'ดอยสเตอร์' ฮิปเตอร์บ้านห้วยตองก๊อ

'ดอยสเตอร์' ฮิปเตอร์บ้านห้วยตองก๊อ

เปลี่ยนงานฝีมือบ้านๆ ให้เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์สุดฮิป ที่ไม่ได้ชวนแค่'ช้อป' แต่เชิญไปชิลให้ถึงถิ่น

4,088 โค้ง กับระยะทาง 594 กิโลเมตร จากสนามบินเชียงใหม่ ผ่านปาย เข้าสู่บ้านห้วยตองก๊อ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน การเดินทางกินเวลากว่า 3 ชั่วโมง อะไรทำให้คนข้ามน้ำข้ามภูเขาหลายลูกเพื่อมาสัมผัสวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพนธุ์บนภูเขาสูง คำตอบกำลังจะถูกเฉลยไปพร้อมๆ กับการเดินทางครั้งนี้

ด้วยเส้นทางที่เป็นปูนสลับกับดินและหินบ้าง จึงต้องอาศัยรถกระบะโฟร์วิล หรือไม่ก็มอเตอร์ไซต์เท่านั้นที่จะพาเราขึ้นไปยังจุดหมายปลายทางได้ แต่ที่น่าหวาดเสียวคือ ทางค่อนข้างลาดชัน และเป็นโค้งเสียส่วนใหญ่ จึงไม่แปลกนักที่ระหว่างทางจะมีเพื่อนร่วมทริปสักคนสองคนสำรอกเอาอาหารมื้อกลางวันออกมาเสียหมด ดังนั้นบริการรถขึ้นเขาจากคนในพื้นที่คงผ่อนแรงและทำให้อุ่นใจขึ้นมาได้บ้าง

เมื่อถึงห้วยตองก๊อ หมู่บ้านเล็กๆ ในป่าใหญ่ที่มีอายุราวๆ 260 ปีได้ จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน เป็นที่ราบเชิงเขาห้อมล้อมด้วยภูเขาและหมอก ชาวปกาเกอะญอเรียกอีกชื่อว่า ‘โหล่หล่าโกล’ มาจากชื่อต้นไม้ทางภาคเหนือหรือที่รู้จักในชื่อ ‘ตองก๊อ’ ใบมีลักษณะคล้ายกับต้นตาล ชาวบ้านมักนำมาทำเป็นหลังคามุงบ้านหรือศาลาพักใจ และยังเป็นที่มาของลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของห้วยตองก๊อ

เธเธฒเธฃเธ›เธฑเธเธœเน‰เธฒเธฅเธฒเธ•เธญเธ‡เธเนŠเธญ

เสียงไก่ขันยามเช้าตรู่ เสียงอู๊ดๆ ของหมูดำอ้อนหาอาหาร ลมหนาวราว 18 องศาเซลเซียสจากเมื่อคืนยังคงพัดต่อเนื่อง ปลุกแขกผู้มาเยือนให้ตื่นจากการหลับใหล แล้วทำใจว่าจะอาบน้ำที่เย็นยะเยือกในเช้านี้อย่างไรดี บรรยากาศยามเช้าของที่นี่ช่างเหมาะแก่การจิบกาแฟคั่วสดหรือชาร้อน แล้วเงยหน้าจากแสงสีฟ้า เพราะที่นี่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แม้แต่สัญณาณโทรศัพท์ยังหาได้ยาก และไฟฟ้าก็เป็นระบบโซล่าเซลล์เปิดปิดเป็นเวลา ช่วยให้เราได้ดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติตรงหน้าอย่างเต็มที่และหันมากระชับความสัมพันธ์กับคนข้างๆ มากขึ้น

ห้วยตองก๊อไม่ใช่ชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่ ไม่ใช่กระแสนิยมท่องเที่ยวประเดี๋ยวประด๋าว แต่ที่นี่ทำมาตั้งแต่ปี 2542 พะตีทินกร เล่อกา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านห้วยตองก๊อ ซึ่งคำว่า ‘พะตี’ เป็นคำเรียกแทนลุงหรือคนที่แต่งงานแล้ว เล่าเรื่องราวก่อนจะมาเป็นการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างที่เห็นว่า ด้วยวิถีชีวิตแสนเรียบง่ายของชาวปกาเกอะญอ ทำให้เป็นที่สนใจของโครงการพัฒนาที่สูงเยอรมัน (TG) ที่เข้ามาเมื่อประมาณปี 2532 โดยมีเป้าหมายในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งในสมัยนั้นก็คือฝิ่น เนื่องจากชาวบ้านสูบกันมาก และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง กาแฟ เพื่อสร้างอาชีพ

