กสร. รุกแก้ปัญหา "ค้ามนุษย์" ยกระดับสู่ Tier 1 พุ่งเป้าขจัดการใช้แรงงานเด็ก

กสร. รุกแก้ปัญหา "ค้ามนุษย์" ยกระดับสู่ Tier 1 พุ่งเป้าขจัดการใช้แรงงานเด็ก

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งแก้ปัญหาการ "ค้ามนุษย์" ด้านแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปลดล็อค Tier 2 Watch List โดยมีเป้าหมายที่ระดับ Tier1 โดยจัดประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.65 นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การ "ค้ามนุษย์" ในประเทศไทย ปัจจุบันไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) เพื่อยกระดับการจัดลำดับสถานการณ์การแก้ไขการ "ค้ามนุษย์" ในประเทศจาก Tier 2 watchlist เป็น Tier 1

ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ดูแลในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ "ค้ามนุษย์" โดยตรง เพื่อยกระดับเทียร์ให้สูงขึ้น

จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ "ค้ามนุษย์" ด้านแรงงาน โดยพุ่งเป้าการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อคุ้มครองแรงงานไม่ให้มีการละเมิดสิทธิด้านแรงงานในกิจการประเภทต่าง ๆ

ซึ่ง กสร. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งประกอบไปด้วย รูปแบบ ก. ทุกรูปแบบของการใช้ทาส หรือแนวปฏิบัติที่คล้ายกับการใช้ทาส เช่น การค้า และการซื้อขายเด็ก การขนส่งเด็ก แรงงานขัดหนี้ แรงงานไพร่ติดที่ดิน แรงงานบังคับ หรือเรียกเกณฑ์เด็กเพื่อใช้ในการสู้รบ รูปแบบ ข. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้า เพื่อการค้าประเวณี เพื่อการผลิตสื่อลามก หรือเพื่อการแสดงลามก รูปแบบ ค. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

โดยเฉพาะเพื่อผลิตและขนส่ง ยาเสพติดตามที่นิยามไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบ ง. งานซึ่งโดยลักษณะของงาน หรือโดยสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และศีลธรรมของเด็ก โดยมีหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายมาร่วมประชุม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาด้านการค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับในหลายประเด็น ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะเป็นการระดม ความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทยเพื่อนำมากำหนดแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 ให้เกิดความสอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแผนแม่บทในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน