ผ่าสถิติงบ กทม. 7.9 หมื่นล้าน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม." 22 พ.ค.65

ผ่าสถิติงบ กทม. 7.9 หมื่นล้าน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม." 22 พ.ค.65

เปิดสถิติงบประมาณรายจ่ายประจำปี "ศาลา กทม." ในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ 2555-2565 สู่เดิมพันใหญ่เลือกตั้ง "ผู้ว่าฯเมืองหลวง"

การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.-นายกเมืองพัทยา-สมาชิกสภาเมืองพัทยา ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นลำดับสุดท้าย ต่อจากการเลือกตั้งองค์บริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) องค์บริหารส่วนตำบล(อบต.) และเทศบาล ซึ่งจัดมาแล้วในปี 2563-2564 

สำหรับการเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม." จะเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีเศษ นับจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 โดยในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงที่ 1,256,349 คะแนน ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.คนที่ 16 และเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนล่าสุดที่มาจากการเลือกตั้งจากคนกรุงเทพฯ

"ผู้ว่าฯกทม." เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ในปัจจุบัน คสช.แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯกทม.ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.2559 ถึงปัจจุบัน(22 มี.ค.2565)

สำหรับสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทุกครั้ง ถือเป็นเดิมพันใหญ่ในทางการเมือง เมื่อการเข้าไปมีอำนาจบริหารราชการภายในศาลาว่าการ กทม.มีโครงสร้างเทียบเท่ากระทรวงใหญ่ในหลายกระทรวง โดยเฉพาะงบประมาณบริหารประจำปีมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ผ่าสถิติงบ กทม. 7.9 หมื่นล้าน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม." 22 พ.ค.65 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.วันที่ 18 ต.ค.2559 

หน่วยงาน กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นพิเศษ ได้จัดสรรวงเงินงบประมาณตั้งแต่ปี 2559 ไม่ต่ำว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ล่าสุด มีวงเงินอยู่ที่ 79,855 ล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 3,404 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2564 ซึ่งอยู่ที่ 76,451 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของ กทม.แบ่งเป็น "งบรายจ่ายประจำ" จำนวน 78,979 ล้านบาท และรายจ่ายของการพาณิชย์ของ กทม.จำนวน 875 ล้านบาท 

ขณะที่ในส่วนรายจ่ายประจำ แบ่งเป็นออกเป็น "งบกลาง" จำนวน 14,417 ล้านบาท ที่เหลืออีกจำนวน 64,561 ล้านบาท เป็นงบประมาณสำนักงานในสำนักปลัด กทม. หน่วยงาน และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต 

หากตรวจสอบไปที่งบประมาณปี 2565 ในส่วนสำนักต่างๆ ของ กทม.มีหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรมากที่สุด 10 อันดับ ดังนี้

1.สำนักการระบายน้ำ 7,004,723,861 บาท

2 สำนักสิ่งแวดล้อม 6,845,454,756 บาท

3.สำนักการโยธา 6,455,586,600 บาท

4.สำนักการแพทย์ 4,439,365,100 บาท

5.สำนักการจราจรและขนส่ง 3,871,137,900 บาท

6.สำนักการคลัง 2,996,974,710 บาท

7.สำนักอนามัย 2,113,644,000 บาท

8.สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเท่ียว 1,309,339,200 บาท

9.สำนักปลัด กทม. 912,610,510 บาท

10.สำนักการศึกษา 786,415,659 บาท

ขณะเดัยวกัน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ตรวจสอบไปที่ข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ซึ่งประกาศไว้ในเว็ปไซต์ "ราชกิจจานุเบกษา" ตั้งแต่ปี 2555-2565 พบว่าในปี 2563 มีงบประมาณมากที่สุดอยู่ที่ 83,398 ล้านบาท โดยแบ่งตัวเลขงบประมาณ กทม.ในแต่ละปีได้ดังนี้

ปี 2555 งบประมาณ 55,507 ล้านบาท

ปี 2556 งบประมาณ 60,527 ล้านบาท

ปี 2557 งบประมาณ 65,517 ล้านบาท

ปี 2558 งบประมาณ 65,442 ล้านบาท

ปี 2559 งบประมาณ 70,424 ล้านบาท

ปี 2560 งบประมาณ 75,635 ล้านบาท

ปี 2561 งบประมาณ 79,047 ล้านบาท

ปี 2562 งบประมาณ 80,445 ล้านบาท

ปี 2563 งบประมาณ 83,398 ล้านบาท

ปี 2564 งบประมาณ 76,451 ล้านบาท

ปี 2565 งบประมาณ 79,855 ล้านบาท

รวมงบประมาณระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2555-2565 อยู่ที่ 792,248 ล้านบาท

การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.2565 จะเป็นอีกหนึ่งการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ต่อการเลือกผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 ที่จะเข้าบริหารงบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 79,855 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ตามที่ได้หาเสียงไว้ได้แค่ไหน วันที่ 22 พ.ค. คนกรุงเทพฯ จะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของเมืองหลวงทั้งหมด 

ผ่าสถิติงบ กทม. 7.9 หมื่นล้าน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม." 22 พ.ค.65