แพทย์ รพ.หัวเฉียว แนะวิธีดูแลรักษา 'มะเร็งไทรอยด์' ให้ทันก่อนลุกลาม

แพทย์ รพ.หัวเฉียว แนะวิธีดูแลรักษา 'มะเร็งไทรอยด์' ให้ทันก่อนลุกลาม

พญ.ภัทรวรรณ โกมุทบุตร อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลหัวเฉียว จะมาแนะวิธีสังเกตสัญญาณบ่งชี้ของอาการ "มะเร็งไทรอยด์" ตรวจพบเร็ว รักษาหายขาดได้

"ไทรอยด์" เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของหลอดลมใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายกับปีกผีเสื้อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ทั้งยังควบคุมระบบการเผาผลาญของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายมีผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร และการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ดังนั้นหาก ต่อมไทรอยด์ เกิดการทำงานผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ มากมาย

พญ.ภัทรวรรณ โกมุทบุตร อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า มะเร็งไทรอยด์ เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์ต่างๆ เพิ่มจำนวนขึ้นและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถควบคุมได้และพัฒนาเป็นก้อนเนื้อมะเร็งในที่สุด โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกถึงสาเหตุได้อย่างแน่ชัด มักจะเกิดขึ้นกับเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอาศัยหรือทำงานใกล้กับรังสี เคยมีประวัติฉายแสงที่คอหรืออาจเกิดจากการส่งผ่านทางพันธุกรรมของคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็น โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ มาก่อน ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์เริ่มแรกอาจไม่มีอาการใดๆ นอกจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์

สัญญาณบ่งชี้ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งไทรอยด์ มีดังนี้

  1. คลำพบก้อนนูนใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะก้อนที่มีลักษณะแข็ง
  2. เสียงแหบ หายใจไม่สะดวก
  3. กลืนอาหารไม่สะดวก
  4. เจ็บบริเวณลำคอและปวดลามไปที่หูในบางครั้ง
  5. ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต

แม้ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกถึงสาเหตุของ มะเร็งไทรอยด์ ได้อย่างแน่ชัด แต่โรคนี้สามารถที่จะรักษาให้หายได้ และมีหลากหลายวิธีในการรักษา เช่น การผ่าตัด การกลืนแร่และการฉายรังสี หากพบสัญญาณบ่งชี้ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งไทรอยด์สูง ควรรีบเข้าพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อประเมินอาการ 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลหัวเฉียว ได้เปิดให้บริการศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โดยทีมแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านเบาหวานและไทรอยด์คอยให้คำปรึกษา ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างเจาะลึกและวางแผนการรักษา รวมทั้งยังส่งเสริมให้ผู้รับบริการได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคและสามารถนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตนเอง