แม่ทา GEN 2

แม่ทา GEN 2

เมื่อเมืองใหญ่ไม่ได้น่าอยู่สำหรับพวกเขา ต่างคนจึงต่างเก็บกระเป๋าหอบหิ้วความฝันกลับมารดน้ำพรวนดินที่บ้านเกิด

จากชุมชนที่ถูกหลงลืมเสียยิ่งกว่าเมืองผ่าน บรรพบุรุษคนตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแรงร่วมใจพลิกฟื้นจนปัจจุบันไม่น้อยหน้าใคร แถมยังรักษาไว้ซึ่งผืนป่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และมีเกษตรกรรมน้ำดีหล่อเลี้ยงชีวิตคนแม่ทาเอาไว้จากรุ่นสู่รุ่น

ขณะที่ความเจริญและระบอบทุนนิยมดึงคนจากบ้านเกิดเข้าสู่สายพานการผลิต เทคโนโลยีกลายเป็นดาบสองคมที่ให้ทั้งคุณแก่ชีวิตและให้โทษแก่จิตสำนึกของมนุษย์ อีกฝั่งหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับอุตสาหกรรมคือเกษตรกรรม วลีที่ว่า “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” หรือ “อาบเหงื่อต่างน้ำ” กลายเป็นความ 0.4 ในสายตาคนยุค 4.0

ผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินมานักต่อนัก ตั้งแต่ความล้มเหลวของแผนปฏิวัติเขียวปี พ.ศ.2504, ราคาผลผลิตตกต่ำทุกชนิด ทั้ง ยาสูบ ถั่วลิสง มะเขือเทศ ถั่วลันเตา ขิง ฯลฯ, เกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอีกสารพันปัญหา ทำให้ชาวแม่ทาล้มลุกคลุกคลานจนต้องหันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนควบคู่ไปกับรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพราะน้ำและป่าคือแหล่งอาหาร คือที่ทำกิน

ทว่าสิ่งที่น่าประหลาดใจคือทั้งที่ได้รับการฟื้นฟูจนกระทั่ง ป่าดี น้ำดี อาหารดี สังคมดี แต่ลูกหลานกลับทยอยย้ายหนีไปจากชุมชน คนรุ่นก่อนจึงพยายามหาทางดึงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ผ่านงานวิจัยที่กำลังก่อตัวด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือ สกว.เดิม

ระหว่างทางที่งานวิจัยยังไม่เริ่มต้น มีคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งพร้อมใจกันกลับถิ่นฐานบ้านเกิดโดยมิได้นัดหมาย มีเพียงเสียงหัวใจเรียกร้องว่าอยากกลับมาพัฒนาบ้านตัวเอง

“เราไม่อยากให้เรื่องเกษตรกรรมหายไปเรื่อยๆ จนเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งเหลือเกษตรกรรมแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ลูกหลานชาวฝรั่งเศสที่อยากทำเกษตรก็ทำไม่ได้แล้วเพราะไม่มีที่ทำกิน” มัทนา อภัยมูล สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออแกนิคและเป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เปิดเผย เพราะนับตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะผลิตกรรมการเกษตร เธอหอบความรู้กลับมาบ้านทันที แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรกรีนเนท มูลนิธิสายใยแผ่นดิน แต่ขอบข่ายงานยังเกี่ยวข้องกับการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องเมล็ดพันธุ์อินทรีย์

69034738_2466950206697110_6727817594872528896_o

ความรู้สึกหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิดถูกปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นพ่อ มัทนาเล่าว่าพ่อของเธอบอกเสมอว่าต้องรักที่ดินเท่าชีวิต เพราะที่ดินคือสิ่งสำคัญ ไม่มีใครไล่คุณออกไปไหนได้ตราบใดที่โฉนดยังอยู่ที่คุณ ไม่ได้อยู่ที่ธนาคาร

“เราต้องทำให้ลูกหลานรู้ว่าตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ต่อสู้กันมาเพื่อรักษาผืนดินมาจนถึงรุ่นนี้ คนรุ่นใหม่ต้องเห็นความสำคัญและมีแนวคิดที่จะพัฒนาสืบทอดต่อไป”

