บัตรพลังงาน อุปาทาน และยาหลอก

บัตรพลังงาน อุปาทาน และยาหลอก

ผ่าพิสูจน์ก็แล้ว เตือนถึงอันตรายร้ายแรงก็แล้ว แต่ทำไมชาวบ้านยังเชื่อว่า บัตรพลังงานนี้รักษาโรคได้จริง!!!

กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง แถมดังกว่าเดิมสำหรับสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘บัตรพลังงาน'

ข่าวว่าแพร่หลายในหลายจังหวัดภาคอีสาน ด้วยสรรพคุณครอบจักรวาลตั้งแต่รักษาอาการปวดเมื่อย ไปจนถึงโรคเรื้อรังต่างๆ วิธีการก็ง่ายๆ แค่แปะบริเวณที่ปวด รองใต้แก้วน้ำ หรือใส่ลงไปคนในน้ำแล้วดื่ม ได้ผลชะงัดนัก

ขายกันใบละพันกว่าบาท ผู้เฒ่าผู้แก่มีติดตัวกันคนละใบสองใบ แต่สุดท้ายพอนำมาทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กลายเป็นว่าภายในบัตรไม่ได้มีกระแสไฟฟ้า หรือพลังงานอะไรตามที่คนขายกล่าวอ้าง หนำซ้ำยังตรวจพบว่าในแผ่นชิ้นการ์ด มีสารประกอบที่เป็นอันตรายอยู่จำนวนมาก ทั้งสารกัมมันตรังสี เช่น ยูเรเนียม ไทเทเนียม และทอเรียม รวมถึงสารโลหะหนักอีกกว่า 20 ชนิด เช่น ตะกั่ว ปรอท และกำมะถัน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารก่อมะเร็งทั้งนั้น

 เรียกว่า...นอกจากไม่ให้ผลในทางรักษา ยังอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย

แต่ที่อยากจะชวนคิดต่อก็คือ ขณะที่ฝ่ายวิชาการถึงขั้นผ่าบัตรพิสูจน์ว่ามันไม่มีอะไรในนั้นเลยสักนิด ฝ่ายชาวบ้านที่ใช้บัตรพวกนี้ หลายคนก็ยังยืนยันว่า ใช้แล้วหายปวดหายเมื่อยนะ”

แล้วเอาเข้าจริงก็ไม่ใช่บัตรพลังงานนี่อย่างเดียว ที่ผ่านมาเคยมีทั้งกำไล สร้อย แหวน วัตถุมงคลสารพัด รวมไปถึงสมุนไพร อาหารเสริม ฯลฯ ที่อ้างว่ารักษาโรคได้ โดยที่หาคำอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้เลย แต่คนก็เชื่อ! และมากกว่านั้น ยังรู้สึกจริงๆ จังๆ ว่า ได้ผลลัพธ์ตามที่อวดอ้าง

ไม่นับคนที่อยู่ในขบวนการ(หลอก)ขายสินค้าพวกนี้ ถ้าถามว่าคนที่ใช้แล้วดีมีจริงไหม เป็นไปได้ว่า...มีจริง

อาการแบบนี้บางคนบอกว่าเป็น ‘อุปาทาน’ คือเป็นผลที่มาพร้อมกับความเชื่อมั่น เป็นอาการทางร่างกายที่ส่งผลมาจากจิตใจ ถ้าใจบอกว่าดี...ก็เท่ากับได้เยียวยาไปแล้วครึ่งหนึ่ง ถ้าปวดเมื่อยเล็กๆ น้อยๆ ก็น่าจะดีขึ้นได้ไม่ยาก

ประมาณว่า ‘ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว’

ซึ่งในทางการแพทย์ก็มีการทดสอบปรากฎการณ์ในลักษณะนี้มานักต่อนักแล้ว ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ยาหลอก’

ยาหลอก หรือ Placebo คืออะไร? นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ (www.haijai.com) อธิบายไว้ว่า คือ แป้ง น้ำตาล หรือสารอะไรก็ได้ ที่โดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่ยา และไม่ได้มีผลทางการรักษาใดๆ แต่นำมาทำให้ดูเหมือนเป็นยา (และคนที่ใช้ก็เข้าใจว่าเป็นยาจริงๆ) ส่วนผลของยาหลอก (placebo effect) คือ การที่ผู้ป่วยสามารถถูกกระตุ้นให้หายหรืออาการดีขึ้นได้ จากการเชื่อว่าพวกเขากำลังได้รับการรักษาจริงๆ

