'จมูกอิเล็กทรอนิกส์' นวัตกรรม 'ช่วยดมกลิ่น' ที่ให้ SME ผลิตอาหารง่าย และลดต้นทุน

'จมูกอิเล็กทรอนิกส์' นวัตกรรม 'ช่วยดมกลิ่น' ที่ให้ SME ผลิตอาหารง่าย และลดต้นทุน

ส่องไอเดียธุรกิจยุคดิจิทัล "จมูกอิเล็กทรอนิกส์" นวัตกรรม "ช่วยดมกลิ่น" อีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ SME ผลิตอาหารง่ายขึ้น แถมช่วยลดต้นทุน

เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความก้าวหน้า และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่รอบตัวแทบจะทุกมิติ เเละเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ชอบความเร็ว คล่องตัว และช่วยให้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น 

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม มีข้อมูลที่สะท้อนภาพจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลใน Q3/65 จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ระบุว่าในกลุ่มอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ที่ประกอบด้วยซอฟต์แวร์, บริการดิจิทัล, ดิจิทัลคอนเทนต์ และโทรคมนาคม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.6 จากระดับ 46 ในไตรมาส 2 ปี 2565

รวมถึงอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายตามลำดับ ส่งผลให้กำลังซื้อของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 3 แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนยังคงอยู่ในระดับที่สูง สาเหตุจากราคาน้ำมัน ภาวะสงครามที่ทำให้เกิดปัญหา และค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น 

หุ่นยนต์ และ ปัญญาประดิษฐ์ นับเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อโลกธุรกิจ ซึ่งไทยได้แจ้งเกิดนวัตกรที่สร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์หุ่นยนต์และเครื่องมือที่ช่วยสำหรับการใช้งานแทนมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การแพทย์ การศึกษา รวมถึงการบริการลูกค้า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะเติบโตในทุกๆ อุตสาหกรรมในทุกปี 

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีจำแนกกลิ่นมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ที่ผ่านมามีการผลักดันงานวิจัยด้านเซนเซอร์ไอโอที และระบบเอไอไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักวิทยาศาสตร์ 2 คน ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ในปี 2004 คือ Richard Axel และ Linda B. Buck ที่ค้นพบกระบวนการรับรู้ จำแนก และจดจำกลิ่นของมนุษย์

"โดยมียีนที่แสดงออกในรูปของโปรตีนหน่วยรับกลิ่น ทำให้จดจำกลิ่นได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเครื่อง จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ฝีมือคนไทย ใช้หลักการทำงานของเซนเซอร์ตรวจวัดก๊าซหลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน โดยทำหน้าที่ตรวจรับกลิ่นเหมือนจมูกมนุษย์ รวบรวมและแปลงสัญญาณไฟฟ้าจากเซนเซอร์เป็นสัญญาณดิจิทัลไปประมวลผลเพื่อจำแนกรูปแบบกลิ่น โดยมีซอฟต์แวร์ทำหน้าที่แยกแยะและจำแนกกลิ่น ที่สามารถแสดงผลในรูปแบบกราฟสำหรับการวิเคราะห์ได้" ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ กล่าว

\'จมูกอิเล็กทรอนิกส์\' นวัตกรรม \'ช่วยดมกลิ่น\' ที่ให้ SME ผลิตอาหารง่าย และลดต้นทุน

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยี จมูกอิเล็กทรอนิกส์ เกิดขึ้นและได้รับการพัฒนามานาน โดยคนทั่วไปเข้าใจว่าคือเซนเซอร์ตรวจวัดสาร แต่จุดเด่นของเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์นี้ มีความสามารถในการเปลี่ยนข้อมูลกลิ่นเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลที่มีมูลค่าและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ฐานข้อมูลดิจิทัลของกลิ่นที่ออกแบบเพื่อเป็นตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์กลิ่นสำหรับวินิจฉัยโรคเบาหวาน มะเร็ง การออกแบบกลิ่น รส สำหรับการพัฒนารสชาติอาหารใหม่ หรือกลิ่นดิจิทัลในโลกเมตาเวิร์สที่กำลังได้รับการพัฒนาในปัจจุบัน เป็นต้น  

