รอยต่อแห่งญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่ในฮอกไกโด กับศิลปะของ มิงิชิ โคทาโร

รอยต่อแห่งญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่ในฮอกไกโด กับศิลปะของ มิงิชิ โคทาโร

สะท้อนอิทธิพลแห่งการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 20 กับงานศิลปะของมิงิชิ โคทาโร

การไปเที่ยวฮอกไกโดตามรีวิวต่างๆ นอกเหนือจากแหล่งกินและสกีรีสอร์ท ทำให้เราเห็นว่าสถานที่ต่างๆ มักเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์อันบ่งบอกถึงรอยต่อแห่งยุคสมัยระหว่างญี่ปุ่นยุคกลาง และยุคสมัยใหม่ เช่น หอนาฬิกา ทีวีทาวเวอร์ และอาคารประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าไม่รู้ข้อมูลก่อน ไปถึงก็ถ่ายรูปเช็คอินสักแชะ แล้วยังคงสงสัยว่าเขามาที่นี่ทำไมกัน ก็ต้องไปหาคำตอบผ่านวิธีต่างๆ กันหน่อย

เช็คอินไปกับความเปลี่ยนผ่าน

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของฮอกไกโดมีความเชื่อมโยงกันถึงการเปลี่ยนผ่านยุค ด้วยความที่หลายเมืองในฮอกไกโดเป็นเมืองท่า เช่น ฮาโกดาเตะ โอตารุ จนมาถึงซัปโปโร จึงเหมือนประตูที่เปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากตะวันตก หลังจากยุคเอโดะ (1603 – 1868) ที่โชกุนโตะกุงาวะพยายามปิดประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพ แต่ทานแรงกดดันจากสังคมโลกให้เปิดประเทศไม่ได้ กระทบถึงระบบศักดินาที่กร่อนกำลังจากความเปลี่ยนแปลงจนสิ้นสุดยุคเอโดะ มาสู่ยุคเมจิ (1868 – 1912) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นญี่ปุ่นสมัยใหม่ ผู้ปกครองยุคนั้นสามารถบริหารประเทศอย่างสร้างสรรค์ จนพัฒนาญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอันเฟื่องฟู เป็นยุคที่โดดเด่นมากยุคสมัยหนึ่งของญี่ปุ่น

สถานที่ท่องเที่ยวแบบพลาดไม่ได้ในฮอกไกโด ล้วนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในรอยต่อนั้น ไม่ว่าจะเป็นป้อมโกะเรียวคาคุ ที่เมืองฮาโกดาเตะ ซึ่งคนนิยมไปช่วงซากุระบานรอบป้อมรูปดาว 5 แฉก ก็เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคเอโดะที่ญี่ปุ่นกำลังเปิดประเทศ และเกิดสงครามฮาโกดาเตะ สงครามใหญ่ภายในประเทศครั้งสุดท้าย ก่อนระบอบศักดินาล่มสลาย สู่ยุคเมจิที่ปกครองประเทศในระบอบจักรพรรดิที่อยู่ภายใต้รัฐสภา หลักฐานของความเป็นเมืองหน้าด่านของการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกของเมืองท่าฮาโกดาเตะ ปรากฏอยู่ในโบสถ์คริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์ โบสถ์นิกายโรมันคาธอลิค คาเฟ่ไส้กรอกเยอรมันของ Carl Raymond ที่เนินเขาฮาโกดาเตะ เป็นต้น รวมถึงอาคารแบบตะวันตกต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วเมือง

ซึ่งเมืองท่าอื่นๆ ในญี่ปุ่น เช่น โยโกฮามา นางาซากิ ก็มีบรรยากาศใกล้เคียงนี้เช่นกัน เราบันทึกร่องรอยเหล่านี้เอาไว้ในหัว ก่อนที่จะมาถึงซัปโปโร ที่ได้ไปชมหอนาฬิกา ซัปโปโร อันเป็นอาคารไม้แบบตะวันตกแห่งแรกในภูมิภาคฮอกไกโด และซัปโปโร ทีวี ทาวเวอร์ อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ของฮอกไกโด

พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ฮอกไกโด

ออกนอกเส้นทางชมสถานที่ A Must ตามลิสต์ของเพื่อนคนไทย เราไป Hokkaido Museum of Modern Art ที่มีคอลเลคชั่นของศิลปินคนสำคัญของฮอกไกโด โดยเฉพาะศิลปินที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ซึ่งนำมาจัดแสดงในธีมต่างๆ ตลอดปี อย่าง Captivating Works from Our Collection ซึ่งคัดผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากลัทธิทางศิลปะตะวันตก เช่น ศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ และเซอร์เรียลลิสซึ่ม ซึ่งมองแวบผ่าน ก็นึกไปถึงงานของศิลปินเจ้าของสไตล์นั้นได้ทันที แต่ในนั้นยังคงมีจิตวิญญาณอันน่าพิศวงบางอย่างของญี่ปุ่น ซึ่งสั่นสะเทือนความรู้สึกภายในของผู้ชม ให้เรารู้สึกใจเต้นตึกตักได้

ไม่เพียงศิลปะที่สะท้อนคลื่นงานศิลป์ตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อญี่ปุ่น ในช่วงเวลาที่เราไปชม ก็ยังมีนิทรรศการของศิลปินและกวีในยุคเอโดะ Hakyo Kakizaki ซึ่งวาดภาพด้วยสีหมึกจากปลายพู่กันที่เก็บรายละเอียดของธรรมชาติ นก ดอกไม้ และสัตว์ป่าได้อย่างงดงาม

Hokkaido Museum of Modern Art

รวมถึงนิทรรศการ “Dear Foujita” ซึ่งแสดงมิตรภาพระหว่างชาวอเมริกัน Frank Sherman และศิลปิน Tsugura Foujita ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เชอร์แมนมาทำงานในญี่ปุ่นช่วงนั้น ได้ผูกมิตรกับศิลปินญี่ปุ่นมากมาย เขานับถือและชื่นชอบผลงานของฟูจิตะเป็นพิเศษ จนเป็นเพื่อนกันชั่วชีวิต และได้รับอิทธิพลการสร้างงานศิลปะจากฟูจิตะ รวมทั้งสนับสนุนผลงานของศิลปินญี่ปุ่นหน้าใหม่สืบมาอีกหลายคน นิทรรศการนี้จัดแสดงภาพถ่าย จดหมาย งานศิลปะของฟูจิตะ และศิลปินคนอื่นๆ ที่เชอร์แมนสะสมไว้มากมาย เป็นหลักฐานของของศิลปะสมัยใหม่ ที่ถ่ายเทเข้าหากัน ไม่ได้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้รับอิทธิพลฝั่งเดียวเท่านั้น

ศิลปินผู้จากไปก่อนวัยอันควร

เดินจาก Hokkaido Museum of Modern Art มาอีก 400 เมตร ก็จะถึง Migishi Kotaro Museum of Art ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในเครือเดียวกัน สามารถซื้อบัตรเข้าชมทั้ง 2 ที่ได้ในราคาย่อมเยาลง (ค่าเข้าที่ละ 510 เยน หากซื้อทั้ง 2 ที่จะได้ในราคา 820 เยน)

MIMA

ไม่รู้จักมิงิชิ โคทาโร่ (Migishi Kotaro) มาก่อน แต่ถ้าเขามีพิพิธภัณฑ์ของตัวเองก็ต้องสำคัญแน่นอน MIMA - Migishi Kotaro Museum of Art เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ในอาคารโมเดิร์นสะดุดตาอยู่ติดกับสวนใหญ่ จึงมีสภาพแวดล้อมน่าประทับใจ 

มิงิชิ เป็นคนจังหวัดซัปโปโร เป็นศิลปินฮอกไกโดคนสำคัญในกลุ่มศิลปินแนวหน้าที่สร้างงานแนวตะวันตก เขาทำงานหลากสไตล์เพื่อค้นหาแนวทางของตนเอง และเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ทำงานแนวอวองการ์ดออกมา เขาใช้ชีวิตศิลปินอยู่ 12 ปี ก่อนจะจากไปในวัย 31 ปี ครอบครัวของมิงิชิมอบคอลเลคชั่นผลงาน 220 ชิ้นของเขาให้กับฮอกไกโดในปี 1967 โดย Hokkaido Prefecture Art Museum ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ผลงานของเขาขึ้นในปี 1983

Migishi Kotaro_daughter

Portrait of Yoko (1927)