เรื่องนี้มีที่มา ย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีทหารบาดเจ็บจำนวนมาก จนเกิดการขาดแคลนยาแก้ปวดมอร์ฟีนอย่างหนัก พยาบาลซึ่งเป็นผู้ช่วยของนายแพทย์ Beecher ไม่รู้จะทำยังไง จึงบอกกลุ่มทหารที่บาดเจ็บไปว่า เดี๋ยวจะฉีดยาแก้ปวดอย่างแรงให้นะ แต่ในความเป็นจริง เป็นแค่น้ำเกลือเปล่าๆ แต่เมื่อฉีดไปแล้วผลที่ได้กลับน่าอัศจรรย์ใจ เมื่อทหารกลุ่มนั้นบอกว่ารู้สึกปวดน้อยลง

หลังสงครามจบ นายแพทย์ Beecher จึงได้กลับมาทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้อีกครั้ง และได้ตีพิมพ์บทความชื่อดังในวงการแพทย์ เมื่อปี ค.ศ.1955 นั่นคือ ‘The Powerful Placebo’ โดยผลการศึกษาสรุปว่า เฉลี่ยแล้ว คนกว่า 1 ใน 3 จะดีขึ้นจากการได้ยาหลอก ซึ่งต่อมาก็มีการศึกษาลักษณะนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก และพบว่าคนทั่วไปประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ จะตอบสนองต่อการได้ยาหลอก

แล้วทำไมยาหลอกถึงได้ผล นพ.ธรรมนาถ ซึ่งเป็นจิตแพทย์อธิบายว่า ‘เกิดจากความคาดหวัง’ พูดง่ายๆ ก็คือ “เราคาดหวังอะไร มันก็มีแนวโน้มเป็นอย่างนั้น” คาดหวังว่ายามันดี มันก็จะดี

กับอีกทฤษฎีคือ ‘การวางเงื่อนไข’ ซึ่งคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลชาวรัสเซีย อิวาน พาสลอฟ ...ในเรื่องผลของยาหลอก หากอธิบายตามทฤษฎีนี้ก็คือ ในชีวิตคนเรา เจ็บป่วยไม่สบายก็จะกินยา และเมื่อกินยาก็จะดีขึ้น ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดซ้ำๆ ในชีวิตที่ผ่านมา ทำให้เกิดเงื่อนไขขึ้นมาอันหนึ่ง คือ ถ้าป่วยกินยาแล้วจะดีขึ้นแม้จะเป็นยาหลอกก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ‘การหันเหความสนใจ’ ข้อนี้อธิบายได้ดีในเรื่องของอาการปวด พูดง่ายๆ คือยิ่งเราไปเพ่งความสนใจอยู่ที่อาการปวดมันก็จะรู้สึกปวดมากขึ้น แต่ถ้าไม่สนใจก็จะปวดน้อยลง

คราวนี้ย้อนกลับมาดูที่ ‘บัตรพลังงาน’ ซึ่งได้รับความนิยมไม่เฉพาะแต่ในบ้านเรา ยังลามไปถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง นอกจากชั้นเชิงของการหลอก(ขาย) ที่เหลือก็คงจะมาจากเหตุผลคล้ายๆ กันนี้

ทว่า คำถามที่อยากจะตั้งไว้เป็นประเด็นต่อไปก็คือ แล้วทำไมพนักงานขายของพวกนี้จึงสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่าคุณหมอที่โรงพยาบาล?

ยาแก้ปวดที่หมอให้ บอก...กินแล้วไม่ได้ผล แต่บัตรสี่เหลี่ยม…กินไม่ได้ กลับกลายเป็นว่า ช่วยให้หายปวดหายเมื่อยซะอย่างนั้น

ไม่ใช่แค่นี้ ยังมีอีกสารพัดอย่างที่อวดอ้างสรรพคุณกันแบบเหลือเชื่อ แต่ก็มีคนพร้อมจะหลงเชื่ออยู่ตลอดเวลา

เรื่องนี้นอกจากคำตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ก็สังคมไทยเป็น ‘สังคมอุดมความเชื่อ’ แล้ว คงต้องหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อที่เราจะได้พาญาติมิตรออกจากมนต์ดำ กฤษณะกาลี ...หลุดพ้นจากการหลอกขายทั้งปวง

 ++++++++++++++

คอลัมน์ สมรู้ | ร่วมคิด

กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย ฉบับวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2562