วันดี วัฒนกฤษฎิ์ CEO บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จำกัด กล่าวว่า การดม และวิเคราะห์จำแนกกลิ่นมีความจำเป็นในอุตสาหกรรมอาหารอย่างมาก สมัยก่อนต้องใช้แรงงานคนไม่ต่ำกว่า 5 คน เพื่อทดสอบกลิ่นและหาค่าเฉลี่ยในการวิเคราะห์กลิ่นในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต และค่าเฉลี่ยที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อน แต่หลังจากวิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมา อาการสูญเสียการรับกลิ่นรสในผู้ป่วยโควิด เป็นอุปสรรคที่ทำให้ความแม่นยำในการวิเคราะห์ลดลง จึงเป็นโอกาสให้กับบริษัทฯ ในการเข้าตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อจำกัดเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมีราคาสูง เนื่องจากอุปกรณ์และโปรแกรมควบคุมส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากต่างประเทศ และมีค่าบำรุงรักษาเครื่องที่ต้องใช้ผู้ชำนาญการในการปรับการทำงานให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทดสอบ Pain Point ดังกล่าว ทำให้บริษัท SME ในประเทศไม่สามารถเข้าถึงได้ MUI Robotics จึงเข้ามาเพื่อช่วยผลักดัน SME ไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่แข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้วรุ่นล่าสุดที่สามารถตรวจวัดวัตถุได้ทั้งของแข็ง เหลว และก๊าซ ด้วยการเชื่อมระบบไหลเวียนกลิ่นตัวอย่างบนเครื่องตรวจวัด เพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่แม่นยำ 

เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ MUI-Nose สามารถให้บริการในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มได้อย่างครอบคลุม ได้แก่ การบริการด้านตรวจวัดกลิ่นวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพ และการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง เนื้อสัตว์แช่แข็ง ข้าว และผลิตภัณฑ์จากพืช อาหารกระป๋อง น้ำมันพืช น้ำอัดลม เป็นต้น ตัวอย่างการตรวจวัดกลิ่น ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การตรวจวัดกลิ่นโคลนในปลา การตรวจกลิ่นหาข้าวหอมมะลิแท้ การตรวจสอบการคั่วเมล็ดกาแฟ การตรวจสอบกลิ่นใบชาจากแหล่งผลิตแท้ การตรวจหากลิ่นปลอมปน และฟอร์มาลีน เป็นต้น 

MUI Robotics ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยต่อยอดธุรกิจเพื่อสตาร์ทอัพไทย จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งได้ผลักดันนวัตกรรม "เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์" บุกตลาดต่างประเทศกำลังจำหน่ายเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ไปยังเขตอาเซียน และยุโรป รวมถึงการขอมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมขยายการจำหน่ายไปสู่ตลาดยุโรป และตลาดโลก 

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 19% การพัฒนาของเทคโนโลยี ที่ได้ยกตัวอย่างเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของโลกดิจิทัลทั้งหมด ที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งสะท้อนว่า SME จำเป็นต้องยอมรับและยกระดับการเข้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติควบคู่ไปกับหุ่นยนต์อัจฉริยะและเชื่อมโยงกับเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ทําให้ระบบการผลิตยกระดับจาก LEAN ไปสู่ "CYBER-PHYSICAL PRODUCTION"

สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบุว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีการนําความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม 4.0 มาใช้ในระบบ และปรับตัวได้รวดเร็วจะมีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในระดับเดียวกันที่ยังไม่ได้ปรับตัว ซึ่งกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มแรกๆ ที่นําระบบนี้มาใช้ ทำให้ได้รับประโยชน์มากกว่าคู่แข่งจากการมีศักยภาพที่สูงกว่า โดยคนที่เริ่มก่อนก็จะเป็นผู้นําก่อน

ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากทั้งผู้ประกอบการและการจ้างงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความครบวงจรในเรื่องของการผลิตอาหารที่มีความพร้อมเป็นครัวของโลก หากมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นำ Robotics สร้างเครื่องจักรอัจฉริยะ เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน และยังสามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ SME ให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อ้างอิง

\'จมูกอิเล็กทรอนิกส์\' นวัตกรรม \'ช่วยดมกลิ่น\' ที่ให้ SME ผลิตอาหารง่าย และลดต้นทุน