ติดโควิด "เจอ แจก จบ" ไม่ไหว! เปิดข้อมูลเชิงลึก เดือดร้อนกู้เงินดอกโหดประทังชีวิต

ติดโควิด "เจอ แจก จบ" ไม่ไหว! เปิดข้อมูลเชิงลึก เดือดร้อนกู้เงินดอกโหดประทังชีวิต

ติดตามกรณี ติดเชื้อโควิด "เจอ แจก จบ" ไม่ไหว! ชาวบ้านเดือดร้อนกู้เงินดอกโหดประทังชีวิต เปิดข้อมูลเชิงลึก "กลุ่มคนเมือง" กระทบมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จังหวัดตรัง เปิดเผยว่าหลังจากหน่วยงานรัฐให้บริการประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบ เจอ แจก จบ เพื่อเตรียมดำเนินการให้โรคโควิด 19 เป็น โรคประจำถิ่น และให้ผู้ป่วยสีเขียว หรือสีเหลือง รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ให้สามารถออกหาซื้ออาหารได้ ขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ให้กักตัวอยู่กับบ้าน และยกเลิกการแจกอาหารกล่อง หรือถุงยังชีพอย่างสิ้นเชิง 

ปรากฏว่า ล่าสุด พบว่าทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนเมือง ที่บางส่วนมีอาชีพรับจ้างทั่วไปแบบหาเช้ากินค่ำ มีรายได้รายวัน บ้านต้องเช่าข้าวต้องซื้อ ซึ่งเมื่อต้องกักตัว หรือรักษาตัวเองอยู่กับบ้าน ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ก็เท่ากับว่าไม่มีรายได้สิ้นเชิง แต่ยังต้องกินต้องใช้อยู่ทุกวัน 

ขณะที่ เทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ก็ออกมาระบุว่า ขณะนี้ไม่มีงบที่จะดูแลเรื่องอาหารการกินให้อีกแล้ว ดังนั้น บางครอบครัวจึงต้องหาทางออกด้วยการไปกู้ยืมเงินนอกระบบ เพื่อนำมาซื้ออาหารกินกันเอง แม้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงมากก็ตาม ซึ่งนโยบายของรัฐดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ที่เดือดร้อนหนักจากสถานการณ์โควิด รวมทั้งค่าครองชีพที่แพงมากอยู่แล้ว ให้ยิ่งเดือดร้อนหนักมากยิ่งขึ้น 

ขณะที่ อสม. ซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลประชาชน จำนวนมากก็ติดเชื้อโควิด แต่ก็ยังพยายามที่จะหาทางช่วยเหลือชาวบ้านในความรับผิดชอบทุกวิถีทาง ทั้งพยายามโทรศัพท์ประสานขอถุงยังชีพจากฝ่ายต่างๆ เพื่อช่วยชาวบ้าน เช่น รพ.ก็ได้ตัดเรื่องอาหารกล่อง และถุงยังชีพออกไปแล้วตามระบบการรักษารูปแบบใหม่ ส่วนท้องถิ่นได้รับคำตอบว่า ไม่มีงบประมาณ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ขณะที่ภาพรวมทั้งจังหวัด ขณะนี้ มี อสม. ติดเชื้อแล้วประมาณ 2,000 ราย

ติดโควิด \"เจอ แจก จบ\" ไม่ไหว! เปิดข้อมูลเชิงลึก เดือดร้อนกู้เงินดอกโหดประทังชีวิต

ตัวแทน อสม. และชาวบ้าน กล่าวว่า แถวละแวกบ้านของตน ตอนนี้มีผู้ที่ต้องรักษาตัวจากการติดเชื้อ และคนสัมผัสเสี่ยงสูงก็ต้องกักตัวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ติดกันยกครอบครัวหลังละ 2 – 5 คน บางหลังต้องหยุดงานกันทั้งครอบครัว ตามมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้พวกตนไม่มีรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างทั่วไป ที่ปกติมีรายได้แค่วันละ 250 บาทเท่านั้น หรือคนที่มีอาชีพค้าขาย หรือบางครอบครัวมีคนสูงอายุที่ไม่มีรายได้อะไรแล้ว รวมทั้งเด็กๆ ก็ต้องมาถูกกักตัวด้วย 

