GPS ‘เลี่ยง’ ไม่ ‘หลง’

GPS ‘เลี่ยง’ ไม่ ‘หลง’

ทำความรู้จัก GPS ให้ถ่องแท้ จะได้ไม่ต้องร้องไห้งอแงว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่”

ยุคนี้จะไปไหนทีจะให้มากางแผนที่ ดูเข็มทิศ แล้วค่อยๆ เดินทางไปถามทางไปคงไม่ใช่ เพราะความสะดวกสบายของการนำทางล้วนอยู่ในมือทุกคน บนสมาร์ทโฟนก็ได้ บนเครื่องนำทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ดี ดูเหมือนชีวิตจะดีเสียยิ่งกว่าสโลแกนกรุงเทพฯ

แต่การฝากอนาคตไว้กับเทคโนโลยีแบบหมดหน้าตักคงต้องคิดใหม่ เพราะหลายต่อหลายหนที่ GPS เปลี่ยนสถานะ ‘คนเดินทาง’ ให้เป็น ‘คนหลงทาง’ อย่างเมื่อวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ต่างคนต่างมุ่งหน้ากลับภูมิลำเนา เป็นธรรมดาที่ถนนมิตรภาพซึ่งมุ่งสู่ภาคอีสานบ้านเฮาจะเกิดวิกฤติการจราจร เมื่อถนนสายหลักดูมืดมน บางคนจึงงัดไอเทมนำทางมาเปิดหวังเป็นทางรอด

ทว่าทางเลี่ยงที่พาเบี่ยงไปบนทางรอง กลับไม่ได้มีจุดหมายตรงกับที่ปักหมุด รถหลายร้อยคันถูกพาหลุดกรอบถนนลงสู่เขื่อนลำตะคอง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพากันตั้งด่านเตือนคนหลงให้รู้ตัวแล้วเข้าสู่ทางกลับบ้านได้ทันก่อนจะหลงลงเขื่อน

เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เพิ่งเคยมี เกือบทุกคนที่เคยใช้ GPS นำทาง ต่างเคยถูกสับขาหลอกมาแล้วทั้งนั้น แต่แค่หลงทางยังกลับลำได้ กับบางกรณีหลงทางไม่พอยังเกือบต้องเอาชีวิตมาทิ้ง เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนุ่มร้อยเอ็ดเมื่อปลายปี 2560 ขณะที่เขาขับรถกระบะเพื่อส่งต้นไม้ไปที่สนามบินชุมพร GPS พาเขาลุยทางลูกรังในหมู่บ้านเล็กๆ ขณะที่กำลังขับผ่านทางรถไฟ ล้อหลังด้านซ้ายเกิดตกขอบถนนทำให้ติดอยู่บนทางรถไฟ หลังจากนั้นเขาลงมานำแม่แรงมาหวังจะยกล้อรถขึ้น ทันใดนั้นมีรถไฟขบวนที่ 41 กรุงเทพฯ-ยะลา แล่นมาพอดี หัวรถจักรพุ่งชนรถกระบะของเขาลากไปตามรางถึง 200 เมตร ปรากฏว่ารถพังยับเยิน แต่โชคดีที่หนุ่มคนนี้กระโดดหลบได้ทัน

เมื่อการหลงทางไม่ได้แค่ทำให้เสียเวลา แต่อาจเกิดหายนะจนเสียอนาคต มาเปิดบทเรียนวิชา GPS ให้ถึงแก่น ก่อนจะถูกหลอกให้หลงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

‘หนุ่ย’ พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรและผู้เชี่ยวชาญด้านไอที อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า GPS ย่อมาจาก Global Positioning System มีหลักการทำงานคือทำงานกับดาวเทียมโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ปัจจุบันมีดาวเทียมที่ทำหน้าที่นี้ประมาณ 19-21 ดวง โคจรอยู่รอบโลก ส่วนเครื่องมือสื่อสารในมือพวกเราซึ่งมีชิพรับสัญญาณ GPS ก็จะระบุพิกัดเราได้

“แต่เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ก็กำเนิด A-GPS ขึ้น ย่อมาจาก Assisted GPS เป็นตัวช่วยให้ GPS ทำงานแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากในอดีตการเชื่อมต่อกับดาวเทียม 19-21 ดวงนอกโลกได้ เราต้องอยู่กลางแจ้งจึงจะได้ผลแม่นยำ พอมีการใช้งานในที่ร่มหรือใต้หลังคารถบางทีมันไม่เที่ยง คนก็บ่นว่า GPS พาหลง”

ถึงจะมีตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพ ทว่าก็ยังมีกรณี Error เกิดขึ้นบ่อยๆ สำหรับสาเหตุที่ GPS ออกอาการเอ๋อ พงศ์สุขบอกว่ามีอยู่ 2 เรื่องหลัก คือความผิดพลาดที่ ‘ต้นทาง’ และ ’ปลายทาง’ หนึ่ง เครื่องมือสื่อสารบางเครื่องจับสัญญาณได้ไม่แม่นยำ ทำให้ระบบไม่รู้ว่าอยู่บนถนนสายไหนกันแน่

สอง ปลายทางที่เลือกไม่มีอยู่จริง แต่มีคนปักแผนที่ (POI – Point of Interest) ผิด อาจด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี พอกดเลือกปลายทางดังกล่าวโดยไม่ดูให้ดีว่าถูกหรือผิด GPS จึงนำทางเข้ารกเข้าพง หรือเข้าผิดซอย เขายกตัวอย่างร้านแห่งหนึ่งย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา เจ้าของปักหมุดไว้ชิดถนนทั้งที่ร้านอยู่ในซอย GPS จึงนำทางไปเลยประตูทางเข้า พอเลยแล้วกลับตัวก็ไม่ได้ ต้องเดินหน้าไปหาทางกลับรถซึ่งไกลมาก...(ลากเสียง)

แต่กับปัญหานี้มีความพยายามแก้ไขด้วย A-GPS คือใช้เสาสัญญาณโทรศัพท์ไม่ว่าจะ 3G หรือ 4G ที่อยู่รอบตัวเราทำแกน X แกน Y มาช่วยคำนวณพิกัด การใช้ GPS ใต้หลังคาหรือในวันฟ้าปิดจึงดีขึ้น

“การคำนวณแบบนี้ทำให้ความแม่นยำเกิดขึ้น ผมใช้มันมานานก็เห็นการปรับปรุงมาโดยตลอด มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนมาช่วงระยะสองเดือนมานี้ผมรู้สึกว่า Google Map เริ่มต๊องๆ เอ๋อๆ เนื่องจากคนน่าจะใช้เยอะขึ้น ทำให้การประมวลผลข้อมูลไม่ทัน ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร กลับเป็นเรื่องน่าดีใจด้วยซ้ำที่มีคนใช้มากขึ้นแล้วเพื่อเลี่ยงการจราจร แต่ที่แน่ๆ คือคุณต้องถ่างดูแผนที่ก่อน ให้แน่ใจว่าปลายทางใช่ตรงนั้นจริงๆ หรือเปล่า สังเกตง่ายๆ มันอยู่ในเมืองไหม มันอยู่บนถนนที่น่าจะใช่หรือเปล่า หรือเป็นจุดที่รถเข้าถึงหรือเปล่า”

นอกจากดูให้ชัวร์ก่อนจะเชื่อ ความผิดพลาดที่ปลายทางยังร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขได้ พงศ์สุขเล่าว่าเขาคอยตามแก้ข้อมูลผิดๆ มาหลายแห่งจนได้รับความเชื่อถือจากผู้ให้บริการแผนที่แล้ว แต่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะ ‘แก้’ จนอาจกลายเป็น ‘แกล้ง’ เพราะกว่าข้อมูลที่แก้ไขจะขึ้นในระบบต้องมาจากผู้ที่ระบบไว้วางใจอันมาจากเครดิตของคนแก้ไข ทำนองเดียวกับระดับขั้นของสมาชิกตามเว็บบอร์ด เช่น อมยิ้มในพันทิป

นอกจากสาเหตุหลักเชิงเทคนิคแล้ว ระบบสำมะโนครัวแบบไทยคือซับซ้อนที่เทคโนโลยียังเข้าไม่ถึง

“ของเราบางทีมีซอย มีหมู่บ้านแล้วยังมีซอยในหมู่บ้าน หรือบางถนนใช้คำว่าตรอก มีหมู่ มีเขตแล้วยังมีแขวง ซึ่งหลายครั้งทำให้กระบวนการฐานข้อมูลยังมั่วอยู่ เพราะอย่างที่อยู่บ้านเราถ้าเขียนตามบัตรประชาชนมันก็ได้ แต่เอาจริงๆ ถ้าจะไปตามหาก็ต้องซับซ้อนกว่าสิ่งที่ระบุในบัตรประชาชน” พิธีกรไอทีกล่าว

สำหรับนักเดินทางอย่าง ธานินทร์ ฤตวิรุฬห์ เจ้าของแบรนด์จักรยานทัวริ่ง Rit และ Tanin และคร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวมานาน GPS เป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้เมื่อออกไปสู่โลกกว้างซึ่งกว้างเกินกว่าที่เขาจะรู้ทุกซอกทุกมุม