มิงิชิ โคทาโร (1903 – 1934) มีชีวิตในช่วงยุคเมจิ – ยุคไทโช ซึ่งศิลปะญี่ปุ่นทั้งภาพเขียนพู่กัน และภาพพิมพ์อุคิโยะเอะ (UKiyo-e) อันสะท้อนภาพชีวิต การค้า และวัฒนธรรมที่เฟื่องฟูในยุคเอโดะ กำลังค่อยๆ เลือนหาย กลายเป็นศิลปะสมัยใหม่ โยกะ (Yoga) ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะยุโรปและอเมริกัน ซึ่งเริ่มขึ้นในยุคเมจิ อย่างที่บอกไปว่าการถ่ายเททางวัฒนธรรมไม่ได้มีอยู่ทางเดียว ในขณะที่ศิลปินญี่ปุ่นเปลี่ยนสไตล์มาทำงานแนวตะวันตก ศิลปินตะวันตกก็ได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นไม่น้อย เช่น Edgar Degas, Paul Gauguin, Mary Cassatt Claude Monet, Camille Pissarro, Pierre-Auguste Renoir และ Vincent Van Gogh เป็นต้น

สไตล์หลากแนวสะท้อนภาพแวดล้อม

นิทรรศการถาวรที่ MIMA จัดแสดงผลงานชิ้นสำคัญของมิงิชิ โดยไล่เรียงไปตามไทม์ไลน์ให้เห็นหมุดหลักในชีวิต จุดเปลี่ยน และจุดกำเนิดของซีรี่ส์ศิลปะต่างๆ

แม้ไม่ได้เข้าเรียนศิลปะในสถาบันไหน แต่เขาก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง และเดินทางไปโตเกียวเพื่อเป็นศิลปินหลังจากจบมัธยมปลายตอนอายุ 18 ปี เขาใช้ชีวิตยากลำบากกับทรัพยากรอันจำกัด งานในยุคแรกของเขาใช้สีไม่กี่สี วาดบนกระดาษลัง เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อแคนวาส

ในยุคที่กระแสตะวันตกหลั่งไหล มิงิชิสร้างสรรค์ศิลปะไม่ซ้ำแนว ผลงานชื่อ Girl Holding a Lemon (1922) ซึ่งเป็นงานเปิดตัวที่ได้แสดงในนิทรรศการขององค์การศิลปะใหม่ Shunyo – Kai ทำให้ได้เห็นสไตล์ที่ผสมความชื่นชอบต่อศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังในยุคนั้นเรียวเซ คิชิดะและศิลปินฝรั่งเศสอองรี รุสโซ (Henri Rousseau)

M

Boy with Racket, Girl and Dog (1922) และ Girl Holding a Lemon (1922)

ต่อให้มีชีวิตที่จำกัดจำเขี่ย แต่มิงิชิก็พยายามทำงานศิลปะ โดยบันทึกชีวิตร่วมสมัยของผู้คนในยุคนั้น อย่างงาน Boy with Racket, Girl and Dog (1922) ให้ภาพการใช้ชีวิตของกลุ่มชนชั้นสูงสมัยใหม่ที่รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา ผ่านเสื้อผ้าสไตล์สากล การเล่นเทนนิส และเลี้ยงสุนัขพันธุ์ตะวันตก เขาใช้สีสดสว่างกับซับเจ็คโดดออกมาจากพื้นหลังสีมืด เป็นภาพชีวิตอันแสนสุขขัดแย้งกับความเป็นจริงในชีวิตของเขา

Migishi Kotaro

จากภาพถ่าย มิงิชิไม่ได้เป็นชายหนุ่มรูปงาม แต่เขาอาศัยความเพียรในการแสดงความรักต่อหญิงสาวในภาพวาด Woman with Red Shawl (1924) ซึ่งเป็นภาพวาดของเซ็ทซึโกะ โยชิดะ นักศึกษาศิลปะ ที่มิงิชิชวนมาเป็นแบบวาดภาพ เขาแต่งเติมครั้งแล้วครั้งเล่า จนเป็นภาพที่มากด้วยรายละเอียดต่างจากสไตล์ตัวเอง จนในที่สุดความพยายามในการปลูกต้นรักก็สำเร็จ

Migishi Setsuko 2

Woman with Red Shawl (1924)