เป็นระยะเวลา 7-8 ปีได้ ที่โครงการนี้นำนักวิชาการเกษตรเข้ามาศึกษาบริบทของแต่ละชุมชนและพัฒนาพื้นที่สูงแห่งนี้ ซึ่งก่อนจะสิ้นสุดกำหนดการทำงานทางโครงการได้ให้ทุนเพื่อทำการต่อยอดงานในพื้นที่ ค้นหาจุดเด่นของตนเองตามความถนัดเพื่อดึงมาพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งห้วยตองก๊อมีความโดดเด่นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอมือ จักรสาน ตีมีด และเกษตรธรรมชาติ

เธเน‰เธฒเธขเธขเน‰เธญเธกเธชเธตเธ˜เธฃเธฃเธกเธŠเธฒเธ•เธด(1)

ทั้งหมดนี้สามารถนำมารวมกันสร้างกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เน้นสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่าย อิงธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ รวมทั้งต่อยอดงานหัตถกรรมอย่างผ้าทอมือและการปักผ้าลายตองก๊อที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ เผยแพร่วิถีชีวิตของคนกับป่า สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คนรุ่นใหม่

“ตอนนั้นภาครัฐยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากนัก จะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนมากกว่าที่เข้ามาช่วยส่งเสริม ทั้ง NGO ของชาวต่างชาติ ตามด้วยพานักศึกษาดูงานจากต่างชาติเข้ามาศึกษาบริบทของชุมชน ซึ่งมากับทีมนักวิจัย นักวิชาการจากญี่ปุ่นจากอเมริกาก็มี ซึ่งทุกอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป และต้องย้อนกลับมาดูความพร้อมของชุมชนเป็นหลักด้วย นี่ก็เป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีกว่าที่ห้วยตองก๊อจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปี 2542” พะตี ทินกร กล่าว

กระทั่งปี 2560 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ชื่อว่า ‘การศึกษาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน’ ซึ่งสนับสนุนทุนวิจัยโดยฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า SME สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) หวังเพิ่มมาตราฐานสินค้าชุมชน เสริมองค์ความรู้ด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งไม่เพียงพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรม แต่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป อย่างกระเทียมปรุงรสบ้านนาปลาจาด ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเช่นเดียวกัน

โครงการดังกล่าวเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สมภพ ยี่จอหอ นักวิจัยและนักพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม เล่าว่า ทุกพื้นที่มีเรื่องเล่า เราสามารถหยิบมาสร้างเป็นเรื่องราวที่พ่วงท้ายไปกับการท่องเที่ยวได้อย่างน่าสนใจ 

ห้วยตองก๊อก็มีเรื่องราวการจัดการทรัพยากรป่าไม้กับความเชื่อ ที่สอดแทรกให้กับนักท่องเที่ยว อย่างเช่น พื้นที่ป่าของชาวปกาเกอะญอนั้น จะมีป่าช้าและป่าสะดือ ซึ่งมีความเชื่อว่า เป็นที่เก็บรกเด็กแรกเกิด โดยใช้กระบอกไม้ไผ่ในการบรรจุรกของเด็กไว้ แล้วนำไปแขวนไว้กับต้นไม้ เด็กที่เกิดมาทุกคนจะต้องมีต้นไม้ประจำตัวที่อยู่ในป่าสะดือนี้ อีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นการไม่ตัดไม้ทำลายป่าที่เสมือนต้นไม้ประจำตัว หรือจะเรียกว่าเป็นต้นไม้ประจำครอบครัวก็ได้ เพราะ 1 ครอบครัวจะมีต้นไม้ 1 ต้น เพื่อสร้างความผูกพันของคนกับป่า และป่าช้าซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษดังนั้นเราจะไม่ทำไร่ในพื้นที่ป่าช้า

เธเน‰เธฒเธขเธขเน‰เธญเธกเธชเธตเธ˜เธฃเธฃเธกเธŠเธฒเธ•เธด

หลังจากเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่อาจารย์พามาศึกษาดูงาน และเป็นพวกนักท่องเที่ยวแนวแอดเวนเจอร์ เดินป่าเพื่อมาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ เที่ยวเก๋ไก๋สไตล์ดอยสเตอร์ แม่ฮ่องสอน ในคอนเซ็ปที่ว่า ‘Proud to be highlander, Doister wannabe’

ดอยสเตอร์ จึงเป็นแบรนด์หลักที่นำเสนอผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน ซึ่งเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของฝากจากชุมชน จากการสังเกตของสมภพที่เห็นว่านักท่องเที่ยวมักจะเสียเงินในการซื้อผ้ากลับไปเป็นของฝาก มากกว่าค่ากิจกรรมและค่าที่พักด้วยซ้ำ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าผ้าทอมือของชาวบ้านแบบดั้งเดิมมีสีสันฉูดฉาด ซึ่งไม่ตอบโจทย์ตลาดคนเมืองนัก จึงทำการวิจัยหาสีธรรมชาติมาย้อมผ้าและสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ที่ชื่อลายตองก๊อ เลียนแบบหลังคาบ้านที่มุงด้วยใบจากต้นตองก๊อขัดกันเป็นสามเหลี่ยมสลับฟันปลา

