"ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว" อย่านิ่งนอนใจ อาจเสี่ยง "หัวใจเต้นผิดจังหวะ"

"ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว" อย่านิ่งนอนใจ อาจเสี่ยง "หัวใจเต้นผิดจังหวะ"

ปัจจุบัน "ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ" เป็นหนึ่งภัยเงียบใกล้ตัวที่กำลังแพร่หลาย โดยเฉพาะ "สังคมผู้สูงอายุ" ลักษณะอาการของภาวะนี้จะเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่ ติดตามได้จากบทความนี้

นพ.ชัยณรงค์ ศิริกาญจนโกวิท อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า ภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ ซึ่งอาจเต้นเร็วหรือเต้นช้าเกินไป เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น

"ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ" เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโรคบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น โดยเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว (มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที) หัวใจเต้นช้า (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที) เจ็บแน่นหน้าอก หายใจขัด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หมดสติ ซึ่งหากเกิดอาการขึ้นอย่างกะทันหันหรือบ่อยครั้งควรรีบไปพบแพทย์

การรักษาภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในบางชนิดแพทย์จะมีทางเลือกในการรักษาได้แก่ การใช้ยา เพื่อควบคุมจังหวะของหัวใจ สำหรับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดปกติ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) โดยการสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด การใช้ไฟฟ้ากระตุก เพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้ไฟฟ้าตำแหน่งที่ลัดวงจร วิธีนี้อาจช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดหายขาดได้ และการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ โดยเครื่องมือจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นปกติทันที

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถลดโอกาสเกิดให้น้อยลงได้ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ตรวจสุขภาพ และพบแพทย์สม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ การสูบบุหรี่ และความเครียด

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการเฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือดให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งสามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกสิทธิตลอด 24 ชั่วโมง และมีบริการรถ Mobile ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน สายด่วนศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ โทร. 0-2223-1774