ภาพที่อยู่ติดกันเป็นภาพ Portrait of Young Girl (1925) เป็นภาพของเซ็ทซึโกะเช่นกัน แต่เป็นปีต่อมา ซึ่งเซ็ทซึโกะได้เป็นภรรยาของมิงิชิแล้ว สังเกตได้ว่าสีหน้าท่าทางของเซ็ทซึโกะอ่อนโยนและผ่อนคลาย เทียบกับภาพที่แล้วซึ่งไหล่ขวาของเซ็ทซึโกะยกขึ้นเล็กน้อย แสดงถึงความเกร็งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

Migishi Setsuko

Portrait of Young Girl (1925)

เซ็ทซึโกะทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ภายหลังที่มิงิชิเสียชีวิต เธอเป็นศิลปินหญิงแนวหน้าในการสร้างสรรค์ภาพเขียนสไตล์ตะวันตก งานของเธอโดดเด่นด้วยภาพวาดดอกไม้ และการใช้สีสันนุ่มนวล เธอไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสอยู่หลายปี เดินทางสร้างสรรค์และแสดงผลงานไปทั่วยุโรป ก่อนเดินทางกลับมาญี่ปุ่นเมื่ออายุ 84 ปี มิงิชิ เซ็ทซึโกะ ได้รับรางวัลยกย่องเป็นผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรมดีเด่นของญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่ภรรยา บุตรชายของมิงิชิ โคทาโร ซึ่งมีชื่อเดียวกับพ่อ ก็เดินตามรอยบิดามารดาเป็นศิลปินเช่นกัน

วัฒนธรรมตะวันตกในภาพวาด

มาริโอเน็ต หรือหุ่นกระบอกที่เชิดด้วยเชือก คณะละครสัตว์ รวมถึงวงดนตรีออเคสตรา ล้วนเป็นศิลปะการแสดงจากตะวันตกซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นช่วงนั้น มิงิชิได้วาดภาพวัฒนธรรมเหล่านั้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวญี่ปุ่น ตั้งแต่ภาพวาดหุ่นกระบอกตัวเล็กขนาดฝ่ามือในโทนภาพสีเหลือง เมื่อครั้งที่ภาพ Marionette (1930) นี้ออกแสดงเป็นครั้งแรก ถูกวางเคียงคู่กับภาพ Girl in Yellow Dress (1930) ซึ่งเป็นภาพพอร์ตเทรตของทาคาโกะ โยชิดะ เพื่อนสาวซึ่งเป็นนักเปียโนชื่อดังคนแรกๆ ของญี่ปุ่น ด้วยเหตุที่ว่า 2 ภาพนี้มีความคล้ายกันบางอย่าง หญิงสาวมีบรรยากาศคล้ายตุ๊กตา วางแขนในลักษณะเหมือนถูกเชิดด้วย

Migishi Kotaro_Marionette

Marionette (1930) และ Girl in Yellow Dress (1930)

โยชิดะคนนี้มีส่วนกระตุ้นให้มิงิชิสร้างผลงานซีรี่ส์ Orchestra ขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่มิงิชิเปลี่ยนแนวมาสู่อวองการ์ด หลังจากได้เสพงานของ Picasso, Miro และ Ernst ในโตเกียว เขาลดทอนรูปทรงเสมือนจริง บวกกับการทดลองเทคนิคหลายอย่าง เช่น ภาพวาดเรขาคณิต และการขูดสี อย่างในภาพ Orchestra (1933) เส้นสายอันเป็นอิสระยุ่งเหยิง แสดงภาพวงดนตรีที่กำลังเล่นมาถึงตอนพีค มีการแสดงออกถึงอารมณ์ที่น่าประทับใจ เทคนิคเดียวกันนี้เขายังได้ทดลองวาดออกมาเป็นภาพนู้ดและดอกไม้ โดยทิ้งสไตล์เดิมไปโดยสิ้นเชิง

Orchestra

Orchestra (1933)

ซีรี่ส์ภาพที่สะดุดความรู้สึกเราที่สุดคือชุดตัวตลก ตัวตลกมักถูกแสดงในภาพที่สดใสร่าเริง (หรือไม่ก็ในมิติที่น่ากลัวในหนังสยองขวัญ) แต่สำหรับมิงิชิแล้ว เขามักวาดภาพตัวตลกที่นั่งนิ่งๆ อยู่ด้านหลังเวที

Mask man

Mask Man (1928)

อย่างภาพ Mask Man (1928) และภาพ Clown (1930 – 1931) เป็นภาพตัวตลกที่ไร้ความรู้สึก ราวกับเขาสะท้อนตัวตนผ่านงานชุดนี้ ตัวตลกนั้นสนุกสนาน แต่ก็มีมุมที่อ่อนไหว และมีความเศร้าบางอย่างที่ไม่อาจแสดงออกได้ มิงิชิก็เช่นกัน เขาตลกและขี้เล่น เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน แต่กลับเป็นคนที่มีอารมณ์เปราะบางและหลายครั้งก็ซึมเศร้าอย่างควบคุมไม่ได้

Performing Clown_Migishi Kotaro

Performing Clown (1932)

แม้แต่ภาพ Performing Clown (1932) ภาพตัวตลกกำลังแสดงอยู่ ซึ่งต่างจากตัวตลกนิ่งงันที่มิงิชิมักจะวาด ก็ยังเป็นภาพตัวตลกที่ปราศจากความสนุกสนาน ดูโดดเดี่ยว ยืนง่อนแง่นรักษาสมดุลอยู่บนบาร์ไม้ ใบหน้าผู้ชมจากเบื้องล่างไร้รายละเอียดดูเย็นชา ฉายภาพความรู้สึกภายในของผู้วาดที่ดูขัดแย้งกันระหว่างความสนุกสนานกับความเศร้า ภาพเขียนชิ้นนี้มีขนาดใหญ่เท่าตัวคนจริง จัดแสดงอยู่กลางห้อง ดึงดูดให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่แวดล้อมศิลปินในขณะนั้น

ผีเสื้อที่โบยบิน

ชุดภาพสุดท้ายที่มิงิชิสร้างสรรค์ขึ้น เป็นชุดผีเสื้อและเปลือกหอย เขาได้รับแรงบันดาลใจจากการไปเที่ยวพักผ่อนในเกียวโตและนารากับเซ็ทซึโกะ เขารวบรวมภาพเขียนชุดนี้ออกมาเป็นหนังสือประกอบบทกวีในชื่อ Butterfly and Seashell เพื่อหาทุนสำหรับสร้างสตูดิโอ โดยให้เพื่อนของเขา อิวาโอะ ยามาวากิ สถาปนิกผู้ไปศึกษาในสำนัก Bauhaus เยอรมนีมาออกแบบให้

Butterfly _Migishi

Butterfly and Seashell_Migishi

Relaxing Seashell (1934)

ภาพชุดผีเสื้อนี้ใช้สีสัน ทีแปรง และเนื้อหาที่แตกต่างออกไป จากภาพโทนสดตัดกับพื้นหลังหม่น ความหวังและการมุ่งสู่อิสระของเขาปรากฏอยู่ในพื้นหลังสีชมพู และการโบยบินของผีเสื้อ ในภาพ Flying Butterfly (1934) ที่มีผีเสื้อตัวหนึ่งที่มุมบนขวา บินหลุดออกจากหมุดที่ปักไปไว้ได้ ส่วนเปลือกหอยที่เขาวาดหงายขึ้นก็แสดงถึงอิสระที่ไร้กังวล

Flying Butterfly_Migishi Kotaro

Flying Butterfly (1934)

น่าเสียดายว่าในปีเดียวกันนั้น เขาก็เสียชีวิตกะทันหัน ไม่ทันได้เห็นสตูดิโอในโตเกียวที่กำลังสร้างนั้นเสร็จสิ้น หลังจากสตูดิโอเสร็จ เซ็ทซึโกะก็จัดงานแสดงภาพเขียนของเขาขึ้น ส่วนอาคาร MIMA ในซัปโปโรก็ออกแบบตามภาพสตูดิโอแห่งนั้น

งานศิลปะไม่เพียงถ่ายทอดจากมุมมองส่วนตัวของศิลปิน ยังสะท้อนยุคสมัย และเชื่อมโยงกับความเป็นเมือง ระหว่างการท่องเที่ยวถ้าได้เติมมุมศิลปะเข้าไป จะช่วยให้เราเห็นภาพของเมืองที่ไปเยือนได้กลมยิ่งขึ้น