เคล็ดลับ 'กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน' กับการพัฒนาธุรกิจอาหารสัตว์ให้เติบโตในตลาดใหญ่

เคล็ดลับ 'กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน' กับการพัฒนาธุรกิจอาหารสัตว์ให้เติบโตในตลาดใหญ่

เปิดเบื้องหลังเส้นทางความสำเร็จ "กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน" กับเคล็ดลับในการพัฒนาธุรกิจอาหารสัตว์รายเล็กให้สามารถเติบโตและแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดได้

เคล็ดลับการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เฉพาะเจาะจง ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการ SME มักนำมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ และจากตลาดอาหารสัตว์ที่ค่อนข้างใหญ่ รวมถึงมีช่องว่างอยู่มาก เหตุนี้ ในปี 2541 "เจริญชัย สวัสดี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน จำกัด จึงก้าวออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนสู่เส้นทางผู้ประกอบการ 

เจริญชัย สวัสดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน จำกัด กล่าวว่า ตัวเขาเรียนจบด้านปศุสัตว์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ จึงมีความรู้ในด้านยาและการรักษาสัตว์ ตลอดจนการบริหารจัดการฟาร์ม ภายหลังได้ทำงานกับบริษัทธุรกิจด้านสัตว์น้ำ ทำให้มีความรู้ด้านการผลิตสินค้าและการจำหน่ายสินค้า ซึ่งได้จุดประกายแนวคิดก่อตั้งโรงงานอาหารสัตว์สำเร็จรูป โดยมองว่า ตลาดกุ้งของไทยยังคงเติบโตได้ดี เป็นโอกาสที่ธุรกิจอาหารกุ้ง รวมถึงเคมีและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์น้ำน่าจะเติบโตได้ดีเช่นกัน จึงพยายามศึกษาเรื่องการตั้งโรงงานผลิต อาหารสัตว์สำเร็จรูป โดยเริ่มต้นจากธุรกิจจำหน่ายเคมีและเวชภัณฑ์ วิตามินและแร่ธาตุ อีกทั้งยังมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาด แม้ในขณะนั้นตลาดจะมีผู้เล่นรายใหญ่แทบจะทุกเซกเมนต์แล้วก็ตาม 

"ในปี 2552 ทาง กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน ได้ปักหมุดสร้างโรงงานขึ้น ที่ จ.สมุทรสาคร โดยผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป รวมถึงการผลิตและจำหน่ายยาฆ่าเชื้อสำหรับสัตว์บก สัตว์น้ำ ตลอดจนหัวเชื้อวิตามินที่ฟาร์มสามารถนำไปผสมเองได้ ซึ่งในส่วนยาฆ่าเชื้อ โรงงานยังสามารถรับจ้างผลิต (OEM) ได้ด้วย นอกจากนั้นยังได้พัฒนาสูตร อาหารกุ้ง ของตัวเองขึ้นมา ผลิตโดยเครื่องจักรที่มีคุณภาพ ทั้งยังร่วมมือกับนักพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อคิดค้นสูตรอาหารให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมการกินของกุ้ง จนสินค้าสามารถแข่งขันได้ในตลาด ด้วยเหตุนี้ภายหลังที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์เริ่มปรับตัวและอยู่รอดได้ เราก็มองหาโอกาสหรือการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในกลุ่มใหม่ๆ เพื่อขยายขีดความสามารถให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น" 

เจริญชัย กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่มุ่งเน้นพัฒนาสูตรอาหารกุ้งในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาตลาดกุ้งมีเกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมาก เนื่องจากมีราคาดี มีตลาดที่เปิดกว้าง ดังนั้นธุรกิจอาหารกุ้งจึงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำรายใหญ่ แต่ยังมีช่องว่างให้ผู้ผลิตอาหารกุ้งที่เป็น SME รายย่อยทําตลาดได้ ตัวอย่างเช่น การโฟกัสลูกค้าในกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยและรายอิสระที่เลี้ยงในกระชัง หรือฟาร์มรูปแบบต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ตรงนี้เป็นช่องว่างของตลาดที่รายใหญ่ยังทำการตลาดเข้าไปไม่ถึง และเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตอาหารกุ้งแบรนด์อื่นๆ ได้มีพื้นที่ตลาดของตัวเองได้ 

"ปัจจุบัน กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน มีการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์สำเร็จรูป เคมีและเวชภัณฑ์ วิตามินและแร่ธาตุ สำหรับทั้งในกลุ่มสัตว์บก เช่น หมู เป็ด ไก่ วัว กลุ่มสัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง กบ และตะพาบน้ำ รวมทั้งผลิตสารปรับสภาพซาก สารจับเชื้อราในอาหาร และยาถ่ายพยาธิ ล่าสุดกำลังขยายธุรกิจไปกลุ่มอาหารสำหรับสุนัขและแมวหรือกลุ่ม Love Pet ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านพัฒนาคุณภาพการผลิต และพัฒนาสูตรอาหารให้เหมาะกับพฤติกรรมการกินของสัตว์แต่ละช่วงวัย"

