'ประยูร ออคิดส์' กับเคล็ดลับทำธุรกิจเพาะกล้วยไม้ให้แตกต่าง โตอย่างยั่งยืน

'ประยูร ออคิดส์' กับเคล็ดลับทำธุรกิจเพาะกล้วยไม้ให้แตกต่าง โตอย่างยั่งยืน

"ประยูร ออคิดส์" ธุรกิจเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ที่อยู่ในวงการนี้มากว่า 43 ปี ส่งออกเนื้อเยื่อพันธุ์กล้วยไม้กว่า 20 ประเทศทั่วโลก ด้วยแนวคิดทำธุรกิจให้ "แตกต่าง" แต่ "เติบโตอย่างยั่งยืน" ในรูปแบบของตัวเอง

ประยูร พลอยพรหมมาศ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ประยูร ออคิดส์ เล่าถึงที่มาการทำธุรกิจกล้วยไม้ว่า ตนคลุกคลีอยู่ในวงการกล้วยไม้มาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากพ่อทำ ธุรกิจกล้วยไม้ ร่วมกับอา ซึ่งขณะนั้นเป็นบริษัทส่งออกกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้มีโอกาสติดตามท่านไปดูงานในสถานที่ต่างๆ ได้เห็นขั้นตอนการทำงานมาตลอด จึงเกิดความรัก ความผูกพันในธุรกิจกล้วยไม้และอยากพัฒนาให้ธุรกิจกล้วยไม้เติบโตมากกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของการทำ ธุรกิจเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ ที่ถือว่าอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ การดำเนินธุรกิจในช่วงแรก เมื่อเห็นว่าเรียนรู้ธุรกิจมากเพียงพอแล้ว จึงขออาและพ่อ ออกมาเริ่มธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองตอนอายุ 24 ปี ในรูปแบบซื้อมาขายไปโดยซื้อขายกล้วยไม้ทุกชนิด จากประสบการณ์และความชำนาญทำให้เริ่มมองตลาดออก โดยเฉพาะความนิยมของตลาดเมืองนอกที่มีสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน และเน้นกล้วยไม้พันธุ์ไม้เมืองหนาว ก็ศึกษาดูว่าพันธุ์ไหนได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นพันธุ์ที่มีโอกาสทางการตลาดในระยะยาว 

"เราเริ่มต้นจากมองว่า อาทำอะไร? เราต้องทำให้แตกต่าง ตลาดไหนที่อาทำ...เราจะไม่ทำ เพื่อไม่เป็นการทำตลาดที่ซ้ำซ้อน โดยธุรกิจกล้วยไม้ของอาจะเน้นรูปแบบค้าปลีก ส่วนเราทำในรูปแบบค้าส่ง และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทำเหมือนกับห้องแล็บ ซึ่งมองว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดแข็งของธุรกิจเราที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน"

ประยูร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรามอง Pain Point ลูกค้า คือปัญหาของเรา สิ่งที่จะทำให้ ธุรกิจกล้วยไม้ เติบโตและยั่งยืนได้นั้นเราจะมองเพียงแค่ตัวเราไม่ได้ แต่ต้องคิดเผื่อสิ่งที่ลูกค้าควรจะได้รับประโยชน์ด้วย และเรื่องต้นทุนค่าขนส่งก็เป็นอีกหนึ่ง Pain Point ของลูกค้าที่เราให้ความสำคัญ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลแทนขวดแก้ว และนวัตกรรมการขนส่งทางเรือแทนเพราะการส่งทางเครื่องบินมีต้นทุนสูงกว่ามาก สำหรับบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งเนื้อเยื่อกล้วยไม้และต้นอ่อนกล้วยไม้หากส่งออกต่างประเทศจะใส่ในขวดแก้วและบรรจุในกล่องโฟมกันกระแทกและขนส่งทางเครื่องบินเป็นหลัก เพื่อความรวดเร็วและป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อ แต่ลูกค้ากลับต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงมาก ด้วย Pain Point นี้เองทำให้พยายามคิดหาทางออกเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า จนค้นพบนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดแก้วทางเรือขึ้นมา ทำให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งให้กับลูกค้าได้มากกว่า 85% และได้รับรางวัลนวัตกรรมด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จากแนวคิดที่ต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการขนส่งทางอากาศที่สูงมากให้กับลูกค้า จึงเริ่มมองหาทางเลือกในการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งการขนส่งทางเรือตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะราคาต่ำกว่าการขนส่งทางเครื่องบิน 1- 3 เท่า ขณะเดียวกันยังมองหาวัสดุที่ไม่หนามากเพื่อเพิ่มพื้นที่การขนส่งทางเรือ และป้องกันการกระแทกจากการขนส่งโดยไม่ต้องใช้โฟม

"เมื่อก่อนเราบรรจุต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดบรรจุในกล่องกระดาษอัดโฟมเพื่อป้องกันการกระแทกและส่งทางเครื่องบิน เมื่อลองออกแบบและเปลี่ยนวัสดุโฟมมาใช้กระดาษลูกฟูกแทน ทำให้มีพื้นที่เหลือบรรจุขวดแก้วได้มากขึ้น จากเดิม 1 กล่อง เราบรรจุได้ 20 ขวด พอเปลี่ยนมาใช้กระดาษลูกฟูกสามารถบรรจุได้ถึง 24 ขวด ทำให้ลูกค้าประหยัดมากขึ้น โฟมเป็นวัสดุที่ก่อให้เกิด ขยะพลาสติก ซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหลายประเทศเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีพลาสติกสำหรับสินค้านำเข้าเพื่อกีดกันทางการค้า ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาใช้กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์แทน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้า ยังตอบโจทย์ความต้องการของการค้ายุคใหม่ที่เน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน"

จากที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จในการพยายามลดต้นทุนให้กับลูกค้า ทั้งการเปลี่ยนมาขนส่งทางเรือ หรือการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่ใครก็ทำได้ เพราะข้อจำกัดการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้ระยะเวลานาน การเก็บรักษาในตู้แอร์คอนเทนเนอร์ที่มืด อาจสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อและต้นอ่อนกล้วยไม้ได้ แต่ที่ ประยูร ออคิดส์ สามารถทำได้ ด้วยเทคนิคเฉพาะที่ทำได้ที่นี่เท่านั้น

ประยูร กล่าวทิ้งท้ายถึงก้าวต่อไปของ "ประยูร ออคิดส์" ว่า รางวัลนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ เป็นเหมือนใบเบิกทางช่วยให้นวัตกรรมการขนส่งออกกล้วยไม้ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงนี้เป็นประโยชน์มาก และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ SME รวมถึง "การลดต้นทุน" ถือเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งนี้กลายเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าเดิมให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นอีกด้วย