รถตู้บนเส้นทาง ‘สาธารณะ’

รถตู้บนเส้นทาง ‘สาธารณะ’

ความ(ไม่)ปลอดภัยของรถตู้โดยสาร โจทย์ที่รัฐกำลังจะแก้หรือผูกปมใหม่กันแน่!

ด้วยเหตุของการเจ็บตายในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสาร มักอยู่ในระดับ ‘หายนะ’ เสมอๆ ทำให้เกิดมาตรการ ‘ล้อมคอก’ ขึ้นทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุ

ครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 บนถนนสาย 344 บ้านบึง-แกลง กิโลเมตรที่ 26-27 เมื่อรถตู้ที่วิ่งจากจันทบุรีมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เสียหลักลงร่องกลางถนน ก่อนจะพุ่งทะลุขึ้นไปชนประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนทางมา

ความเร็วของรถทั้งสองคัน ทำให้เกิดแรงปะทะมหาศาล ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จากนั้นประกายไฟก็ลุกพรึ่บขึ้น เปลวไฟลามไหม้ยังรถทั้งสองคัน แม้หน่วยกู้ภัยมาถึงเร็วแค่ไหน ก็ยากจะเยียวยา ทำได้อย่างมากที่สุด แค่ดับไฟ เมื่อทุกอย่างสงบ ก็พบร่างผู้เสียชีวิตติดอยู่กับรถทั้ง 2 คัน รวมทั้งหมด 25 ราย

เหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงการรถตู้สาธารณะมากมาย อย่างมาตรการเร่งด่วนที่เกิดขึ้นทันที คือกรมขนส่งทางบก ได้ออกประกาศให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกเส้นทางประมาณ 16,000 คันในขณะนั้น ต้องติดตั้งระบบนำทาง (จีพีเอส) ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2560 จากนั้นก็มีประกาศอีกฉบับ ให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันถอดที่นั่งให้เหลือ 13 ที่นั่งตั้งแต่เดือนเมษายน 2560

มาตรการระยะยาวที่ส่งผลต่อการเป็นกระแสข่าวเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน คือการที่กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐาน หรือ ไมโครบัส มาบริการแทนรถตู้โดยสาร โดยเริ่มมาตรการนี้มาตั้งวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ให้รถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน 10 ปี เปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็กแทน และวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่จะถึงนี้ ต้องเปลี่ยนให้ครอบคลุมทุกๆ เส้นทางการบริการ

เมื่อเดดไลน์ใกล้เข้ามา บรรดาเจ้าของรถตู้ทั้งหลาย จึงรวมตัวกันไปร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขอขยายการเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสออกไปอีก 180 วัน และขอปรับจำนวนที่นั่งเป็น 15 ที่นั่ง

คำขอนี้ ได้รับการตอบสนองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแทบจะทันที

สาระสำคัญจากถ้อยแถลงของท่านรมต.คือการเปลี่ยนเป็นไมโครบัสให้เป็นไปตามความสมัครใจ หากจะยืดอายุรถไปเป็น12ปี รถที่มีอายุครบ10ปีต้องมีใบตรวจสภาพรถมายืนยัน และถ้าจะเอากันถึง15ปี กรมขนส่งทางบกก็ต้องไปศึกษาหาความเหมาะสมต่อไป

...อุตส่าห์พยายามสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาตั้งนาน แต่สุดท้ายก็พับเก็บเฉยเลย

เมื่อรูปการออกมาเป็นแบบนี้ ก็แอบวิตกพอสมควร ว่าต่อไปเราคงได้เห็นข่าวระดับ ‘หายนะ’ เวียนมาอีกรอบ

จริงอยู่ที่ ‘รถ’ ไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักประการเดียวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่เราต้องยอมรับว่ารถตู้โดยสารที่วิ่งกันเกลื่อนนี้ ไม่ใช่รถที่ถูกออกแบบมาเพื่อ ‘ขนส่งสาธารณะ’

ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนแล้ว ไม่มีที่ไหนในโลกอนุญาตให้บุคคลทั่วไปเดินไปที่ขนส่งจังหวัดแล้วขออนุญาตนำรถตู้ที่ตัวเองมีอยู่ ไปขนส่งผู้โดยสาร มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ให้ทำแบบนี้ได้

สาเหตุเพราะระบบขนส่งมวลชนบ้านเรา อยู่ในระดับที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ อย่างในกรุงเทพฯ แค่'พอมีพอใช้' ขณะที่ต่างจังหวัดนั้น'ข้นแค้นแสนสาหัส' กันเลยทีเดียว คนจึงต้องพึ่งพายานพาหนะเท่าที่ตัวเองมี ครั้งจะไปไหนไกลๆ รถโดยสารประจำทางไม่มี หรือมี ก็ไม่เพียงพอ รถไฟก็ไปไม่ถึง ดังนั้นรถตู้จึงถูกนำมาลดช่องว่างเหล่านี้