เจริญชัย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเคล็ดลับพัฒนา ธุรกิจอาหารสัตว์ หากเป็นอาหารสัตว์ในกลุ่มที่เลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโต หรือกลุ่มสัตว์ที่เลี้ยงเชิงเศรษฐกิจ จะเน้นสูตรที่ทำให้โตไว แข็งแรง จึงทำให้ผู้เลี้ยงสามารถจับขายได้เร็วขึ้นและมีกำไรมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงส่วนผสมในสูตรอาหารของสัตว์แต่ละชนิด ผู้พัฒนาสูตรอาหารยังนำวิตามินหรือแร่ธาตุเสริมที่มีผลต่อการเจริบเติบโตต่อสัตว์ชนิดนั้นใส่เข้าไปในอาหารด้วย ขณะที่ราคายังต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้า ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมหรือมีกำไร ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจรูปแบบและวิธีการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดจะเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์สามารถพัฒนาสูตรอาหารที่เน้น "โตไว แข็งแรง" และตอบสนองความต้องการลูกค้า รวมทั้งเทคนิคด้านการตลาดที่เข้าถึง เพื่อเป็นตัวเลือกในใจของลูกค้ามีเคล็ดลับเรื่อง "บริการ" ที่เน้นการเข้าถึงลูกค้า  

"การโฟกัส ตลาดอาหารสัตว์ ในกลุ่มต่างๆ ผู้ประกอบการมักจะพิจารณาถึงช่องว่างและโอกาสของอาหารสัตว์แต่ละชนิดและประเภทมากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับรายใหญ่ อาทิ ในตลาดอาหารสัตว์บกมีต้นทุนการผลิตสูง ผู้ประกอบการ SME อาจแข่งขันกับรายใหญ่ได้ยาก ทั้งมีกำไรต่อหน่วยต่ำ และยังต้องไปแข่งขันเพื่อเป็นตัวเลือกกับอีกหลากหลายแบรนด์ การทำตลาดนี้ส่วนใหญ่จึงมักเน้นผลิตให้มีต้นทุนราคาที่ไม่สูงมาก และไปวางจำหน่ายในร้านอาหารสัตว์หรือร้านขายสินค้าเพื่อการเกษตรจึงจะแข่งขันได้ ขณะที่อาหารสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตลาดเปิดกว้างมากกว่า เกษตรกรนิยมเลี้ยงในระยะสั้น เน้นโตเร็ว จับขายได้คุณภาพดี ตรงความต้องการของตลาด ดังนั้นการพัฒนาคุณค่าของสูตรอาหารกุ้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงตามความต้องการ ทำให้การแข่งขันในตลาดนี้ดูที่ว่าใครมีฟังก์ชันในการพัฒนาสูตรอาหารและบริการที่เข้าถึงลูกค้ามากกว่ากัน" 

เจริญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน "กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน" ได้มีการรวมกลุ่มกับซัพพลายเชนผู้เลี้ยงลูกกุ้ง พันธุ์ปลาน้ำจืด และสัตว์น้ำอื่นๆ เพื่อขยายเครือข่ายซัพพลายเชนให้ใหญ่ขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถการบริการลูกค้า ส่วนตลาดอาหารปลา เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลากะพง และปลาดุก เป็นปลาเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูง ตลาดอาหารสัตว์กลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"สำหรับโอกาสตลาด อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) บริษัทฯ มีแนวคิดว่า การเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ ในประเทศไทยและทั่วโลก รวมทั้งปัจจุบันคนยุคใหม่นิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น และเริ่มหันมาเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมว ให้เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวแทน ส่งผลให้ อาหารสุนัขและแมว มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการแข่งขันสูงด้วยเช่นกัน โดยกรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชินให้ความสำคัญในตลาดนี้ เพราะมองว่าตลาดอาหารสุนัขและแมว สามารถขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ เพียงแต่ต้องทำคุณภาพและมาตรฐานให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยมีตลาดเป้าหมายเป็นกลุ่มตลาดอาเซียน เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น"

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ภายใต้แบรนด์ของ "กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน" ในปัจจุบันมีหลากหลายแบรนด์ โดยแบ่งกลุ่มตามฟังก์ชันของอาหารแต่ละช่วงวัยและขนาดของสุนัขและแมว แต่ละประเภทจะมีการแยกแบรนด์กันอย่างชัดเจน ซึ่งแนวคิดการทำหลายๆ แบรนด์ เป็นแนวคิดยอดนิยมสำหรับสินค้าใหม่ที่โฟกัสตลาดในพื้นที่ชนบทในต่างจังหวัด และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์กระจายสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวคิดพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงหลายแบรนด์ตามขนาดและช่วงวัยของสัตว์เลี้ยง รวมถึงฟังก์ชันที่เหมาะสม อาทิ การเสริมวิตามิน หรือแร่บางชนิดสำหรับสุนัขหรือแมวบางประเภท เป็นต้น 

"แม้ตลาดอาหารสุนัขและแมวเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทั้งจากแบรนด์รายใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย SME ที่ดูเหมือนจะแข่งขันได้ยากในตลาดนี้ กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ หรือบริการเสริมที่มีวัตถุประสงค์ในการขายสินค้า ตลอดจนการรวมกลุ่มหรือสร้างชุมชน (Community) สำหรับคนที่มีรสนิยมเดียวกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนที่ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าโดยตรงแก่ผู้บริโภค"

เจริญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวคิดด้านการตลาดที่เน้นการสร้างสรรค์กลยุทธ์เพื่อเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือสร้างความแตกต่างให้สินค้าเพื่อเจาะช่องว่างในตลาดกลุ่มใหม่ขึ้นมาให้ได้ เป็นภารกิจที่ท้าทายสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาสูตรอาหารแมวให้เหมาะกับศาสนาและความเชื่อของประเทศนั้นๆ เช่น อาหารแมวต้องมี มาตรฐานฮาลาล (Halal) เพื่อสามารถจำหน่ายในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมได้ รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ที่เป็นสากล ดังนั้นทิศทางในอนาคตของ ธุรกิจอาหารสัตว์ ภายใต้ กรุ๊ฟเน็ต เม็ทดิชิน จึงมุ่งเดินหน้าพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอาหารสัตว์เลี้ยงให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้