ตามติดภารกิจ ‘รักษ์โลก’ จาก ’กลุ่มธุรกิจ TCP’ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ตามติดภารกิจ ‘รักษ์โลก’ จาก ’กลุ่มธุรกิจ TCP’ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

กว่า 6 ทศวรรษ ที่กลุ่มธุรกิจ TCP สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อยู่เคียงข้างคนไทยและผู้บริโภคทั่วโลก ผ่านแบรนด์กระทิงแดง เรดบูล เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม ไฮ่! เพียวริคุ ซันสแนค และวอริเออร์

ทว่าการเติบโตต่อในอนาคต กลุ่มธุรกิจ TCP ไม่เพียงมองธุรกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน มุ่งดำเนินกิจการโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อโลก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างผลกระทบเชิงบวกทุกมิติ

         เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา แม่ทัพใหญ่ สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ประกาศแผน 5 ปี เป้าหมายใหม่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” มุ่งสู่การเป็น House of Great Brands และยังมีภารกิจสำคัญนั่นคือ  “การปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม” (Caring) ที่จะดำเนินการเร่งด่วน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ผลักดันองค์กรมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในทุกกระบวนการทำงาน สำหรับธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ ภายในปี  2593 2.พัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งเป้าบรรจุภัณฑ์ ในกลุ่มธุรกิจ TCP รีไซเคิลได้100% ภายในปี 2567 และ 3.การจัดการน้ำยั่งยืน (Water Sustainability) ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปีพ.ศ. 2573  ซึ่งตลอดปี 2566 กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินโครงการมากมายต่อเนื่องดังนี้ 

ตามติดภารกิจ ‘รักษ์โลก’ จาก ’กลุ่มธุรกิจ TCP’ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

 TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย สร้างความยั่งยืน

            กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ริเริ่มโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำครบทุกมิติ สร้างสมดุลของการเติมน้ำทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน เป้าหมายสูงสุดคือเป็นองค์กร Net Water Positive หรือลดการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ภายใต้การทำงานร่วมกันกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) และสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนใน 3 พื้นที่ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่7 จังหวัด โดยสามารถคืนน้ำให้ชุมชนได้แล้วถึง 17 ล้านลูกบาศก์เมตร มีผู้รับประโยชน์กว่า42,000 ครัวเรือน (ตัวเลขสะสมระหว่างปี 2562-2566) นอกจากพัฒนาความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ชุมชนและสังคมด้วย

TCP Sustainability Forum ปลุกพลังลงมือทำ เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน

            กลุ่มธุรกิจ TCP ยังได้สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ระดับประเทศ ผ่านการจัดงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อต่อยอดกิจกรรมและส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งการจัดงานประชุมในปีแรกได้รับพลังสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชนองค์กรมหาชนมาแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน ต่อยอดสู่ปีที่ 2 กับ TCP Sustainability Forum 2023 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition...From Commitment to Action” หรือ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” มุ่งปลุกพลังให้ผู้ประกอบการหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม สานพันธกิจของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

งานนี้ แม่ทัพใหญ่ “สราวุฒิ” ได้ตั้งคำถามสำคัญถึงหัวใจหลักของการประชุม TCP Sustainability Forum ในปีนี้ว่า “ประเทศไทยไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างไร” 

            เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น กลุ่มธุรกิจ TCP ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ด้วยการเริ่มเปลี่ยนวิธีการคิด (Mindset) ปรับวิธีการทำธุรกิจ “เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม” หาจุดร่วมระหว่างสิ่งที่ต้องเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบ สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้เป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า”โดยสิ่งที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินการและมีความก้าวหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4% เทียบเท่าคาร์บอนเมตริกตัน หรือประมาณ 2,300 ตัน การลดขนาดและน้ำหนักบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้ทรัพยากรให้น้อยลง พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ระบบรีไซเคิล การทำ Zero Discharge หรือการไม่ปล่อยน้ำที่เกิดขึ้นในโรงงานออกไปภายนอก แต่นำมา Recycle, Reduce, Reuse ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการออกสินค้าใหม่ โดยปัจจุบันมากกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจ TCP เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ

ตามติดภารกิจ ‘รักษ์โลก’ จาก ’กลุ่มธุรกิจ TCP’ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

สร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ลงมือทำ” เพื่อโลกยั่งยืน

      กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ผสานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นธีมในการจัดกิจกรรมอาสา TCP Spirit ภายใต้ชื่อคณะเศษสร้าง จากปีแรกที่นำทัพอาสาลงพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำ จ.ระนอง เรียนรู้การจัดการขยะทั้งคัดแยก เก็บกลับ รวมถึงแปลงเป็นรายได้ให้ชุมชน ซึ่งปัจจุบันยังเก็บกลับวัสดุรีไซเคิลได้แล้วกว่า 43 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 200%

            มาในปี 2 นี้ อาสา TCP Spirit ได้ไป “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ” มุ่งหน้าสู่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรียนรู้การจัดการ “เศษ” ขยะและ “สร้าง” มูลค่าใหม่ผ่านการลงมือแบบครบวงจร พร้อมเรียนรู้ความเชื่อมโยงในระบบนิเวศ เพื่อเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่“เรียนรู้-ลงมือทำ-ส่งต่อ” เพื่อให้เหล่าอาสาเป็นอีกหนึ่งพลังดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไป

            ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่ “สราวุฒิ” นำทัพกลุ่มธุรกิจ TCP ปลุกพลังเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืน สะท้อนถึงความตั้งใจจริง เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้มีเพียงภารกิจลุยเดี่ยว หากแต่ยังมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง ทั้งจากองค์กรพันธมิตร ชุมชน เครือข่ายอาสาคนรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่สำคัญยังสะท้อนวรรคทองของแม่ทัพใหญ่ที่ว่า ภารกิจนี้ต้องเริ่มต้น “เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม” เพื่อเริ่มต้นสร้างแรงกระเพื่อมออกไปไม่มีที่สิ้นสุด