อาจเพราะทรัพยากรของที่นี่มีมากมาย หลายคนจึงโหยหาที่จะกลับมาซบอกแม่ทา อภิศักดิ์ กฎเพ็ญ เป็นอีกคนที่ดั้นด้นไปศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แล้วกลับบ้านทันทีเมื่อเรียนจบโดยไม่ได้ทำงานตรงกับสิ่งที่เรียนมาแต่อย่างใด ความตั้งใจกลับบ้านแบบนี้เขาเรียกว่า “Passion” (ความหลงใหล)

เขาบอกว่าคนในรุ่นเดียวกับเขามีความคิดทำนองนี้ และพยายามไขว่ขว้าที่จะได้กลับบ้านตลอด ประจวบเหมาะกับที่คนรุ่นก่อนหน้าสร้างฐานไว้อย่างมั่นคง พวกเขาต้องการกลับมาต่อยอด

“แต่เราไม่ได้อยู่ดีๆ ก็กลับมา เราเตรียมข้อมูลต่างๆ ไว้ ผ่านการบอกเล่า ผ่านการทำค่าย ทำกิจกรรมต่างๆ ให้สนุก จนได้ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ การจัดการทรัพยากร จนทำให้เรามั่นใจว่านี่แหละที่จะเลี้ยงชีพเราได้ ก็เลยกลับมากัน”

ถึงคนรุ่นก่อนจะวางรากฐานไว้อย่างดี แต่สิ่งที่กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่เล็งเห็นว่ายังเป็นช่องโหว่ คือ ขาดเรื่องเศรษฐกิจฐานราก โจทย์ของพวกเขาจึงทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างความยั่งยืนและสร้างรายได้ ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังลังเลได้มั่นใจว่ากลับบ้านมาแล้วพวกเขาจะไม่อดตาย

เกษตรกรหนุ่มเล่าว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออแกนิคมีเป้าหมายหลักคือต่อยอดเกษตรกรรมยั่งยืน ในกระบวนการผลิตแทบจะไม่ต้องไปแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว เพราะบรรพบุรุษปูทางไว้เสร็จสรรพ ส่วนที่พวกเขาจะรุกหนักคือ ‘การขาย’ และ ‘แปรรูป’

“ใครถนัดด้านไหนก็มาเรียนรู้ร่วมกัน ตอนนี้เหมือนกำลังเริ่มต้น ในยุคนี้เราต้องอาศัยองค์กรข้างนอกเข้ามาช่วยด้วย เพราะเราอาจไม่ได้มีองค์ความรู้บางเรื่อง เราจึงร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัย โดยคนทุกรุ่นก็ยังทำงานไปด้วยกัน พอมีทุนจากเอกชนมา เราก็จะปรึกษารุ่นผู้ใหญ่ ส่วนเราเป็นคนรุ่นใหม่ก็จะเป็นฝ่ายปฏิบัติการ หรืออย่างตอนนี้ที่ สกสว.เข้ามา แม้เราจะไม่ถนัดเรื่องเอกสารกันก็ตาม แต่ในเชิงธุรกิจก็ต้องวัดกันด้วยข้อมูลล้วนๆ”

ถึงหลายคนจะกลับบ้านมาเพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่จมปลักอยู่กับการงานอย่างคนเมือง หรือเข้าไปนั่งหมดพลังชีวิตไปกับระบบอุตสาหกรรม แต่ก็มีไม่น้อยที่เคยอกหักจากความเป็นมนุษย์เงินเดือน แม้สิ่งที่เรียนและเริ่มต้นทำงานมานั้นจะห่างไกลจากคำว่าเกษตรกรรมมากโข

