มาฆบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันไหน ประวัติวันมาฆบูชา สิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ

มาฆบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันไหน ประวัติวันมาฆบูชา สิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ

วันมาฆบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันไหน ประวัติวันมาฆบูชา ความสำคัญวันมาฆบูชา เวียนเทียนแล้วดีอย่างไร กับสิ่งที่ชาวพุทธควรพึงปฏิบัติ

'มาฆบูชา 2567'  วันมาฆบูชา ปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 (วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เป็นวันที่พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และมีเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน 4 ประการ หรือที่เรียกว่า 'จาตุรงคสันนิบาต' และในวันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดง 'โอวาทปาฏิโมกข์' ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา 

 

 

วันมาฆบูชา 2567 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 

วันมาฆบูชา 2567 ได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนี ระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ 

 

  1. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย 
  2. พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น 'เอหิภิกขุอุปสัมปทา' หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง 
  3. พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 
  4. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้นจึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า 'วันจาตุรงคสันนิบาต' หรือวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 (ซึ่งคำว่า 'จาตุรงคสันนิบาต' นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ 'จาตุร' แปลว่า 4 'องค์' แปลว่า ส่วน 'สันนิบาต' แปลว่า ประชุม)

 

ปัจจุบัน 'วันมาฆบูชา' ได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล 

 

มาฆบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันไหน ประวัติวันมาฆบูชา สิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ

 

 

ประวัติ วันมาฆบูชา 2567

 

หลังจาก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน ขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะ หรือเดือน 3 ในเวลาบ่าย พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 

 

  1. วันนั้นเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 
  2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้ นัดหมาย 
  3. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 
  4. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจาก พระพุทธเจ้า 

 

เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 'วันจาตุรงคสันนิบาต' และในโอกาสนี้พระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศหลักการอุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา 


กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา 2567

 

วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนก ปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น 

 

ก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกัน 'ปฏิบัติภาวนา' ใน 'วันพระอุโบสถ' ซึ่งเป็นหน้าที่ตามปกติของชาวพุทธ กล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา 


บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชา ก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

 

  • บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย อรหัง สัมมา ฯลฯ)
  • บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ 3 จบ)
  • บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย สวากขาโต ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย ธรรมมะคือคุณากร ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย สุปฏิปันโน ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
  • บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย อัชชายัง ฯลฯ)

 

จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุขโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวาติ (รอบที่ 1)

 

ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวด สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ (รอบที่ 2)

 

และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวด สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย, อัญชะลีกะระณีโย, อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ (รอบที่ 3)

 

จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

 

มาฆบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันไหน ประวัติวันมาฆบูชา สิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ

 


การ เวียนเทียน ทำแล้วดีอย่างไร

 

การ 'เวียนเทียน' ในวันสำคัญทางศาสนา ทำแล้วดีอย่างไรนั้น ซึ่งผลดีที่จะได้รับจากการเวียนเทียนตามความเชื่อของชาวพุทธเถรวาท ได้แก่ 

 

ช่วยให้ชีวิตสุกสว่าง

ไฟถือเป็นสื่อกลางในการแสดงความศรัทธาต่อศาสนาพุทธ การเวียนเทียนจึงเปรียบเหมือนการเพิ่มความสุกสว่างให้ชีวิตราบรื่นเจริญรุ่งเรือง เป็นความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณในแถบอินเดียและเอเชียตะวันออก ส่วนมากใช้ในพิธีเผาเทียนเล่นไฟ พิธีปล่อยโคมลอย ใช้เผาศพ และใช้จุดธูปเทียนสำหรับการเวียนเทียน 

 

เตือนสติชาวพุทธ

การเวียนเทียนนอกจากเพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อปูชนียบุคคลหรือปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นเหมือนกุศโลบายเตือนสติให้ตระหนักถึง 'วัฏสงสาร' หรือการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้ใช้ชีวิตไม่ประมาท 

 

ได้อานิสงส์แรง

การเวียนเทียนจะช่วยส่งอานิสงส์ผลบุญให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติ ในทางตรงคือผู้ปฏิบัติจะมีกายที่สำรวมขึ้น มีจิตใจที่สะอาด สงบ ระหว่างที่เดินเวียนเทียน และในทางอ้อม (ตามความเชื่อ) คือ จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บุญหนัก หลุดพ้นจากภูมิเปรต เดรัจฉาน อีกทั้งบันดาลให้จิตพ้นอบายภูมิได้ 


ขั้นตอนการเวียนเทียนให้ถูกต้อง มีดังนี้

  • ชำระร่างกายและจิตใจ ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
  • เตรียม 3 สิ่งคือ ดอกไม้ 1 คู่ (ดอกบัว ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ หรือพวงมาลัยดอกไม้สำหรับถวายพระ) ธูป 3 ดอก และ เทียน 1 เล่ม
  • ไหว้พระประธานก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน
  • เวียนประทักษิณาวัตร คือการเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือ 3 รอบ พร้อมสวดมนต์ไปด้วยในแต่ละรอบ
  • บทสวดมนต์ รอบที่ 1 ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวด 'อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ' รอบที่ 2 ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยสวด 'สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม' และรอบที่ 3 ให้ระลึกถึงพระสังฆคคุณ โดยสวด 'สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ'
  • ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และต้องระวังธูปเทียนไปโดนผู้อื่น
  • หลังจากเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้

 

มาฆบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันไหน ประวัติวันมาฆบูชา สิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ

 

ข้อมูลจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, dhammajak, wikipedia.org