SOTUS ความล้าหลังที่ยังอยู่!

SOTUS ความล้าหลังที่ยังอยู่!

ความรุนแรงของการรับน้องและอำนาจนิยมในสถาบันการศึกษาที่สังคมส่วนหนึ่งยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

ภายใต้ความวิปริตของสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ว่าเป็น ‘การรับน้อง’ รุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้องปางตาย...มีข่าวให้เห็นกันแทบทุกปี และเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาวิพากวิจารณ์กันแทบทุกครั้ง แต่แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป...เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดเมื่อปี 2560 พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาสูงถึงปีละประมาณ 6 แสนคน เป็นตัวเลขที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 เป็นรองแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น!

ไม่เพียงขนาดความรุนแรงที่เกิดกับเยาวชนจะใหญ่โตจนต้องใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ตามด้วยปรัศนีตัวโตๆ ในจำนวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนซึ่งเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา มีเรื่องหนึ่งที่คิดว่าต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้ที่สังคมไทย แล้วมาวิเคราะห์กันให้ถึงแก่น รื้อกันให้ถึงรากถึงโคน นั่นคือกิจกรรมรับน้อง อ้างอิงหลักการที่เรียกว่า ‘SOTUS’ (ไม่ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะรู้จักหรือยอมรับคำๆ นี้หรือไม่ก็ตาม)

S O T U S (โซตัส) มาจากการรวมความหมายของตัวอักษรทั้ง 5 คือ Seniority (ระบบอาวุโส) Order (ระเบียบ) Tradition (ประเพณี) Unity (ความสามัคคี) และ Spirit (จิตวิญญาณ หรือความมีน้ำใจ) ว่ากันว่าเป็นมรดกอาณานิคมที่เข้ากับค่านิยมการใช้อำนาจของบางประเทศได้เป็นอย่างดี

การรับน้องบนหลักการพื้นฐานของโซตัส เริ่มเข้ามาในประเทศไทยย้อนหลังไปได้ไกลเกินร้อยปี ตั้งแต่เมื่อตอนตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน รวมถึงเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ก็ได้นำระบบนี้ซึ่งมีต้นแบบจากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ ที่เรียกว่า Fagging System มาใช้ โดยครูจะแต่งตั้งนักเรียนอาวุโสที่เรียนดี ประพฤติดี เข้ามาเป็นผู้ช่วยในการดูแลและควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนรุ่นน้อง ซึ่งถ้าดูจากสภาพสังคมและรูปแบบของโรงเรียนในเวลานั้นมันก็อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดคำถามอะไรมากมายนัก

แต่...จะด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตาม นอกจากระบบนี้จะยังดำรงอยู่ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เป็นโรงเรียนประจำ โดยคุณครูไม่เพียงมอบอำนาจในการดูแลรุ่นน้องให้กับรุ่นพี่ที่ได้รับเลือก ยังมอบอาญาสิทธิ์ในการลงโทษ และเมื่อเกิดการกระทำที่เกินเลย สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆ ก็คือการปกป้องผู้กระทำผิดเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของระบบอาวุโส และช่วยกันปกปิดเพียงเพราะกลัวเสื่อมเสียสถาบัน จนทำให้เรื่องราวความรุนแรงหลายต่อหลายกรณีถูกซุกไว้ใต้ผืนพรมเก่าแก่ของโรงเรียน

ยิ่งไปกว่านั้น โซตัสยังได้แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง กระทั่งมันได้แทรกซึมเข้าไปอยู่รูปแบบการรับน้องของมหาวิทยาลัยต่างๆ จนเกิดปฏิบัติการที่เรียกกันว่า ‘ซ่อมน้อง’ มีการแสดงออกเพื่อสร้างความน่าเกรงขามในแบบฉบับของ ‘การว้าก’ โดยอธิบายความคาดหวังของกิจกรรมว่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในคณะ/สถาบัน เพื่อความสามัคคี และเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้พร้อมสำหรับการเผชิญชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย

โดยไม่ต้องถกเถียงให้มากความว่าผลลัพธ์นั้นมันเกิดขึ้นจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์ ...ไม่นาน ทั้งการว้ากและการซ่อมน้องก็กลายเป็นระเบียบวิธีอันโดดเด่นของการรับน้อง