69437351_2466950106697120_3590567714285944832_o

ปัจจุบัน สราวุธ วงศ์กาวิน ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรออแกนิคของชุมชนตำบลแม่ทา แต่ก่อนที่เขาจะมาเป็นหนึ่งในเกษตรกรเจเนอเรชั่นใหม่ เขาเคยมุ่งมั่นที่จะทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ จึงเลือกเรียนและเริ่มทำงานด้านนี้มาตลอด แต่แล้วก็ถึงวันที่หัวใจเกษตรกรร่ำร้อง จากงานที่เคยใฝ่ฝันกลายเป็นฝันร้าย สุดท้ายเขาเลือกหันหลังให้เมืองกรุงและมุ่งหน้ากลับบ้าน

ถึงจะกลับมาสูดไอดินกลิ่นหญ้า ทว่าสราวุธใช้สายตาของคนหนุ่มมองตลาดว่าถ้าไม่ปรับตัวตามกระแสผู้บริโภค ช่องทางการค้าก็อาจไม่สดใสนัก จึงเป็นที่มาของการรวบรวมผลผลิตอย่างเป็นระบบ แล้วกระจายสู่ที่ต่างๆ ทั้งตลาดไปจนถึงขึ้นห้าง

“ถึงเราจะเป็นลูกหลานชาวบ้าน แต่เราก็มาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ขายได้ เราอาศัยว่าทำด้วยใจ ผมจึงมองว่าไม่ใช่ข้อเสียเปรียบเมื่อเทียบกับคนที่จบการตลาดมา แต่มันคือเรื่องใจมากกว่าที่คุณจะซื้อผลผลิตของพ่อแม่พี่น้องคนในชุมชนของคุณเองกิโลกรัมละกี่บาท แล้วคุณจะขายได้กำไรเท่าไร การต่อรองของเราจึงแตกต่างจากพ่อค้าคนกลางโดยสิ้นเชิง เราจะต่อรองในมุมของเกษตรกรไปคุยกับเกษตรกร เรียกได้ว่าเราเป็นพ่อค้าคนกลางที่เป็นธรรม เช่นเราได้รับออเดอร์กะหล่ำปลีมาแล้ว เขาให้กิโลกรัมละ 20 บาท ผมก็จะคำนวณต้นทุนแล้วเปิดเผยกับเขาว่าเรารับซื้อได้เท่าไร เช่น ได้ 10 บาท ก่อนจะผลิตออกมาต้องตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่า 10 บาท ไม่ว่ากะหล่ำปลีช่วงนั้นจะขึ้นเป็น 30 บาท เขาก็จะไม่ซีเรียสเพราะตกลงกันแล้วก่อนผลิต”

สำหรับคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้นับว่าพวกเขาโชคดีที่มีที่ดินทำกินรออยู่แล้ว แต่ในความโชคดีทุกคนบอกเหมือนกันว่าเป็นโจทย์ท้าทายว่าต้องทำให้สำเร็จให้ได้ และต้องไม่แพ้พื้นที่อื่นที่ไม่มีต้นทุนมากมายเท่าแม่ทา พวกเขาจึงไม่ได้มองแค่การเติบโตในชุมชน แต่ต้องกลายเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ใช่แค่ขายออนไลน์ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างข้อดีของยุคเก่ากับยุคใหม่แล้วประยุกต์จนเข้ากันกลมกล่อม

69359305_2466950080030456_3968843479957635072_o

ปัจจุบันผลผลิตที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออแกนิคผลิตได้มีหลากหลาย อาทิ มัน ฟักทอง กระหล่ำปลี ฯลฯ ซึ่งทางกลุ่มฯพยายามจำหน่ายแบบสดเป็นลำดับแรกเพื่อคุณภาพและรสชาติที่ดีที่สุด แต่นอกจากผักผลไม้สดแล้ว หนึ่งในวิธีการเพิ่มมูลค่า กอปรกับเป็นการจัดการผักผลไม้ที่เหลือบ้าง ล้นตลาดบ้าง คือการแปรรูป

หลังจากที่ สาวิตรี นามจันทร์ เรียนจบจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แม้จะลองเป็นครูอนุบาลอยู่ 2 ปี แต่ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยหน้าที่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออแกนิค เธอได้นำความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การอาหารมาปรับใช้

