คนรักเล เฮ! กฎกระทรวงคุ้มครองเกาะโลซิน มีผล 28 ก.ค.นี้ "วราวุธ" ย้ำจิตสำนึก

คนรักเล เฮ! กฎกระทรวงคุ้มครองเกาะโลซิน มีผล 28 ก.ค.นี้ "วราวุธ" ย้ำจิตสำนึก

กฎกระทรวงคุ้มครองเกาะโลซิน มีผล 28 ก.ค.นี้ คนรักเล เฮ! ด้าน "วราวุธ" ย้ำจิตสำนึก ร่วมรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เผยถึงความสำคัญและความจำเป็นในการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล พร้อมยกบทเรียนที่ต้องสูญเสียปะการังในพื้นที่เกาะโลซิน และวอนทุกฝ่ายช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงความยั่งยืน ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ย้ำข้อห้ามในพื้นที่ที่ประกาศ และบทลงโทษหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คนรักเล เฮ! กฎกระทรวงคุ้มครองเกาะโลซิน มีผล 28 ก.ค.นี้ \"วราวุธ\" ย้ำจิตสำนึก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนในฐานะนักดำน้ำและผู้บริหารที่ให้ความสำคัญและเดินหน้าป้องกันและรักษาทรัพยากรปะการังของไทยมาโดยตลอด ครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ตนได้พยายามเร่งรัด ผลักดัน ให้ประกาศกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองแนวปะการังบริเวณรอบเกาะโลซิน

โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎกระทรวง กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2565 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

คนรักเล เฮ! กฎกระทรวงคุ้มครองเกาะโลซิน มีผล 28 ก.ค.นี้ \"วราวุธ\" ย้ำจิตสำนึก

ซึ่งพื้นที่บริเวณเกาะโลซินเป็นพื้นที่ที่ความสำคัญและเปราะบางมาก อย่างช่วงกลางปี 2564 เราได้มีบทเรียนกรณีพบอวนประมงขนาดยักษ์ติดบริเวณแนวปะการังที่เกาะโลซิน รวมน้ำหนักอวนกว่า 800 กิโลกรัม ปกคลุมแนวปะการังกว่า 2,750 ตารางเมตร สร้างความเสียหายรุนแรงกว่า 550 ตารางเมตร จนเกิดปะการังฟอกขาว ปะการังซีดจางบางส่วน เหตุการณ์เหล่านี้ ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นที่เกาะโลซิน หรือพื้นที่อื่น ๆ ก็ตาม พื้นที่เกาะโลซิน นับเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลแห่งที่ 2 ต่อจากพื้นที่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประกาศไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 อย่างไรก็ตาม ตนได้เร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ดำเนินการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญแห่งอื่น ๆ โดยเร็ว

อีกทั้ง ได้ฝากให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ทั้งนี้ ตนอยากจะฝากบอกพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่า 

“มาตรการทางกฎหมาย เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ในการกำกับและบังคับใช้เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด แต่จิตสำนึกและความร่วมมือของทุกคน คือ หัวใจสำคัญและเป็นหนทางที่จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมคงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน ต่อไป ตราบใดที่เรายังขาดจิตสำนึกไม่ว่าเราจะมีกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงแค่ไหน หรือมีเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจกำกับที่ดีเพียงใด ก็จะไม่สามารถรักษาทรัพยากรของชาติ ให้สมบูรณ์ยั่งยืนได้ ตลอดไป”  นายวราวุธ กล่าว

คนรักเล เฮ! กฎกระทรวงคุ้มครองเกาะโลซิน มีผล 28 ก.ค.นี้ \"วราวุธ\" ย้ำจิตสำนึก

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า พื้นที่โดยรอบเกาะโลซิน พบปะการังหลากหลายชนิด ทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อนและกัลปังหา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฉลามวาฬ รวมทั้งปลาน้อยใหญ่อีกกว่า 116 ชนิด และหอยกว่า 54 ชนิด อย่างไรก็ตาม ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดบริเวณพื้นที่บังคับไว้ 2 บริเวณ โดยมีกิจกรรมที่ห้ามดำเนินการที่แตกต่างกัน ดังนี้ บริเวณที่ 1 บริเวณแผ่นดินบนเกาะโลซินและพื้นที่ทะเลรอบเกาะเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ระยะทางห่างรอบเกาะจากฝั่งประมาณ 500 เมตร ห้ามก่อมลพิษ ห้ามกระทำความเสียหายต่อปะการัง สัตว์น้ำ ซากปะการัง กัลปังหา ห้ามทอดสมอเรือ ห้ามประกอบการประมง ห้ามก่อสร้าง ห้ามนำสัตว์หรือพืชจากที่อื่นเข้าไปในบริเวณ และห้ามขุดเจาะและทำเหมืองแร่ เป็นต้น สำหรับบริเวณที่ 2  เป็นพื้นที่ในทะเล ห่างจากเกาะประมาณ 6 กิโลเมตร เนื้อที่รวมประมาณ 143 ตารางกิโลเมตร ห้ามก่อมลพิษ ห้ามกระทำการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการัง สัตว์ทะเล และซากปะการัง ห้ามขุดเจาะและทำเหมืองแร่ ห้ามถมทะเลและขุดลอกร่องน้ำ และทำประมงยกเว้นการใช้เบ็ดมือ

"อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมอื่น เช่น การดำน้ำ และการท่องเที่ยว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้กำหนดแนวทางและมาตรการ รวมถึง แผนการบริหารจัดการในพื้นที่ ต่อไป และจะได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนชายฝั่ง เพื่อร่วมดำเนินการตามมาตรการที่ได้บังคับด้วย ทั้งนี้ ได้กำหนดบทลงโทษหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวทราบโดยทั่วกัน ต่อไป" นายโสภณ กล่าว