'การผ่าตัดกระเพาะอาหาร' ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

'การผ่าตัดกระเพาะอาหาร' ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

"นพ.นรนนท์ บุญยืน" ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องและโรคอ้วน ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก ให้ความรู้เกี่ยวกับ "การผ่าตัดกระเพาะอาหาร" ส่วนจะเหมาะกับใคร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ติดตามอ่านได้จากบทความนี้

นพ.นรนนท์ บุญยืน ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องและโรคอ้วน ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ และบมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC กล่าวว่า โรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย โรคอ้วน ในปัจจุบัน จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับระดับนานาชาติพบว่า การผ่าตัดกระเพาะอาหาร สามารถช่วยรักษาภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการรับประทานยาหรือฉีดยาเพียงอย่างเดียว นำไปสู่ผลลัพธ์ในระยะยาวคือ โรคเบาหวานทุเลาลงหรือหายขาดได้ โดยในระยะยาว การผ่าตัดนั้นสามารถช่วยผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นเบาหวาน ลดการใช้ยาหรือโอกาสหายขาดจากโรคเบาหวานได้มากกว่า 50% เทียบกับกลุ่มใช้ยาที่ไม่ผ่าตัด ซึ่งโอกาสหายขาดจากโรคเบาหวานนั้นมีเพียง 2% เท่านั้น 

นพ.นรนนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักมีมานานกว่า 50 ปี ในต่างประเทศ แต่เดิมในอดีตเป็นการผ่าตัดเปิดท้อง โดยมักมีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่และเป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูงและมีผลแทรกซ้อนมาก จึงไม่ได้รับความนิยม ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบัน การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะผ่านกล้องเป็นที่ยอมรับทั่วไป มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน และการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ไว ภาวะแทรกซ้อนน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็สามารถกลับมาลุกเดิน และใช้ชีวิตได้ปกติ อีกทั้งยังหายจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากความอ้วนด้วยเช่นกัน

\'การผ่าตัดกระเพาะอาหาร\' ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

การผ่าตัดกระเพาะแบบส่องกล้องมีกี่วิธี?

  1. การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy) เป็นการผ่าตัดที่ทำมากที่สุด ความซับซ้อนน้อยกว่าวิธีอื่น โดยการใช้อุปกรณ์ตัดเย็บแบบพิเศษ ทำการตัดแต่งกระเพาะให้เรียวตรงให้เหลือประมาณ 15-20% ส่งผลให้ลดฮอร์โมนความอยากอาหาร (Ghrelin) ทำให้ทานได้น้อยลง ทำให้สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ถึง 60-70% ภายใน 1 ปี หลังผ่าตัด โอกาสเกิดภาวะขาดสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินต่างๆ มีน้อยกว่าผ่าตัดแบบอื่นๆ 
  2. การผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y gastric bypass) เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนขึ้น โดยการผ่าตัดกระเพาะให้เป็นกระเปาะ ประมาณ 25-30 ซีซี ร่วมกับการผ่าตัดบายพาสลำไส้เล็ก หลังผ่าตัดจะสามารถช่วยเพิ่มระดับการทำงานของฮอร์โมนความอิ่ม ลดความหิว ทานได้น้อยลง และลดการดูดซึมอาหารลง สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ถึง 70-80% ซึ่งเหมาะกับคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานรุนแรง วิธีนี้สามารถช่วยเรื่องเบาหวานได้ดีกว่าวิธีแรก โดยเฉพาะในผู้ป่วยอ้วนที่มีภาวะโรคกรดไหลย้อน แต่โอกาสเกิดภาวะขาดวิตามิน แร่ธาตุ มีมากกว่า โดยเฉพาะวิตามิน B12 ซึ่งจำเป็นต้องรับวิตามินเสริมต่อเนื่องทุก 6-12 เดือน
  3. การผ่าตัดแบบสลีฟพลัส (Sleeve gastrectomy Plus) เป็นวิธีการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy) และการผ่าตัดแบบบายพาสลำไส้เล็กให้ระยะดูดซึมสารอาหารสั้นลง สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ถึง 70-80% และช่วยเรื่องเบาหวานได้ดีเทียบเท่าแบบบายพาส โดยวิธีสลีฟพลัสนี้ จะแบ่งเป็นวิธีย่อยๆ ที่แต่งต่างกันได้อีกหลายวิธีตามความเหมาะสมของคนไข้ 

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เหมาะกับใคร?

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับทุกคน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาอย่างละเอียด โดยเทียบประโยชน์ที่จะได้รับกับความเสี่ยงของการผ่าตัด รวมถึงตรวจร่างกาย เพื่อดูความพร้อมของสภาพร่างกายในแต่ละบุคคล สามารถประเมินเบื้องต้นจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) คือ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) >32.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับ โรคอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น และค่าดัชนีมวลกาย (BMI) >37.5 kg/m2 เหล่านี้ เข้าเกณฑ์ที่แนะนำว่าสามารถผ่าตัดได้ กรณีอื่นๆ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดหลังการผ่าตัดกระเพาะ

  • ภาวะแทรกซ้อน อาจเกิดขึ้นได้ตามอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย ในผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ป่วยที่น้ำหนักมาก โรคประจำตัวมาก หรือเคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน ก็จะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดมากขึ้น
  • ภาวะการขาดวิตามิน เกลือแร่ เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะทำให้ผู้ป่วยทานอาหารน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณน้อยลงด้วย ฉะนั้นผู้ป่วยต้องได้รับวิตามิน แร่ธาตุบางชนิดทดแทนต่อเนื่อง 

นพ.นรนนท์ กล่าวว่า แม้ว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะมีข้อดีทั้งในแง่การรักษาโรคแทรกซ้อนจากความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน รวมถึงการลดน้ำหนัก ปรับรูปร่าง แต่การผ่าตัดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับทุกคน ผู้ป่วยต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาผลลัพธ์กับความเสี่ยง และเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม โดยผู้ป่วยควรทราบถึงกระบวนการการผ่าตัดดังกล่าว และทราบถึงความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยควรทราบถึงสภาวะน้ำหนักส่วนเกิน และโรคร่วมหรือโรคแทรกซ้อนของตนเอง เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

สำหรับผู้ที่มีความกังวลหรืออาการป่วยมีข้อบ่งชี้ของโรค แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์ได้ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่โรงพยาบาลใน เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ทุกแห่ง ผ่านเว็บไซต์ princhealth