NPS มุ่งสู่พลังงานสะอาด เริ่ม COD โครงการ Floating Solar Farm สองเฟสแรก 60 MW

NPS มุ่งสู่พลังงานสะอาด เริ่ม COD โครงการ Floating Solar Farm สองเฟสแรก 60 MW

NPS เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Farm) ใน จ.ปราจีนบุรี จำนวน 3 เฟส กำลังผลิตรวม 150 เมกะวัตต์ (MW) เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) สองเฟสแรกแล้ว จำนวน 60 เมกะวัตต์ (MW)

โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจากยุโรปและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ย้ายฐานการผลิตมายัง สวนอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับตัวผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับการใช้ พลังงานสะอาด ในการผลิตสินค้าเพื่อสะท้อนให้ผู้บริโภคเห็นถึงการมีความรับผิดชอบต่อ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทาง NPS จึงได้ปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถจัดสรรพลังงานสะอาดป้อนให้แก่ลูกค้าที่ต้องการพลังงานประเภทนี้ได้อย่างเพียงพอและมีเสถียรภาพ โดยปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm สามารถดำเนินการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เรียบร้อยแล้วทั้งหมด 2 เฟส เฟสละ 30 เมกะวัตต์ (MW) รวมเป็น 60 เมกะวัตต์ (MW)

"เราเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2 เฟสแรก โดยเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) 60 เมกะวัตต์ (MW) ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และนอกจาก 2 เฟสนี้แล้ว เรายังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเฟส 3 อีกจำนวน 90 เมกะวัตต์ (MW) ที่อยู่ระหว่างการติดตั้ง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ NPS มีกำลังการผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำรวม 150 เมกะวัตต์ (MW) และทำให้บริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นจาก 770 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 920 เมกะวัตต์ (MW) ทั้งหมดนี้เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่ต้องการลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและตอบสนองความต้องการลูกค้าใน สวนอุตสาหกรรม 304 ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ พลังงานสะอาด ในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังสามารถใช้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เป็นสิ่งจูงใจลูกค้ารายใหม่ๆ ที่ใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้เข้ามาลงทุนที่สวนอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ด้วย" 

โยธิน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบริษัท NPS ประกอบด้วยธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้า NPS มีโรงไฟฟ้าในประเทศไทยทั้งหมด 12 โรง กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำติดตั้งรวม 796.05 เมกะวัตต์ (MW) และกำลังการผลิตไอน้ำติดตั้งรวม 2,486.78 ตันต่อชั่วโมง ธุรกิจผลิตน้ำมีอ่างเก็บน้ำพร้อมโรงกรองน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมกำลังผลิต 160,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ NPS ยังได้เพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจพลังงานของบริษัทฯ โดยการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า Biomass Energies d’Alizay (BEA) ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ NPS สามารถเพิ่มโอกาสในการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศฝรั่งเศสและทวีปยุโรป โดยใช้ BEA เป็นฐานในการขยายธุรกิจได้ อีกทั้งยังมีโครงการร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม IPP กำลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายในปี 2570