“ผมใช้ GPS มาตั้งแต่ยังไม่มีจอสี และแผนที่ในประเทศไทยยังมีไม่ครบ มีแค่เส้นทางหลวงบางสาย เส้นทางรองไม่มีเลย ผมใช้เพื่อเก็บเส้นทางเพราะตอนนั้นยังดูรายละเอียดอะไรไม่ได้ ดูได้แค่ตอนนี้อยู่จุดไหนของแผนที่ประเทศไทยคร่าวๆ เท่านั้นเอง หลักๆ จึงใช้บันทึกเส้นทางเพื่อจะได้กลับไปทางเดิมได้ถูก และใช้วัดระยะทาง ไม่สามารถใช้นำทางได้ในยุคนั้น ซึ่งผมใช้กับรถยนต์เพื่อสำรวจเส้นทาง เก็บข้อมูล แล้วนำข้อมูลนั้นในการนำทัวร์จักรยาน

หลังจากนั้นในยุคต่อมาที่ GPS พัฒนามาอยู่ในโทรศัพท์ ก็ทำให้ไปในที่ใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องสำรวจเส้นทางก่อน เพราะเมื่อก่อนเราต้องไปสำรวจเส้นทางแล้วบันทึกไว้ แต่ตอนหลังระบบแผ่นที่ดีขึ้นเราก็ใช้มันนำทางพร้อมบันทึกข้อมูลไปด้วย”

เมื่อใช้จนเชี่ยวชาญและผ่านมาจนถึงยุคที่ GPS ทำอะไรได้มากมายอย่างทุกวันนี้ ทำให้เขารู้ว่าแอปพลิชันนำทางเหล่านี้ไม่ได้มีไว้แค่นำทางให้ถึงจุดหมาย แต่ยังมีลูกเล่นมากมายที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เช่น หาร้านอาหาร, หาโรงแรม, หาตู้ ATM และอีกสารพัดอย่างที่นักเดินทางเคยปรารถนา

“ที่ใช้บ่อยๆ เลยคือหาร้านอาหาร หาโรงแรม และหาปั๊มน้ำมัน อีกอย่างคือฟังก์ชันปักหมุดสถานที่เอาไว้ เพราะจะต้องบันทึกไว้ว่านี่คือจุดที่เราจะมาจอดพักจักรยานกันนะ เราจะแวะจุดนั้นจุดนี้ เรียกว่า Mark Point ซึ่งผมใช้มากที่สุด เพราะข้อมูลใน GPS ไม่ได้มีครบ 100 เปอร์เซ็นต์ พอเราสำรวจเส้นทางแล้วบันทึกข้อมูลไว้ จะทำให้กลับมาสะดวกขึ้น

ผมใช้มาแล้ว 20 ปี ช่วง 10 ปีแรก เป็นการบันทึกเส้นทางมากกว่า อีก 10 ปีหลังถึงจะใช้เส้นทางได้จริงจัง ซึ่งทำให้ผมทำงานได้ง่ายขึ้น ให้คนอื่นทำงานแทนเราได้มากขึ้นด้วย อย่างผมต้องจำเส้นทางทั่วประเทศ บางครั้งเส้นทางเดียวกันแต่ต่างฤดูก็หลงได้เหมือนกัน เพราะเส้นทางธรรมชาติ ในชนบท แค่หญ้าขึ้นรกมุมมองก็ผิดไป เราอาจหลงได้ง่าย”

สำหรับฟังก์ชันที่มีให้ใช้แต่บางคนไม่ใช้ (หรืออาจไม่รู้) มีอยู่หลายอย่าง ยกตัวอย่างฟังก์ชันพื้นฐานที่จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น อาทิ เช็คการจราจร เพียงเปิดแอปพลิเคชันแล้วระบุจุดหมาย โดยปกติจะคำนวณการจราจรให้ทันที และมักจะเลือกเส้นทางที่เร็วที่สุด แต่อย่าเชื่อทันที ลองแตะเส้นทางอื่นๆ อาจค้นพบทางที่ดีกว่า

ฟังก์ชันเลี่ยงทางหลวง (และเลี่ยงอื่นๆ) เพียงแตะสัญลักษณ์ ‘...’ (บางรุ่นเรียงแนวนอน บางรุ่นเรียงแนวตั้ง) ที่มุมขวาของจอ เลือกฟังก์ชันตัวเลือกเส้นทาง ก็จะทำให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นไม่ต้องถูกกำหนดโดยแอปพลิเคชันตลอดเวลา ยิ่งเป็นช่วงที่ทางหลวงค่อนข้างติดขัด การเลี่ยงไปใช้ทางรองอาจดีกว่าอย่างประหลาดใจ หรือจะเป็นฟังก์ชันสำรวจเส้นทางที่จำเป็นระหว่างการเดินทาง เพียงแตะปุ่ม ‘สำรวจ’ แล้วเลือกสิ่งที่ต้องค้นหาระหว่างทาง เช่น ร้านอาหาร, ร้านขายยา, ปั๊มน้ำมัน, ร้านขายของชำ ฯลฯ สิ่งที่ค้นหาที่อยู่ละแวกใกล้เคียงจะขึ้นให้เลือก

