LGT มองภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนในปี 2567

LGT มองภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนในปี 2567

LGT มองภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2567 ในเชิงบวก โดยคาดการณ์ว่าสหรัฐจะมีการชะลอตัวแบบ "Soft Landing" มองแนวโน้มในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป ไทย และการเติบโตของจีนอยู่ในระดับปานกลาง

17 มกราคม 2567 สเตฟาน โฮเฟอร์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของ แอลจีที หรือ LGT ไพรเวทแบงก์กิ้ง ภูมิภาคเอเชีย ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกของ LGT เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเอเชีย รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนในปี 2567

สหรัฐอเมริกา 

แม้ในปี 2566 จะเป็นปีที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ LGT ยังคงมองในเชิงบวกว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ในครึ่งแรกของปี 2567 จะนำไปสู่การชะลอตัวแบบ Soft Landing เพื่อหลีกเลี่ยงการหดตัวของ GDP ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปตามนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ จะประสบความสำเร็จในการควบคุม อัตราเงินเฟ้อ ที่สูงโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย LGT มีมุมมองในเชิงบวกเนื่องจากอัตราการว่างงานของสหรัฐที่ต่ำ ตามการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง แม้ว่าความต้องการแรงงานในสหรัฐจะลดลง แต่จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับยังคงสูงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการแรงงานในด้านการก่อสร้างยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง LGT คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะมีอัตราการเติบโตแบบไม่นับรวมเงินเฟ้อประมาณ 2% ในปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ที่ 2% ตามเป้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี

ญี่ปุ่น

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบกับภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 2566 และยังคงเผชิญความท้าทายอันเนื่องมาจาก ภัยธรรมชาติ และความไม่แน่นอนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม LGT มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความท้าทายในระยะสั้น และมองว่าภาพรวมทั้งปีของบริษัทญี่ปุ่นและการลงทุนยังคงมีแนวโน้มที่ดี บริษัทญี่ปุ่นได้เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการ ประกอบกับเงินเยนที่อ่อนค่าในปี 2566 ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกันยังมีสัญญาณที่ชัดเจนของการเพิ่มขึ้นของราคาผู้บริโภคและสินทรัพย์ ดังนั้น LGT จึงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของญี่ปุ่นจะปรับนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นในปี 2567 และเงินเยนญี่ปุ่นคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

อินเดีย 

อินเดียได้กลายเป็นตลาดในภูมิภาคเอเชียอันดับสองของ LGT สาเหตุหลักเนื่องจากการลงทุนที่สำคัญๆ ของรัฐบาลอินเดียในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ทางรถไฟ และสนามบิน โดย LGT คาดการณ์ว่า GDP ของอินเดียจะมีอัตราการเติบโตแบบไม่นับรวม เงินเฟ้อ อย่างน้อย 6% ในปี 2567 ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ

จีน

คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2567 อยู่ในระดับปานกลาง (ประมาณ 5%) สาเหตุหลักมาจากความอ่อนแอในตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจดำเนินต่อไปจนถึงปี 2568 เมื่อมองในมิติของการประเมินมูลค่า ตลาดหุ้นจีน อยู่ใกล้กับระดับต่ำสุดในระยะยาว และนักลงทุนพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง โดยคาดหวังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ระหว่างที่รอดูการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนตามหลังตลาดอื่นได้

ยุโรป 

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในเยอรมนีและอิตาลีในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อส่งออกจากจีน อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร (Eurozone) ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อการผลิตที่อยู่ในระดับที่สูงสะสมมาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง LGT คาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปในระดับปานกลางในปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากการลดลงของอัตราดอกเบี้ย

ไทย

LGT คาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะเติบโตที่ 3% ในปี 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุนระหว่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมของไทย มีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นโดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคาดหวังต่อการผ่อนคลายทางการคลังที่สำคัญ (5.6 แสนล้านบาท) ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้

กลยุทธ์การลงทุนในระดับโลก

โดยรวมแล้ว LGT คาดการณ์ว่านักลงทุนจะนิยมลงทุนในพันธบัตรมากกว่าหุ้นและเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เนื่องจากระดับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลงในช่วงฤดูร้อน LGT คาดว่าเงินทุนระหว่างประเทศจะไหลกลับเข้าสู่ ตลาดหุ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในแง่ของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอินเดียและสหรัฐอเมริกานั้น LGT คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจของอินเดีย ในขณะที่สหรัฐอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีและนโยบายในช่วงฤดูร้อนในแง่ของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น