ทั้งที่โดยวัยแล้ว ทั้งรุ่นพี่-รุ่นน้องก็อยู่อายุต่างกันไม่กี่ปี ประสบการณ์และวุฒิภาวะก็ไม่ได้มากไปกว่ากันเท่าไร เมื่ออำนาจถูกวางไว้ในมือ จากความคิดเริ่มต้นที่เชื่อว่า การสั่งการเพื่อให้รุ่นน้องทำอะไรต่างๆ นานา จะเป็นการสร้างแรงกดดันที่ทำให้ ‘รุ่นน้องรักกัน’ (ใครที่แตกแถว แตกต่าง จำเป็นต้องมีการ ‘ซ่อมพฤติกรรม’ เพื่อให้ยอมรับกติกาที่ถูกวางไว้) จึงเริ่มเลยเถิด ขาดความยับยั้งชั่งใจ หลงใหลในบทบาทสมมติ จนกลายเป็นความรุนแรง ที่บางกรณีหนักหนาสาหัสถึงขั้นเสียชีวิต

แน่นอนว่า...นี่ไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายธรรมดาๆ ที่เกิดจากความโกรธแค้นหรืออารมณ์ชั่ววูบ แต่เป็น ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง’ ที่ไม่เพียงปรากฎยอดภูเขาน้ำแข็งเป็นผลกระทบทางร่างกายหรือจิตใจ แต่มันฝังตัวและสืบทอดโครงสร้างอำนาจในสถานศึกษา และอาจจะหมายรวมถึงในสังคม ที่มักอ้างอิงลำดับชั้น, ลำดับอาวุโส โดยปฏิเสธการท้าทายให้เหตุผล

ซ้ำร้ายหลักการที่เป็นต้นเรื่องยังถูกกัดกร่อนจนเหลือเพียง ‘อำนาจนิยม’ และ ‘ความรุนแรง’ ที่ส่งผ่าน ‘รุ่น’ ลามไปในสถาบันการศึกษาแทบทุกประเภท ลงไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา อย่างล่าสุดที่เป็นข่าว แม้จะเกิดขึ้นนอกรั้วโรงเรียนและไม่ได้เกียวกับกิจกรรมรับน้อง แต่สิ่งที่เด็กรุ่นพี่นำมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น ก็คือ การยอมให้ทำร้ายร่างกาย!?!

หากปรับโฟกัสให้ชัดขึ้นไปอีกก็จะพบว่า ความรุนแรงชนิดนี้มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ การที่เด็กผู้ถูกกระทำมักไม่กล้าปฏิเสธ หรือเข้าข่าย 'ยินยอม’ เพื่อแลกกับการยอมรับจากเพื่อนและรุ่นพี่ ภายใต้คำโตๆ ว่า ‘สปิริต’ ‘สายรหัส’ สถาบันนิยม หรืออื่นๆ ที่จะทำให้พวกเขาได้รับการอุปถัมภ์ในอนาคต

น่าคิดก็ตรงที่ ต่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน โลกจะเคลื่อนจากยุคแอนะล็อกสู่ดิจิทัล AI จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์พยายามหาความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่น เราพร่ำพูดถึงสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังเชื่อว่า...นี่คือประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาและเป็นสิ่งที่พึงรักษาไว้

ถึงตอนนี้ นอกจากการออกกฎระเบียบที่ผู้ปฏิบัติสามารถหาช่องเล็ดลอดออกไปได้เสมอ อาจจะต้องมาช่วยกันถอดรหัสให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เปลือกห่อของ โซตัส’ ยังอยู่คู่สังคมไทยมาได้อย่างยาวนาน ทั้งที่มันไม่น่าจะสอดคล้องกับยุคสมัย

โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความคาดหวังต่อคุณสมบัติของเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็น ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์ การยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ทำไมสิ่งที่ยังคงวนเวียนอยู่ในสถาบันการศึกษา กลับกลายเป็นการส่งเสริมค่านิยมที่อยู่ในด้านตรงข้ามเกือบทั้งหมด

แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่า การที่สังคมนี้ยังยอมรับให้ความรุนแรงเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน หรือรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุข้ออ้างอะไรก็ตาม

หรือถึงที่สุดแล้ว จะเป็นอย่างที่บางคนวิเคราะห์ไว้... ฐานคิดแบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย คือน้ำหล่อเลี้ยงอย่างดีของเรื่องนี้

++++++

คอลัมน์ : สมรู้ | ร่วมคิด

กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย ฉบับวันที่ 11 ก.ค.62