อีกฟังก์ชันที่ดีต่อคนที่เดินทางไปพร้อมกันหลายคัน คือ การแชร์ตำแหน่ง ที่เป็นสัญลักษณ์คนมีคลื่นสัญญาณออกมาจากศีรษะ จะทำให้คนที่เราแชร์ตำแหน่งทราบว่าเราอยู่ไหนขณะนั้น โดยแชร์ไปได้ที่แอปพลิเคชันอื่นด้วย เช่น Facebook หรือ LINE

อย่างไรก็ตาม กว่าจะไปถึงจุดนั้น คนไอทีอย่าง พงศ์สุข มองไปไกลถึงขั้นว่ากระทรวงศึกษาธิการควรตระหนักและบรรจุการอ่านแผนที่บนเนวิเกเตอร์ (เครื่องนำทางอิเล็กทรอนิกส์) หรือบนแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้คนไทยเติบโตมาพร้อมทักษะการใช้แผนที่ได้ดีกว่านี้ จากประสบการณ์ของเขาใช้งานจนช่ำชองแต่เมื่อต้องอธิบายคนอื่นมีจำนวนมากไม่เข้าใจเพราะขาดทักษะการมองแบบ Bird’s Eye View คือมองจากด้านบนลงมา ในขณะเดียวกันชาวต่างชาติส่วนมากถูกสั่งสอนและใช้งานจนมีทักษะแบบนี้

ซึ่งไม่ว่าจะพื้นฐานด้านไอทีและการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การเรียนรู้เรื่อง GPS เพื่อใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพไม่ใช่ฝันกลางวันแน่นอนสำหรับคนรุ่นใหม่ ส่วนคนรุ่นเก่าที่ยังประดักประเดิดทุกครั้งที่เปิด GPS ก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยเหลือและสอนให้คนรุ่นเก่ารู้จักและใช้เป็น

“จะให้คนรุ่นเก่าเรียนที่ไหนได้ในเมื่อเขาไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาแล้ว เขาต้องเรียนรู้จากลูกหลานนี่แหละ ลูกหลานก็ต้องสอนคนรุ่นเก่าเหมือนอย่างการเล่น LINE ที่ส่งสติกเกอร์สวัสดีวันนั้นวันนี้ได้”

อีกคุณูปการที่หลายคนเกือบจะมองเห็นแต่ก็มักจะเผลอมองข้าม เพราะรูปแบบการทำงานเหลื่อมกับที่ใช้นำทางแบบปกติ คือ ใช้เลี่ยงการจราจรติดขัดได้ดีมาก หากทุกคนใช้เป็นอาจแก้ปัญหาโลกแตกของบ้านเราได้ทีเดียว

“ผมกล้าพูดว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯได้รับการแก้ไขแล้ว แต่ถามว่าทำไมเราถึงยังรถติดกันอยู่ เพราะคนกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เดินทางโดยไม่วางแผนก่อนเดินทาง ใช้สัญชาตญาณในการเดินทาง คือเลือกไปทางเดิม มันเคยติดอย่างไรก็ติดอย่างเดิม แต่ถ้าคุณสังเกตจริงๆ ถนนแต่ละสายรวมถึงทางด่วน 3-4 ขั้น ซึ่งเป็นส่วนต่อขยาย มันได้เชื่อมทั้งเมืองไว้หมดแล้ว เวลารถติดมากๆ จริงๆ มีทางสว่างเสมอ แต่เราต้องถ่างดูว่าเราไปทางไหนได้บ้าง ปัญหาที่พบจริงๆ คือ เวลาอยู่บนถนนที่มีสองชั้น เช่น บางนา-ตราดมีบูรพาวิถีอยู่ด้านบน หลายครั้งการที่มันขึ้นสีแดงเถือก เราซูมแล้วยังมองไม่ออกว่าที่ติดคือล่างหรือบน ก็ต้องใช้วิจารณญาณเพื่อช่วยมันด้วย นี่คือสิ่งที่บอกว่าสมองมนุษย์ยังเหนือกว่า A.I.”

รู้จักเทคโนโลยีนี้ให้มากขึ้น ทดลองใช้ให้คล่องมือ จากชวนงงอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลงรัก เพราะต่อจากนี้จะไม่มีคำว่าหลงทาง จะมีแต่คำว่าหลงเธอ…GPS

  “GPS เป็นทั้งเครื่องมือท่องเที่ยวด้วยตัวเองที่สะดวก ง่าย เข้าถึงได้ดีที่สุดอันหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีนวัตกรรมมา ผมเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งถูกค้นพบไปหมดแล้ว แต่เราค้นพบได้ด้วยตัวเองเพียงเสิร์ชหาด้วย GPS” หนุ่ย พงศ์สุข กล่าว