ผู้เอาประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” ของ 2 บริษัท เรียกร้องเร่งจ่ายสินไหมทดแทน

ผู้เอาประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” ของ 2 บริษัท เรียกร้องเร่งจ่ายสินไหมทดแทน

ผู้เอาประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” ของ 2 บริษัท จำนวนกว่า 400 คน ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ภูเก็ต เรียกร้องเร่งรัดบริษัทเร่งจ่ายสินไหมทดแทน หลังยื่นไปทางบริษัทแล้วเรื่องเงียบหาย

วันนี้ (28 มี.ค.65) บริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) กลุ่มผู้ทำกรมธรรม์ประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือที่รู้จักกันในประกัน “เจอ จ่าย จบ” ของบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนประมาณ 50 คน รวมตัวกันยื่นคำร้องขอให้ดำเนินการตรวจสอบเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

 

กรณีประกันวินาศภัยการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของ บริษัทประกันภัยดังกล่าว รวมทั้งเอกสารกรมธรรม์ของผู้เอาประกันภัย, เอกสารชุดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนรายชื่อและรายละเอียดผู้เอาประกันภายที่ได้รับความเสียหายจากการประวิงเวลา กับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), ประธานกรรมการและผู้เกี่ยวข้องของ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

ผู้เอาประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” ของ 2 บริษัท เรียกร้องเร่งจ่ายสินไหมทดแทน

โดยมีนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายธนัท กุมสันเทียะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้รับเรื่องและชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการ

สำหรับหนังสือร้องเรียนระบุว่า ด้วยมีผู้เอาประกันภัยของบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนประมาณ 197 คน และของบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนประมาณ 259 คน และผู้เอาประกันภัยอีกจำนวนมากที่มิได้แนบชื่อมาด้วย โดยขอร้องเรียนว่า ภายหลังจากที่ได้ทำประกันภัยโควิด-19 เจอ จ่ายจบ กับบริษัทดังกล่าว และเมื่อมีการตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 โดยได้รับการรักษา พร้อมทั้งยื่นเอกสารเคลมประกันอย่างครบถ้วนแล้ว ภายหลังปรากฏว่า บริษัทฯ ยังไม่ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยตามระยะเวลาในสัญญาประกันภัย และไม่มีคำชี้แจงใดๆ อย่างเป็นทางการจากบริษัทฯ อันถือได้ว่ามีเจตนาประวิงเวลาการจ่ายคำสินไหมทดแทน และถือเป็นการฝ่าฝืนสัญญาแห่งการประกันภัย

ทำให้กลุ่มผู้เอาประกันฯ ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติผิดและผ่าฝืนข้อสัญญาประกันภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับประกาศของกระทรวงพาณิชย์เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลา ที่ถือว่าเป็นการประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหมทดแทนของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนิน การปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์อย่างเคร่งครัด, ขอให้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการชดเชยค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัย และขอให้ทบทวนมติในที่ประชุมของบริษัทฯ เรื่อง การไม่เพิ่มทุน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้รับความเป็นธรรม หากพบว่ามีการผ่าฝืนข้อสัญญาประกันภัย หรือมีเจตนาประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันโควิด-19 ขอให้ลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามเห็นสมควรต่อไป

 

ผู้เอาประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” ของ 2 บริษัท เรียกร้องเร่งจ่ายสินไหมทดแทน

นายเดชอนันต์ สุวรรณโณ หนึ่งในผู้เอาประกันตนฯ กล่าวว่า กลุ่มผู้ที่เดินทางมานั้น เป็นผู้ที่มาจากการนัดผ่านไลน์กลุ่มซึ่งมีประมาณ 400 คน กรรมธรรม์ละประมาณ 50,000-100,000 บาท รวมมูลค่า 40 กว่าล้านบาท แต่ที่มาวันนี้อาจจะไม่ได้มาทั้งหมด เพราะไม่ทราบหรือฝากเอกสารมา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยื่นเรื่องเคลมประกันไปแล้ว แต่ทางบริษัทไม่ได้ดำเนินการใดๆ เท่าที่ควรจะเป็น จึงต้องมายื่นเรื่องผ่านผู้ว่าฯ และศูนย์ดำรงธรรมฯ ให้ช่วยเร่งรัดจ่ายเงินสินไหม เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆ และการติดต่อกลับจากทางบริษัท หรือ คปภ.เลย โดยการอนุมัติจ่ายสินไหมดังกล่าวได้หยุดไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเงียบหายไปเลย

ด้านนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากนี้จะรวบรวมรายชื่อของผู้ประกอบกันตนทั้งหมดที่จะต้องได้รับค่าสินไหมทดแทนเจอจ่ายจบ ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด และส่งให้กับ คปภ. ส่วนกลาง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลผู้เอาประกันเจอจ่ายจบของจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนมาประมาณ 831 ราย มูลค่าประมาณ 98 ล้านบาท ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ และส่วนกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ให้บริษัทประกันดังกล่าวหยุดทำธุรกรรมต่างๆ และเข้าไปควบคุมการประกอบกิจการ รวมทั้งให้ดำเนินการชำระบัญชีที่คงค้างชำระให้กับผู้ที่ขอชดเชยค่าสินไหมทดแทนทุกรายด้วย