ช่วยโลก...ชุบชีวิตให้พลาสติกเหลือทิ้ง

ช่วยโลก...ชุบชีวิตให้พลาสติกเหลือทิ้ง

จากข้อมูลของกลุ่ม GREENPEACE ระบุว่า 90% ของพลาสติกบนโลกนี้ไม่ได้รับการรีไซเคิล เมื่อจะทิ้งก็นำไปที่หลุมฝังกลบหรือนำไปเผา ซึ่งก่อเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และอากาศ และมีตัวเลขประมาณการไว้ว่า ถึงปี ค.ศ.2050 การผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า

 

 

 

       ตัวเลขน่าตกใจกอปรกับความรู้ตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อมของ พจน์ เขียวชะอุ่ม แห่ง Chaaum Studio เจ้าของแบรนด์กระเป๋ารียูส หรือจะเรียกว่าอัพไซเคิล หรือรีไซเคิลก็ได้ เพราะเขาตั้งใจนำวัสดุเหลือใช้นำมาผลิตใหม่เป็นกระเป๋าใช้งานได้จริง

201907222338re

          “แบรนด์กระเป๋าจากวัสดุเหลือใช้เกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว จากแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อม เริ่มมาจากก่อนหน้านี้ผมทำงานบริษัทเอกชนด้านซีเอสอาร์ ไปปลูกป่า เก็บขยะ และทำงานกับมูลนิธิด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็เลยมีแนวคิดว่าพวกขยะพลาสติก ที่เขาทิ้งแล้วสามารถนำกลับมารียูสได้”

20190722233846219

        เพราะพลาสติกไม่มีวันหมดจากโลก ใช้วันนี้ วันพรุ่งนี้เป็นขยะ อีกวันก็จะไปตกอยู่ในทะเล ก่อปัญหามลพิษ สัตว์กินถึงตาย แล้วมนุษย์ผู้เริ่มต้นปัญหาจะทำอย่างไร

          “ผมนำถุงปูนที่เขาใช้แล้วทิ้ง ถุงปุ๋ย กระสอบข้าว นำมาคัดเลือกจากกองใหญ่ ๆ ที่มันกลายเป็นขยะไปแล้ว บางคนอาจมารับไปใช้ซ้ำ เช่น ไปเป็นถุงปุ๋ย ห่อของ ห่อผลไม้ เนื่องจากมันมีเยอะเป็นกอง ๆ เราต้องคัดเลือกแล้วทำความสะอาด ต่อด้วยขั้นตอนการดีไซน์ให้เป็นกระเป๋ารูปทรงต่าง ๆ บอกได้ว่ากระเป๋าของผมรียูส อาจไม่ทั้งใบเพราะถุงพลาสติกใช้แล้วที่ได้มามีสภาพแตกต่างกัน บางสภาพสามารถใช้ได้เกือบทั้งใบ บางสภาพใช้บางส่วน และเสริมส่วนซับในที่เป็นผ้ายูวีเคลือบไว้เพื่อให้เกิดความทนทาน บางส่วนตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยทำกระเป๋าใบเล็ก หรือนำมาประกอบกัน หรือนำมาเย็บเป็นขอบกระเป๋า เรียกได้ว่าเป็นกระเป๋ารียูสเฉลี่ย 70:30 คือใช้ของเก่า 70 ส่วน”

2019072223384

    เจ้าของแบรนด์บอกว่า อยากเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ชุบชีวิตให้ขยะนั่นเอง ฟื้นฟูวัสดุเหลือทิ้งให้กลับมาใช้ได้อีก

         “ความจริงอยากทำกระเป๋ากรีนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ค่อนข้างยาก มันสวยอยู่นะครับแต่ในเชิงธุรกิจยอมรับว่าผลตอบรับไม่ดีนัก แต่ถ้าผสมผสานกันบ้าง เช่น มีผ้าใบมาผสม เป็นผ้าที่คงทน พวกสายกุ๊นเป็นเศษจากถุงปูนใช้แล้วนำมาเย็บต่อกัน แล้วเราอธิบายกับลูกค้า ซึ่งตอนนี้มีคนสนใจมากขึ้น จากเมื่อก่อน 5% ผมว่าตอนนี้ 10% ดูเหมือนกระแสรักษ์โลกกำลังมา อีกอย่างลูกค้าผมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 80% อาจเป็นด้วยดีไซน์และซื้อง่าย ส่วนกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึง 70 กว่าปี”

20190722233847042 (1)

          เมื่อถามว่ากลุ่มคนที่สนใจกระเป๋ารักษ์โลก เพราะเขารักษ์โลกจริง ๆ อยากมีส่วนร่วมช่วยลดปัญหาขยะ หรือเพราะถูกใจดีไซน์ เจ้าของกระเป๋าบอกว่า

          “เมื่อก่อนตอนไปออกงานแฟร์มีความคิดว่า คนที่มาซื้อกระเป๋าเราน่าจะเป็นกลุ่มนักออกแบบ สถาปนิก ไม่ใช่เลย กลับเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีอายุหน่อย เป็นคนทำงาน ซึ่งมีหลายกลุ่มตั้งแต่นักศึกษาจนถึงผู้สูงอายุ คิดว่าเขาซื้อเราเพราะเห็นความตั้งใจของเรา อีกอย่างคือเริ่มรู้จักเรามากขึ้น อาจด้วยกระแสจากต่างประเทศด้วย คนซื้อไปใช้แล้วก็บอกกันปากต่อปาก เขาจะถามก่อนว่าวัสดุมาจากไหน รียูสจริง ๆ หรือ เราก็อธิบาย...”

