ยากตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก

ยากตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก

บทวิเคราะห์ว่าด้วยเรื่อง 'ที่ดิน' ปัญหาสุดคลาสสิคที่ยังรอคนติดกระดุม

แม้จะอยู่ในวัยล่วงเลยมากว่าหกสิบปีแล้ว แต่ร่างกายยังแข็งแรง เท้าที่ย่ำลงบนผืนนา หนักแน่นมั่นคง ความทรงจำยังแม่นยำในทุกๆ เรื่องราว โดยเฉพาะราคาข้าวของแต่ละรอบการผลิต ขายได้เท่าไหร่ กำไรขาดทุนแค่ไหน จำได้ทุกตัวเลข

แต่เมื่อถามถึงนาข้าวแปลงปัจจุบัน ดูเขาจะเงียบๆ ไป ก่อนจะบอกว่าเช่าที่เขาทำ แต่เดิมที่นาแปลงนี้มีทั้งหมด23ไร่ เป็นสินทรัพย์ที่ซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาเอง ไร่ละหมื่นเมื่อกว่า30ปีก่อน เขาถือครองมาได้แค่25ปี จากนั้นก็เริ่มขายออกไปทีละ 5 ไร่ 10ไร่ สุดท้ายทั้ง 23 ไร่ก็ตกเป็นของนายทุนจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด

ข้อเท็จจริงนี้เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายหนึ่งในอำเภอแม่ใจ จ.พะเยา เขายอมรับว่า “จุก” ทุกครั้งที่มีคนถามถึงที่นาของตัวเอง และเจ็บปวดทุกคราวที่ต้องไปธนาคารแล้วโอนเงินค่าเช่าที่นาของตัวเองให้กับนายทุนที่เขาไม่เคยเห็นหน้า ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน

ปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรกลายเป็นประเด็นพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้งเมื่อ ส.ส.หนุ่มจากพรรคอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำข้อมูลมาอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ต่อนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล ว่าปัญหาที่ดินนั้นเปรียบเป็นกระดุมเม็ดแรกในจำนวนทั้งหมด 5 เม็ดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเกษตรกร

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรจํานวนทั้งสิ้น 151.9 ล้านไร่ เมื่อจำแนกตามลักษณะการใช้เพื่อทำการเกษตรประเภทต่างๆ พบว่ามีการใช้ที่ดินเพื่อการทำนามากที่สุดถึง 71.6 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.74 ของเนื้อที่ทางการเกษตรทั้งหมด รองลงมาคือการใช้ที่ดินเพื่อการทำไร่และทําสวนประเภทละประมาณ 35 ล้านไร่ ส่วนเนื้อที่เพื่อการปลูกผักและไม้ดอกมีเนื้อที่เพียง 1.5 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับจํานวนเนื้อที่รกร้าง ส่วนที่เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์มีเพียง 0.9 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีเนื้อที่ 3.7 ล้านไร่

หากเทียบกับจำนวนคนไทยที่มีมีอาชีพเกษตรกรประมาณ 25 ล้านคน 5.8 ล้านครัวเรือนแล้ว เห็นว่าเหลือๆ และน่าจะเพียงพอสำหรับให้เกษตรกรใช้ทำกินได้สบายๆ

แต่ชีวิตจริง ไม่ใช่เทียบทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ แบบนั้น

แน่นอนว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ คือสิ่งที่เรามองข้ามไปไม่ได้ คนที่รวย ก็มีที่ดินอยู่มหาศาล แค่ตระกูลเดียวก็มีที่ดินมากกว่า 6 แสนไร่แล้ว คล้ายชาตินี้จะไม่เหลือเผื่อแผ่ใครอีก และเมื่อนับๆ ดู ปรากฏว่าคนที่ถือครองที่ดินเกินกว่าหนึ่งพันไร่ขึ้นไป ในประเทศไทยมีจำนวนรวม 837 รายเท่านั้น

โลกของทุนนิยมก็มักจะโหดร้ายแบบนี้เสมอ เพราะยังมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ทำกินของตัวเองไป

ครั้งหนึ่งเมื่อมีประกาศ 66/2523 รัฐบาลสมัยนั้นสร้างความปรองดองโดยชวนให้คนไทยกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย พร้อมกับมอบที่ดินทำกินให้รายละ15ไร่

ชาวบ้านเขตพื้นที่จัดสรรในอำเภอโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ปัจจุบันนี้คนที่ได้รับที่ดินมาตั้งแต่ปี 2525 ไม่มีใครเหลือที่ดินที่ว่านั้นแล้ว

“ขายไปตั้งแต่ยุคชาติชายโน่น” ชาวบ้านคนหนึ่ง บอกแบบนี้ “ถ้าเก็บไว้ตอนนี้ ก็รวยไม่รู้เรื่อง” คงใช่... เพราะราคาที่ดินย่านนั้น ไร่ละเฉียดๆ ล้านอยู่

