ชาวสวนปาล์ม ค้านน้ำมันปาล์มผ่านแดน หวั่นทำราคาร่วง

ชาวสวนปาล์ม ค้านน้ำมันปาล์มผ่านแดน หวั่นทำราคาร่วง

ชาวสวนปาล์ม จ.กระบี่ ค้านคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) อนุมัติน้ำมันปาล์มผ่านแดนประเทศไทย ทางบกด้านด่านศุลากรสะเดา จ.สงขลา ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หวั่นทำราคาปาล์มร่วง

ที่บริเวณ แยกตลาดอ่าวลึก ต.อ่าวลึกใต้ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ ประมาณ 30 คน นำโดยนายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ นายอธิราษฎร์ ดำดี คณะทำงานด้านปาล์มน้ำมัน สภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จ.กระบี่ ได้รวมตัวเดินรณรงค์คัดค้านการนำผ่านน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการผ่านด่านศุลกากรสะเดา และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตามที่ทางการสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้มีการแจ้งขอนำผ่านน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียไปยัง สปป.ลาว โดยผ่านด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ซึ่งเป็นการขนส่งทางบกโดยรถบรรทุกตลอดระยะทาง 1,612 กิโลมตร ใช้เวลา 22 ชั่วโมงในการเดินทางผ่านพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมหลายจังหวัด

 

เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันมีข้อกังวลหลายกรณี จึงขอคัดค้าน และมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้ การนำเข้าผ่านแดนโดยการขนส่งทางบก ที่ขาดการควบคุม ติดตาม กำกับดูแลให้เกิดความเรียบร้อยไม่เป็นไปตามข้อตกลง เป็นเหตุให้เกิดการสวมสิทธิ์ สวมรอย ลักลอบ นำเข้ามาโดยไม่ถูกต้องผิดประเกท และไม่ได้ส่งออกไปจริง ทำให้มีปัญหากับตลาดและปริมาณน้ำมันปาล์มภายในประเทศ

2.ประเทศไทย ไม่ได้กีดกันการนำเข้าผ่านแดนน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียไปยังประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด เพียงแต่มีการปรับเงื่อนไขการนำเข้าให้ใช้การขนส่งทางเรือ ให้ใช้ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด และใช้การขนส่งทางบกต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามด่านที่กำหนด เพื่อเป็นการง่ายต่อการควบคุมกำกับดูแล และคล่องตัวในการขนส่ง มีระยะทางการขนส่งที่ใกล้กว่า ใช้การขนส่งทางบกเพียง 625 กิโลมตร ใช้เวลาเพียง 8 ชั่วโมง มีผลต่อการลดระยะทาง เวลา และต้นทุนการขนส่ง อย่างเห็นได้ชัด

3.การกำหนดเงื่อนไขการขนส่งสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรในประเทศ เป็นวิธีปฏิบัติที่ทุกประเทศนำมาใช้กันอย่างปกติ เช่น ประเทศไทยต้องการส่งขายข้าวสังข์หยดจากภาคใต้ไปยังประเทศมาเลเซีย ต้องส่งจากท่าเรือมาบตาพุด ไม่สามารถขนส่งผ่านทางบกไปยังประเทศมาเลเซียโดยตรงได้

ประเทศอินโคนีเซียมีการกำหนดจุดนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ ให้นำเข้าได้เพียง 4 แห่ง คือสนามบินกรุงจาการ์ตา ท่าเรือเมคาน ท่าเรือเมืองสุราบายา และท่าเรือเมืองมากัสซาร์ ซึ่งทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายค่าขนส่งเพิ่มขึ้นในการนำสินค้าจากจุดนำเข้านั้นๆ มายังจาการ์ตา ซึ่งเป็นจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าที่สำคัญของอินโดนีเซีย

4.รัฐบาลไทยควรเจรจาการค้ากับ สปป.ลาว เพื่อเสนอขายน้ำมันปาล์มของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ น้ำมันปาล์มของประเทศไทย ผลิตได้เกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศ มีราคาใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์มในตลาดสากล และสินค้าไทยมีคุณภาพ มีแบรนด์ มีภาพทางการค้ำที่ได้รับการยอมรับ การน้ำเข้าน้ำมันปาล์มผ่านแดนทางบก เกรงว่าจะทำให้เกิดผลกระทบกับราคาผลปาล์มภายในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับราคาผลปาล์ม ในช่วง 7วันที่ผ่านมา ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก กก.12 บาท เหลือเพียง 7.40 บาท (ราคาหน้าลานเท) และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และในวันพรุ่งนี้ 4 ก.พ.ทางคณะกรรมการ กนป.จะมีการประชุมในเรื่องดังกล่าว