          กระเป๋าที่เห็นโลโก้ถุงปูนเจ้าดัง แบรนด์ “ชะอุ่ม” กวาดหมด ตั้งแต่ปูนใหญ่ ปูนกลาง ปูนเล็ก ปูนซีเมนต์ที่ผลิตเพื่อส่งออกก็จะมีสัญลักษณ์ของแบรนด์แตกต่างกันออกไป กระทั่งเนื้อพลาสติกของถุงก็ไม่เหมือนกัน

          “มีลูกค้าที่เขาขายปูนซีเมนต์มาบอกว่า เขาไม่เคยเห็นปูนยี่ห้อนี้เลย อีกคนบอกว่ามีนะ แบบนี้เขาส่งขายต่างประเทศเท่านั้น เนื้อพลาสติกจะเป็นอีกแบบเนื่องจากเวลาส่งออกไปต่างประเทศเขาหนาวกว่าเรา ลูกค้าบางคนชอบบอกว่าเวลาถือไปต่างประเทศแล้วรู้สึกภูมิใจ บางคนเขาจะถ่ายรูปแล้วโพสต์ไอจีส่งให้เราดูด้วย”

20190722

   20190722_141328   20190722233847241       

       ลูกค้าช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ในฐานะคนไทยที่มีผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ เห็นรูปสัตว์บนถุงปูนก็จะจำกันได้ ยังมีสัญลักษณ์บนถุงกระสอบข้าวสารที่ส่งออกไปญี่ปุ่น เป็นรูปเกอิชา หรือข้าวตรากุหลาบ ข้าวตราเสือดำ สารพัดสีสันและลวดลาย

          “บางคนถามว่าเราคล้ายกับแบรนด์ FREITAG ของเยอรมนี (แบรนด์กระเป๋าอัพไซเคิล 100% จากพลาสติกเต๊นท์ ผ้าใบ สายกระเป๋าทำจากเข็มขัดนิรภัยที่ไม่ใช้แล้ว) แต่จริง ๆ รูปทรงกระเป๋าจะคล้ายกันอยู่แล้ว เช่น ทรงแมสเซนเจอร์ ทรงโท้ต กระเป๋าใบเล็กคาดเอว คาดอก ผมเคยอ่านเรื่องของเขาอยู่ แต่สไตล์ของเราเองก็มี เช่น ทรงต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วมีฝาปิดเสริม แต่สายสะพายเป็นของใหม่เพราะบ้านเราของยูสเบล์ทหาไม่ได้ หรือมีก็จะเป็นเส้นที่บางกว่าของต่างประเทศ”

20190722_141008

          กว่าจะเป็นแบรนด์กระเป๋าจากขยะเหลือทิ้งก็ผ่านการพัฒนาการมาหลากหลาย ตั้งแต่ดีไซน์ ฟังก์ชั่นใช้งาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการกระเป๋าน้ำหนักเบา แบกของขึ้นรถไฟฟ้าไปไหนต่อไหน หรือใส่ชุดกีฬาเข้ายิมหลังเลิกงาน

          “ผมเคยทำรียูสทั้งใบแล้วขายยาก จึงต้องผสมผสานกับของใหม่ เช่น บางใบเป็นของใหม่ แต่ฝาข้างในเป็นเศษ ถ้าเป็นทรงโท้ตด้านในซับด้วยผ้าใหม่ เคยทำถุงปูนรียูสร้อยเปอร์เซ็นหน้าหลังเลย ปรากฏว่าใช้แล้วสีมันจะลอกติดเสื้อผ้าเวลาสะพายกับตัว แต่ถ้าเป็นทรงโท้ตแบบถือก็จะใช้ได้ ลูกค้าจะเป็นคนมาบอกเราว่า มีข้อปรับปรุงอะไรเราก็นำมาแก้ไข”

          แบรนด์ชะอุ่ม เคยส่งออกไปไต้หวัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แต่สถานการณ์ไม่ค่อยแน่นอน แปรเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ

          “มีลูกค้าจะขอให้เราผลิตเยอะ ๆ แต่ให้ราคาถูก บอกว่าต้องไปบวกค่าขนส่ง ค่าภาษีอีก เนื่องจากเราผลิตแฮนด์เมด ไม่สามารถผลิตให้ได้ทีละสองสามร้อยใบ อีกอย่างเขาให้ราคาถูกมาก เราไม่อยากทำสินค้าแมส อีกอย่างผมคิดว่าตอนนี้ทัศนคติของคนไทยเริ่มเปลี่ยน เข้าใจสินค้ารีไซเคิลมากขึ้น ให้การตอบรับที่ดีขึ้น เคยไปออกงานอินโนเวชั่นของกรมส่งเสริมการส่งออก ฟีดแบ็คดีมาก คนไทยซื้อจนกระเป๋าขายหมด ของไม่พอ ตอนนี้ลูกค้าคนไทยมากกว่าต่างชาติ จากเมื่อก่อนต่างชาติ 70 ตอนนี้กลับกันเป็นคนไทย 70:30 ทำให้ผมมีกำลังใจมากขึ้น และจะพัฒนากระเป๋าให้ดียิ่งขึ้น”

20190722234023106

          ช่วยไปให้กำลังใจหนุ่มนักแปรขยะให้เป็นกระเป๋าถือแนวเท่ ๆ อย่างคนรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวจริง (ราคาเริ่มต้นหลักพันเศษ ๆ) ถ้าเราไม่ใช้พลาสติกพวกนี้ซ้ำ มันก็คือขยะส่งมลพิษต่อโลกนั่นเอง

หมายเหตุ : Chaaum Studio โทร.06 1580 5417ร้านอยู่ชั้น 3 เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า FB:/ @chaaumstudio