 ชาวบ้านโนนดินแดงคนเดิมบอกว่าที่ต้องขาย เพราะที่ดินของตนปลูกอะไรไม่ค่อยได้ ไม้ไม่โต ผักไม่งาม น้ำไม่มี จึงขาย เอาเงินที่ได้ไปซื้อที่ใหม่ แม้จะแพงและได้แค่ 10 ไร่แต่ต้องยอม เพราะมีน้ำพอจะทำนาได้บ้าง แต่สุดท้ายเมื่อข้าวราคาไม่ดี มีหนี้มีสิน ลูกเมียก็ต้องใช้เงิน ก็ขายนาทิ้งไปอีก ปัจจุบันมาอยู่บนที่ดินแปลงล่าสุด 2 ไร่ 1 งาน พร้อมกับเลี้ยงชีพด้วยการปลูกเสาวรสขาย

เขาคนนี้นับว่าโชคดีไม่น้อยที่ยังมีดินเป็นของตัวเอง และสร้างรายได้พอเลี้ยงชีพได้ แต่ก็มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ ไม่โชคดีแบบนี้

ถ้าที่ดิน คือปัจจัยการผลิตสำคัญที่สุด แต่มีชาวนาถึง 45% ที่ต้องเช่าที่ดินเพื่อทำนา เมื่อมีหนี้สินก็คิดหาทางออกง่ายๆ โดยการขายที่นาของตัวเองเพื่อใช้หนี้ หรือยามใดไม่มีเงินทำทุน ก็สร้างหนี้โดยเอาที่ดินไปจำนอง เมื่อหนี้ทับถมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็หมดปัญญาไถ่ถอน ที่ดินก็ถูกยึด

เมื่อติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ก็จะบิดเบี้ยวไปทั้งหมด ไม่มีที่ดินก็ไม่มีที่นา ไม่มีที่นาก็ไม่มีข้าว ไม่มีรายได้ ไม่มีพลังต่อรองใดๆ เหลืออยู่

ดังนั้นภารกิจของรัฐบาลชุดใหม่อาจจะต้องมองทางออกใหม่ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาเรื้อรังนี้ โดยเฉพาะที่ดินเพื่อการเกษตรของไทยนั้น อาจจะต้องเพิ่มการจัดการที่เข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่ม และต้องส่งเสริมอย่างจริงจังด้วย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าเหตุผลความล้มเหลวของภาคเกษตรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากขาดการสนับสนุนระดับวิสาหกิจที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำกิจการใดกิจการหนึ่ง

จริงอยู่ที่หน่วยงานที่ส่งเสริมจะคุยโตว่าเกิดกลุ่มโน้นกลุ่มนี้มากมาย อย่างตัวเลขของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุว่าปี 2561 จำนวนกลุ่มเกษตรกรทั้งสิ้น 4,765 กลุ่ม โดยแยกเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสถานะดำเนินการและยังไม่เริ่มดำเนินการจำนวน 4,044 กลุ่ม หมายความว่ามีกว่า 15% ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้ว ไม่ได้ทำอะไรเลย และความจริงยิ่งกว่านั้น คือหลายกลุ่มที่ตั้งขึ้นมา มีเพียงแค่ในนาม และคนทำงานก็ทำกันแค่คนๆ เดียว สมาชิกในกลุ่มไม่มีส่วนร่วมด้วยเลย

ผลของการเกิดกลุ่มก้อนเกษตรกรที่ไม่เป็นจริงนี้ ส่งผลต่อการเข้าถึงปัจจัยการผลผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะรวมตัวกันขอให้ออกโฉนดชุมชนหรือสิทธิแปลงรวมก็อ่อนแรง และไม่ต้องพูดถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ในเมื่อกลุ่มอ่อนแอปานนั้น จะเอาพลังที่ไหนมาสร้างงาน สร้างผลผลิต วันๆ ก็เอาแต่เคลียร์ปัญหากัน หรือไม่ก็ร้องเรียนหัวหน้ากลุ่มอมเงิน ...ถึงต้องบอกว่ารวมกลุ่มน่ะดี แต่รัฐต้องส่งเสริมอย่างจริงจังและจริงใจ

ทุกๆ ปัญหาล้วนมาจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานอย่างที่ดินทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่รัฐต้องรีบทำคือต้องเร่งรีบให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยข้อนี้โดยเร็วที่สุด อาจจะต้องเริ่มให้เกษตรกรสร้างกลุ่มในชุมชนขึ้นมา แล้วรัฐแสดงความจริงใจจัดสรรพื้นที่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยมอบให้แต่ละท้องถิ่นสร้างกติกาการใช้ที่ดินนั้นขึ้นมา

ทางออกนี้เท่ากับรัฐต้องแสดงความไว้เนื้อเชื่อใจประชาชนอย่างเต็มที่ คอยส่งเสริมและกำกับดูแลอยู่ห่างๆ ก็น่าจะเพียงพอ

ที่สำคัญรัฐบาลไม่ควรมองเห็นประชาชนเป็นศัตรูในทุกๆ เรื่อง

 

++++++++++

คอลัมน์ : สมรู้ | ร่วมคิด

กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย 

ฉบับวันพฤหัสที่ 1 ก.ค.62