เมื่อรถตู้ หรือ Van เป็นรถขนส่งเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ‘ขนคน’ มีประเทศไทยเท่านั้นที่ใส่เบาะนั่งเข้าไป ถ้ามาตรฐานทั่วๆ ไปก็นั่งได้ไม่เกิน 11 คน แต่เมื่อถูกนำมาใช้ขนคนข้ามจังหวัด ก็บีบอัดเก้าอี้จนไหล่ติด แล้วเติมคำว่า ‘สาธารณะ’ ต่อท้ายให้ชอบธรรมในการขนคนมากขึ้น

สุดท้ายเราก็ได้รถสาธารณะอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนใครในโลก

รถสาธารณะประเภทนี้มาพร้อมกับความเสี่ยงทั้งสุขภาพและความปลอดภัย เพราะจำนวนคนที่อัดเข้าไปเต็มๆ 15 คนนั้น ถ้าหนึ่งในนั้นเป็นหวัด แค่จามออกมาชิ้วเดียว เชื้อหวัดก็แพร่กระจายได้แล้ว

ขณะเดียวกันประตูที่กว้างแค่ 65 เซนติเมตร แล้วมีผู้โดยสารมากกว่า 10 คนแย่งกันลง ยิ่งเวลาเกิดอุบัติเหตุ ประตูอาจจะบิดผิดรูป เปิดออกยากไปอีก โอกาสของ ‘หายนะ’ ก็เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย

การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้าที่เข้าทางหลังจากเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 2560 จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือปุบปับก็ลงมือทำทันทีที่ผู้ประกอบการไม่ทันตั้งตัว เริ่มจาก 1 ตุลาคม 2560 ที่ให้เริ่มใช้รถโดยสารขนาดเล็กทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน (10ปี) จากนั้นก็เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ระบบเบรคแบบ ABS ติดตั้ง GPS Tracking รถต้องมีอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor)ตามมาตรฐานกรมการขนส่งทางบก

ที่สำคัญกรมขนส่งทางบกเสนอแนะด้วยว่า ผู้ประกอบการควรรวมตัวกันจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือสหกรณ์เพื่อการเดินรถ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สถาบันการเงิน เรื่องการค้ำประกันเงินกู้และจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วย

ทั้งนี้กรมขนส่งทางบกคงเห็นว่าการจะเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถโดยสารขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 20 ที่นั่ง ใช้เงินสูงเกือบเท่าตัว คือรถตู้ทั่วไปราคาประมาณ 1.3-1.7 ล้านบาท แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นไมโครบัสต้องใช้เงินอย่างน้อย 2.7 ล้านบาท คนขับรถตู้ทั่วๆ ไปลำบากแน่

และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมตัดสินใจชะลอการเปลี่ยนแปลงไว้ก่อน

อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมาคือเปลี่ยนรถแล้วจะดีขึ้นจริงหรือ

ตามทฤษฏีของ เฮอร์เบิร์ต วิลเลียม ไฮน์ริช (H.W.Heinrich) วิศวกรด้านความปลอดภัยชาวอเมริกัน ระบุผลการศึกษาของเขาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ว่าอุบัติเหตุต่างๆ เกิดจาก ‘คน’ ถึง 88% เมื่อเทียบเคียงกับอุบัติเหตุทางถนนแล้ว การขับโดยประมาท, ขับรถเร็ว, ขับรถขณะมึนเมา, ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ, ขับรถไม่เคารพกฎจราจร ฯลฯ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ‘คน’ น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ก็เป็นปัจจัยที่ใช้เวลานานที่สุดกว่าจะเข้ารูปเข้ารอย แต่สิ่งที่ต้องดำเนินภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลนี้ และน่าจะทำได้ดีด้วย นั่นคือระบบการบริหารจัดการ

กรมขนส่งทางบกต้องหันกลับมาพิจารณาเรื่องของการให้ใบอนุญาตเดินรถ แนวทางนี้เป็นไปอย่างเสรีก็จริง แต่เป็นบ่อเกิดอันตรายทั้งปวง เมื่อคนที่ได้ใบอนุญาตมาแล้วก็ต้องเอาให้คุ้ม ยิ่งแต่ละเส้นทางมีรถเป็นร้อย ก็ต้องแข่งกันวิ่งให้ได้หลายๆ รอบ ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียก็เกิดขึ้น อุบัติเหตุก็เกิดได้ง่ายๆ

แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและควรทดลองใช้ คือการสนับสนุนให้คนขับรถตู้รวมกลุ่มกันเป็นนิติบุคคล แล้วร่วมกันขอสัมปทานเดินรถในแต่ละเส้นทาง แม้ที่ผ่านมานั้นก็ทำกันมาบ้างแล้ว แต่เจ้าของรถตู้เป็นเพียงคนที่ร่วมเดินรถที่ยังคงต้องวิ่งให้ได้รอบเยอะๆ อยู่ดี

ทั้งหลายทั้งปวงก็ได้แต่หวังว่า เราคงจะล้อมคอกอย่างรอบคอบ ไม่ล้อเล่นกับคำว่า ‘สาธารณะ’ ที่มักจะทำให้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องบาดเจ็บล้มตายกับความไม่ใยดี หรือ แก้ปัญหาแบบขอไปทีอย่างเช่นปัจจุบัน

 

+++++++++++++++

คอลัมน์ สมรู้|ร่วมคิด
กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย
ฉบับวันพฤหัสที่ 15 ส.ค.62