แต่ก่อนจะมาเป็นดอยสเตอร์อย่างเช่นทุกวันนี้ ห้วยตองก๊อเคยทำแคมเปญ ‘รสนิยมดี’ ท่องเที่ยววิถีชุมชนมาก่อน ซึ่งเห็นว่าชาวต่างชาติสนใจและรู้จักกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์และอยากมาสัมผัสวิถีของชาวเขามากกว่าคนไทยด้วยกันเอง จึงต่อยอดการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นผ่านตัวผลิตภัณฑ์ของดอยสเตอร์ที่เป็นแบรนด์ห้วยตองก๊อแฟมิลี่ และมักทัวร์ตามงานแฟร์ต่างๆ ในหัวเมืองใหญ่

ในส่วนของสีธรรมขาติที่ใช้ย้อมผ้านั้น กลุ่มแม่บ้านเล่าว่าใช้วัถตุดิบจากผลหมากรากไม้ในป่าละแวกนี้ ลองผิดลองถูกผสมสีไปเรื่อยๆ จนได้สีที่ต้องการ อย่างสีน้ำตาลแก่จากลูกตองก๊อ, สีเหลืองจากเปลือกมะพูดและขมิ้น สีเขียวตองจากเปลือกมะลิไม้หรือเพกา ลูกคอคอเดาะหรือปิ้งขาว และขมิ้น สีกรมท่าจากลูกมะข้ามป้อม สีเทาแกมน้ำเงินจากฮ่อม สีแดงจากเปลือไม้แดงหรือในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่าเส่กอเบะ เป็นต้น 

เธชเธตเน€เธ‚เธตเธขเธงเธ•เธญเธ‡เธˆเธฒเธเธกเธฐเธ‚เธฒเธกเธ›เน‰เธญเธก

โดยขั้นตอนเริ่มจากการหาวัตถุดิบ นำมาหั่นและตำเพื่อให้สีออกพร้อมกับนำไปต้มให้เดือด โดยมีขี้เถ้า ปูนหมาก และโคลนเป็นสารช่วยให้สีติดผ้า ตามด้วยนำฝ้ายที่ซักด้วยน้ำเปล่า ต้มในหม้อเพื่อเป็นการย้อมสี จากนั้นแช่ในน้ำแป้ง แล้วยกขึ้นตาก รอจนแห้งสนิท ม้วนเก็บเป็นก้อนกลมๆ เพื่อนำไปทอและปักลาย ซึ่งขั้นตอนการปักลายนั้นขั้นต่ำ 8 วัน รวมแล้วกว่าจะกลายเป็นผ้าทอมือลายห้วยตองก๊อหนึ่งเดียวของไทยใช้เวลากว่า 1 เดือน ถือเป็นผ้าทอมือที่มีราคาหลักร้อยแต่คุณค่าและคุณภาพหลักล้าน

“สิ่งที่ทุกคนช่วยสนับสนุนซื้อผ้าทอมือที่ย้อมสีจากธรรมชาตินั้น จะไม่ใช่เพียงการซื้อสินค้า แต่เป็นการซื้อสินทรัพย์ เพราะในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ผ้านี้จะมีมูลค่าเพิ่ม เนื่องด้วยคนทำเริ่มน้อยลงทุกทีและไม่มีคนสานต่อ ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดกระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้านแล้วมาสานต่อภูมิปัญญานี้” แววตาที่เปี่ยมด้วยความหวังของสมภพเล่าถึงคุณค่าของผ้าทอมือ

“และล่าสุดที่พวกเราชาวห้วยตองก๊อ ดอยสเตอร์ ในนามของเครือข่าย CBT แม่ฮ่องสอน ได้รับคัดเลือกจาก ททท. พาความงามแบบฉบับชาวดอยเมืองสามหมอกไปนำเสนอที่งาน ITB Berlin 2019 ประเทศเยอรมนี ในไทยแลนด์พาวิลเลียน 6-10 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของเรา” สมภพ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากผ้าทอมือแล้ว ห้วยตองก๊อยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้สัมผัสและลงมือทำ โดยแบ่งเป็นฐาน 4 ฐานด้วยกัน คือ ฐานจักสาน ฐานตีมีด ฐานสมุนไพร และฐานย้อมผ้าสีธรรมชาติ รวมทั้งมีกิจกรรมเดินป่าและชมน้ำตกอีกด้วย โดยไกด์ชาวปกาเกอะญอพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนด้วยรอยยิ้มและพร้อมมอบความมสุขเล็กๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