สร้างภาระในเรื่องอาหารการกิน บางคนซื้อด้วยเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ซื้อมาก่อนแล้ว บางคนมีเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จนทำให้พวกตน และหลายคนต้องหาทางออกด้วยการไปยืมเงินนอกระบบ ทั้งที่ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 หรือบางรายสูงถึงร้อยละ 80 ก็มี เพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงนี้ไปก่อน ซึ่งเมื่อพ้นระยะกักตัวแล้ว พวกตนค่อยไปทำงานมาใช้หนี้ เช่น ยืมมา 1,000 บาท 10 วัน ตกลงจ่ายดอก 600 บาท หรือบางหลังต้องยืม 3,000 -5,000 บาท เพราะคนในครอบครัวติดเชื้อต้องกักตัวทั้งหมด โดยตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ว่าทั้งดอก ทั้งต้น จะขอทำงานส่งคืนให้เมื่อหายจากโควิดกลับไปทำงาน หรือขายของได้ 

ส่วนหน่วยงานท้องถิ่น แรกๆ ก็นำอาหารกล่องมาแจก แต่เดี๋ยวนี้เขาบอกว่าไม่มีงบแล้ว โดยอาหารหลักของพวกตนตอนนี้ก็คือ ไข่ไก่ มาม่า เพราะประหยัดที่สุด และจำยอมต้องอดทนให้ถึงที่สุด เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยรายไหนที่เดือดร้อนมากๆ อย่างน้อยก็เอาถุงยังชีพมาให้ ก็ยังดี เพื่อให้ชาวบ้านได้ช่วยตัวเองในเบื้องต้น เพราะเศรษฐกิจก็ไม่ดี งานก็ไม่ได้ทำ 

นอกจากนั้น บางชุมชนยังมีผู้ถูกกักตัวกันเป็นจำนวนมาก แบบบ้านติดๆ กันเลย ต้องใช้วิธีการไหว้วานคนข้างบ้านที่ยังไม่ป่วย ซึ่งยังเหลือเพียงไม่กี่คน ให้ช่วยไปซื้อข้าวของมาวางไว้หน้าบ้านแต่ละหลัง เพื่อจะได้กินได้ใช้ รวมทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่มาพ่นยาฆ่าเชื้อใดๆ อีกแล้ว ปล่อยให้ประชาชนในแต่ละชุมชน ดูแลตัวเอง แบบตัวใครตัวมัน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก นอกจากนั้น ชาวบ้านระบุว่า เชื้อโควิดระบาดรอบที่ผ่านๆก็ต้องพักรักษาตัว กักตัว แต่ยังมีข้าวกล่อง ถุงยังชีพช่วยเหลือ แต่มาขณะนี้ถือว่าการระบาดซึ่งต่อเนื่องมาโดยตลอด ชาวบ้านก็เดือดร้อนแบบสะสมปัญหามาเรื่อยๆ ค้าขายไม่ได้ดี แต่ละรายไม่มีเงินเก็บ ข้าวของแพงทุกชนิด แต่พอมาติดเชื้อรอบนี้ และต้องกักตัว ควรจะมองเห็นว่าชาวบ้านยิ่งเดือดร้อนหนักมากกว่าเดิม เพราะไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ ไม่มีถุงยังชีพ ไม่มีข้าวกล่อง มาช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนใดๆเลย 

หากรัฐจบผลักภาระที่ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องเงินงบประมาณ มาให้ชาวบ้านดูแลตัวเองเต็มๆ แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ โดยบอกให้ผู้ติดเชื้อสามารถออกไปซื้ออาหารกินเองได้ แต่ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ต้องดูแลทั้งครอบครัว รัฐจบแต่ชาวบ้านไม่จบ