 3 คณะ บริหาร เลขานุการ เศรษฐศาสตร์ ก็เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ทั้งที่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ระหว่างเรียนก็ทำกิจกรรม ได้รู้จักเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่น มาธรรมศาสตร์เห็นมีกำแพงข่าวก็กลับไปทำที่มหาวิทยาลัยเราบ้าง เขียนข่าว พาดหัว โดยไม่รู้ว่าตัวเองมีทักษะการเขียน 

 เรียนจบมีหนังสือพิมพ์รายวันเปิดใหม่ชื่อ 'เศรษฐกิจการเมือง' จึงมาสมัคร แจ้งว่าอยากทำข่าวการเมือง ได้คำตอบว่าเด็กจบใหม่อยากทำข่าวการเมืองกันทั้งนั้น แต่เนื่องจากพี่จบเศรษฐศาสตร์ จึงถูกส่งไปทำข่าวสายอุตสาหกรรมนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพนักข่าว 

  • จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางนักแปล

การสนใจประวัติศาสตร์พม่ามีต้นทุนมาจากเราทำกิจกรรมกับเพื่อนในปี 1988 ก็มีรากฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว จึงอินกับพม่า ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมก็เป็นผลจากการทำงานที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น 

งานแปลเริ่มต้นจากระหว่างที่อยู่เนชั่น เพื่อนนักกิจกรรมจัดงาน 60 ปี อองซาน ซูจี ที่ตอนนั้นถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน และเกิดความรุนแรงกับผู้หญิงในรัฐฉาน พี่สมชาย หอมละออ จึงขอให้ช่วยแปล 'ใบอนุญาตข่มขืน : บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน' เป็นงานแปลที่ทรมานมาก ขมขื่นจริงๆ แปลไปก็โมโหไป ก็ชวนเพ็ญนภา หงษ์ทอง เพื่อนจากเนชั่นมาช่วยแปล อีกปีหนึ่งแปลเรื่อง 'ข่มขืน-ขื่นขมในความเงียบ : เรื่องเล่าของผู้หญิงกะเหรี่ยง กับเรื่องราวของทหารพม่าและสงครามประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง' แปลร่วมกับ ทัศนีย์ ตนไพศาล และมาเป็นบรรณาธิการเรื่อง 'ออง ซาน ซูจี : 60 ปีแห่งตะวันหลังก้อนเมฆ บันทึกการต่อสู้ของผู้หญิงแห่งลุ่มน้ำอิระวดี-สาละวิน'

สุภัตรา2

  • ทำไมต้องเป็นพม่า ไม่ใช่ลาว หรือกัมพูชา

พี่สนใจพม่าในทุกบริบททั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษมาจากพม่า คุณพ่อเล่าว่าบรรพบุรุษเป็นเงี้ยวข้ามมา แล้วเราก็มีเพื่อนพม่า ช่วงแรกๆ เราจะอินกับกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากกว่า เพราะสอดคล้องกับงานที่ทำ ไม่ได้เรียนรู้เรื่องราชสำนัก แต่เนื่องจากตนเองเป็นคนแสวงหาหนังสืออ่านตลอดเวลา พอ The King in Exile เขียนโดยสุดา ชาห์ ออกมาก็สนใจอยากอ่าน เพราะอารมณ์ค้างคาจากการอ่านพม่าเสียเมือง อยากรู้ว่ายังไงต่อ เขาไปไหน ก็เคยอ่าน The Glass Palace ของ Amitav Ghosh แต่ก็เป็นนิยาย จึงอยากอ่าน The King in Exile ต้องขอร้องให้เพื่อนอินเดียซื้อมาให้แบบสดๆ ร้อนๆ ได้ปุ๊บก็อ่านทันที อ่านทั้งคืน อ่านตลอด 

ตอนนั้นเมื่อ 5 ปีก่อนมีเฟซบุ๊คแล้ว พี่อ่านไปก็จะโพสต์เล่าให้เพื่อนในเฟซอ่านเพราะตื่นเต้น สำนักพิมพ์จึงติดต่อขอลิขสิทธิ์แปล แต่คุณสุดาผู้เขียนไม่ได้ให้ทันที ต้องขอคุยกับคนแปลก่อน ถึงกับลงทุนบินมาเมืองไทยด้วยเงินตัวเอง ก็นัดคุยและรับประทานอาหารที่โรงแรมหรู พี่ก็เอาหนังสือเล่มนี้ไปด้วย บอกเขาว่าอ่านจบแล้วชอบมาก เขาก็คงปลื้มที่เราอ่านจบแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ทราบคำตอบอะไรทำให้เขาตัดสินใจเลือกให้เราแปล 

  • นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นงานแปลอาชีพ

เล่มนี้ตอนที่พี่อ่านภาษาอังกฤษ พี่คิดภาษาไทยไปเลย มันจะมีหนังสือแบบนี้ที่เรารู้สึกว่า คำนี้ถ้าแปลเป็นภาษาไทยเราจะแปลยังไง หนังสือบางเล่มเราก็อ่านไปเรื่อยๆ แต่บางเล่มจะคิดเป็นภาษาไทยไปเลย เหมือนมี hint ว่าเราจะได้แปลเรื่องนี้

  • แปลเล่มแรกก็เจองานยาก

เล่มนี้ยากในแง่ของราชาศัพท์ จริงๆ คุณสุดาบอกว่า ไม่ต้องใช้เลยเพราะไออยากให้รู้ว่าอังกฤษเอาอะไรไปจากเขาบ้าง รวมทั้งความเป็นกษัตริย์ แต่แปลไปแล้วมันไม่ได้ พี่ก็ต้องคุยกับเขาว่า เนื่องจากไทยมีกษัตริย์ ถ้าไม่ใช้ราชาศัพท์จะระคายหู ไม่ smooth แต่จะใช้ตามความเหมาะสม 

อีกเรื่องที่ยากคือศัพท์เฉพาะทั้งของพม่าและของอินเดีย ได้เชิญครูพม่าและเพื่อนอินเดียมาอ่านชื่อให้ฟัง ส่วนชื่อที่คนไทยรู้จักแล้วก็ใช้ตามที่คนไทยรู้จัก เช่น พระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัต 

  • จากพม่าสู่บริติชราช 

เล่มที่ 2 ราชินีศุยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน เล่มที่ 3 จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา ยังเป็นเรื่องพม่า เล่มที่ 4 กองเรือหาคู่ เป็นเรื่องของอินเดียยุคบริติชราช ส่วนตัวชอบอินเดียอยู่แล้ว รวมทั้งความเกี่ยวพันกันในยุคอาณานิคมอังกฤษ เล่มนี้ทำเรื่องขอสำนักพิมพ์แปล แต่ตอนแปลยากมาก ต้องค้นข้อมูลว่าคำๆ นี้เคยมีคนแปลไว้มั้ย ยากแม้กระทั่งการบรรยายเสื้อผ้า 

  • แล้วทำไมล่าสุดถึงแปลเรื่องไทย

สำนักพิมพ์ติดต่อไว้นานแล้วให้แปล 'อ่านสยามตามแอนนา' เป็นอีกเล่มที่แปลยากมาก เพราะภาษาแหม่มแอนนาโบราณ รวมทั้งในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ พี่ก็อยากให้เป็นแอนนา ไม่อยากให้เป็นเวอร์ชันสุภัตรา 

  • หลักการแปลหนังสือ

เคารพต้นฉบับ ต้นฉบับมายังไงก็ไปแบบนั้น จะไม่มีการเพิ่มเติมเสริมแต่ง ใช้สำนวนให้เป็นแบบนั้นจริงๆ 

  • แต่การแปลภาษาอังกฤษคงตามต้นฉบับบางครั้งจะทื่อหรือแข็ง

บางอันก็ต้องปล่อย แต่พี่ก็พยายามทำให้ smooth ที่สุด จะพยายามไม่ให้ขัดแย้งกับต้นฉบับ รวมทั้งอารมณ์

  • เคล็ดลับการแปล

แปลเล่มไหนก็ต้องเป็นคนนั้น แต่ตอนแปล จิบพม่า ผลงานของเอ็มม่า ลาร์คิน เขาเป็นนักข่าวเหมือนกัน มีบุคลิกในการหาข่าวเหมือนกัน และมีประสบการณ์ถูกตามคล้ายๆ กัน แปลไปก็นึกภาพออก จิบพม่าแปลง่ายมากสำหรับพี่  ทุกเล่มที่แปลพี่เคยอ่านมาก่อนแล้วทั้งนั้น 

  • ทำไมถึงชอบอ่านหนังสือที่นักข่าวเขียน 

ชอบเพราะลีลาการเล่าเรื่อง การหาข้อมูล เขาไม่มโน นักข่าวต้องมีลีลาการเล่าเรื่องที่กระชับ ชวนติดตาม พี่สังเกตว่านักข่าวต่างประเทศเขาจะทำข้อมูลเยอะมาก นักข่าวเล่าเรื่องสนุก 

  • การที่หนังสือถูกพิมพ์ซ้ำหลายครั้งแสดงว่าคนไทยตอบรับ ตรงกับที่นักแปลอยากบอกผู้อ่านหรือไม่ 

ก็ตรงใจระดับหนึ่งอย่างเล่ม ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง และ ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน ก็ได้สอดแทรกมุมใหม่เข้ามาในสิ่งที่คนไทยเชื่อไปแล้ว รวมทั้งตัวเราเมื่อยังเล็กด้วย เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชสำนักพม่า ประวัติศาสตร์บุคคล เหมือนกับเราเชื่อไปแล้ว แต่นี่คือการเปิดข้อมูลใหม่ เวลาคนอ่าน 2 เล่มนี้ก็จะได้เรียนรู้ในมุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน และมีความดราม่า เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย นี่ไม่ใช่นิยายแต่ยิ่งกว่านิยาย 

  • การอ่านของนักข่าวพิเศษตรงไหน 

ทุกเล่มมีประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดตลอดเวลา ที่คนไม่เคยรู้ รวมทั้งตัวพี่ก็ไม่เคยรู้มาก่อน คนอื่นอ่านอาจจะจบแค่นั้น แต่ด้วยความเป็นนักข่าว ก็จะสงสัยว่ายังไงต่อแล้วก็ตามไปอ่าน ตามไปหาต้นตอจนรู้ว่า ต้นตอที่ว่าพระนางศุภยาลัตเป็นคนร้ายกาจมาจาก Forty Years in Burma ของ John Ebenezer Marks ต้องตามไปจนสุดทาง

  • ถ้าเช่นนั้นงานแปลก็ไม่ต่างจากงานวิจัย ต้องหาหลักฐานจนถึงที่สุด

ใช่ ใช่ จริงๆ แล้วเราต้องแปลตามที่เขาเขียน แต่ถ้าเรื่องไหนคลาดเคลื่อนเราก็รู้ว่าคลาดเคลื่อน เราจะรู้ข้อเท็จจริง แต่โชคดีหนังสือทุกเล่มที่พี่แปลทุกคนทำข้อมูลมาดีมาก แต่เราก็อยากรู้ว่าข้อมูลมาจากไหน ยังไง ก็ตามไปถึงต้นทาง 

  • เคล็ดลับในการเล่นเฟซบุ๊คของนักแปล 

พี่เป็นคนที่ขายของอยู่ตลอดเวลา พี่ทำงานแล้วก็อยากให้คนอ่านได้อ่านงาน พี่โฆษณางานของตัวเองตลอด สำนักพิมพ์แปลหนังสือหลายปกเขาไม่มีเวลา เราเองเป็นคนทำงาน รู้ดีว่าตรงไหนขายได้ แต่จะไม่อัพเฟซจนคนเบื่อ จะโพสต์เมื่อได้ข้อมูลใหม่ๆ แต่ไม่โพสต์ข้อมูลยาว จะใช้เฟซบุ๊คสื่อสารกับคนที่สนใจเหมือนกัน และสื่อสารผลงานให้อยู่ในสายตา public ตลอดเวลา ปกหนังสือไม่ควรหายไปจากความทรงจำของคน 

ความเป็นนักข่าวช่วยให้เขียนสเตตัสน่าสนใจ มีเฮดไลน์ มีซับเฮด สั้นๆ ให้คนเข้ามาดู และทุกสเตตัสต้องมีรูปที่ตั้งใจถ่าย ไม่มีสเตตัสไหนที่ไม่มีรูป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนอ่านที่เข้ามาได้การรับรู้ใหม่ ใครอยากแชร์ก็แชร์ไป