“มีช่วงที่สับปะรดล้นตลาดและราคาถูก ถึงแม้เราจะเป็นอินทรีย์แต่ก็ยังกระทบ พวกเราจึงทดลองกับทีม ลองเอามาหมักทำน้ำส้มสายชูสับปะรด ใช้เวลาหมักปีกว่า และเราลองทำน้ำหมักที่มีลักษณะเหมือนไวน์ ช่วงแรกเราแจกจ่ายให้ชิมกันในชุมชน ต่อมามีเชฟจากหลายๆ ที่มาชิม เขาก็บอกว่าอร่อย

ล่าสุดคือมะเขือเทศ เวลาเราส่งไปกรุงเทพเราต้องส่งแบบห่าม ไม่ใช่ส่งแบบสุก ในแต่ละสัปดาห์เราให้สมาชิกเก็บ 2 วัน แต่ก็ยังไม่ทันกับที่เราส่งเพราะมันสุกก่อน พวกเราเลยใช้วิธีล้างทำความสะอาดแล้วฟรีซแช่แข็งไว้ เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนเราเพิ่งได้สูตรลงตัวเป็นซอสมะเขือเทศ เป็นแบบโฮมเมด แล้วโพสต์ขายในเฟซบุ๊ค นอกจากนี้ยังมีแยมจากผลไม้ตามฤดูกาล คืออะไรที่มันล้นตลาดเราก็จะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า”

การกลับมาของคนรุ่นใหม่พร้อมกับการส่งไม้ต่อจากคนรุ่นก่อน ปัจจุบันผลิดอกออกผลหลายอย่าง ที่เป็นรูปธรรมก็มีแบรนด์ ‘แม่ทาออแกนิค’ ที่ส่งออกผลิตผลไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าดัง มีโรงงานซึ่งนับเป็น Sustainable Living พื้นที่ส่วนกลางให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องความยั่งยืนและวิถีชีวิตผ่านการเวิร์คชอปหรือกิจกรรมอื่นๆ

ที่พวกเขาทำตรงกับลักษณะของคนยุคปัจจุบันที่ส่วนมากไม่ต้องการความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เกษตรกรรุ่นใหม่กลุ่มนี้มองว่าต้องการแค่รักษาผืนดินให้เป็นของทุกคน เพื่อทุกคนได้ใช้ประโยชน์

การกลับมาแม่ทาจึงไม่ใช่แค่การกลับบ้านมาเยี่ยมหาญาติหรือแค่พักผ่อนประเดี๋ยวประด๋าว แต่พวกเขาฝากทั้งชีวิตที่แม้จะเพิ่งเริ่มผลิบานด้วยการร่วมมือกันก่อสร้าง ซ่อมแซม ตกแต่งภายนอกและภายใน ให้บ้านหลังนี้น่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม

“ตลอดเวลาที่พวกเราอยู่ในเมือง ใจของเรามันอยู่ที่นี่ ที่ของเราคือตรงนี้ เรารู้สึกสนุกที่กลับมาทุกครั้ง เพราะบ้านเราไม่ได้น่าเกลียด ไม่ใช่สิ่งที่ไม่น่าอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้มีอะไรเลย แต่กลับมาทุกทีก็รู้สึกอบอุ่น สนุก อันนี้คือความหลงใหลจริงๆ ไม่อย่างนั้นพวกเราหายไปหมดแล้ว หลายคนก็เป็นแบบนี้ เขาจึงไม่ขวนขวายเอาตัวเองไปอยู่ในเมือง

ยิ่งไปกว่านั้นมันคือความท้าทายว่าเราจะอยู่ได้อย่างไร แล้วคนรุ่นหลังๆ จะมาสานต่อได้อย่างไรในยุค digital disruption อย่างนี้ ผมจึงไม่มองว่านี่คือภาระ แต่ผมมองไปข้างหน้าว่าจะทำแบบนี้ จะใช้ชีวิตแบบนี้ ที่เรากลับมาบ้านเพราะเราอยากอยู่แบบนี้” อภิศักดิ์กล่าว

68903143_2466950616697069_2108063059472809984_o