"น้ำมันรั่ว" ระยอง ชาวบ้าน-ชาวประมง ทำใจรอหายนะคราบน้ำมัน

"น้ำมันรั่ว" ชาวบ้าน-ชาวประมงระยองทำใจรอหายนะคราบน้ำมัน ด้าน ดร.ธรณ์ เผยข้อมูลล่าสุดน้ำมันไหลเข้าใกล้ฝั่งมากขึ้น พร้อมเตือนพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด

วันที่ 28 มกราคม 2565 จากกรณี "น้ำมันรั่ว" หายนะที่กลุ่มประมงและชาวบ้านจังหวัดระยองกำลังหวาดกลัวกับสถานการณ์ท่อน้ำมันแตกกลางทะเล ที่ในขณะนี้ทำได้เพียงคือทำใจรอผลกระทบที่กำลังตามมา

 

 

นี่คือภาพบรรยากาศบริเวณชายหาดสุชาดาเขต เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ที่พบว่าในช่วงเช้าของวันนี้ยังไม่พบคราบน้ำมันที่รั่วลอยเข้ามาที่บริเวณชายหาด ตามที่พ่อค้าแม่ค้ารวมถึงกลุ่มประมงกำลังหวาดกลัวและหวาดหวั่นใจว่าจะเกิดหายนะ ในการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ตามมาหลังเกิดท่อน้ำมันใต้ทะเลแตกกลางทะเล

 

นายสุรสิทธิ์ เขตสมุทร อายุ 42 ปี พ่อค้าส่งกุ้ง เปิดเผยว่า ทุกคนกำลังหวาดกลัวกับคราบน้ำมันรั่วที่พบเจอ จึงอยากให้ช่วยกันมาอุดหนุนอาหารทะเล และจากการสอบถามกลุ่มประมงในพื้นที่แจ้งว่ายังไม่พบคราบน้ำมันลอยเข้ามาที่ชายหาด ในบริเวณอำเภอเมืองระยอง ซึ่งประมงส่วนมากแจ้งว่าคราบน้ำมันยังคงมีอยู่กลางทะเลและไหลมาเรื่อยๆ โดยชาวประมงในกลุ่มต่างๆก็เริ่มหวั่นใจว่าจะมีผลกระทบตามมาแน่นอน

 

นายศรีนวล อักษรศรี อายุ 61 ปี ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านตากวน เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เปิดเผยว่า สมาชิกประมงต่างกลัวว่าสัตว์ทะเลที่จับได้จะไม่มีใครกล้ามาซื้อ ซึ่งตอนนี้ก็ได้แต่ทำใจรอหายนะ

 

"เป็นห่วงของทะเลที่จับมาจะขายไม่ได้ อันเกิดจากในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็คือคราบน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบเกิดตามมาแน่นอนและกว่าจะฟื้นตัวได้ต้องใช้เวลาอีกนาน จึงหวั่นใจในเรื่องของผลกระทบจากสัตว์ทะเลที่จับมาขายว่าจะขายไม่ได้ ซึ่งก็คือหายนะที่จะตามมาในเรื่องของรายได้ความเป็นอยู่"

 

น.ส.อรพินท์ เจริญรัมย์ แม่ค้าขายอาหารทะเลจุดกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านตากวน เปิดเผยว่า ตอนนี้กลุ่มแม่ค้าก็ต่างหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ลูกค้าประจำเวลามาซื้อของจะถามว่ามีผลกระทบอะไรกับหมึกกับกุ้งอะไรบ้างไหม ตนเองก็ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร ในตอนนี้จึงต้องสั่งของทะเลมาขายในจำนวนที่น้อยลง

 

 

นายอำนวย นันธิพัฒนวงศ์ อายุ 58 ปี พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นลูกค้าที่ชอบรับประทานอาหารทะเล ได้เปิดเผยขณะมาหาซื้ออาหารทะเล ได้ระบุว่า สิ่งเกิดขึ้นได้สร้างความหวาดกลัวให้กับทุกคนในวงกว้าง แต่ด้วยความที่ชอบอาหารทะเลก็ต้องมาซื้อจึงต้องทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ทางด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง บางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการไหลของคราบน้ำมันจากดาวเทียม TerraSAR-X จากโดรน และเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยงานต่างๆ ข้อมูลล่าสุดที่เราทราบคือน้ำมันเข้ามาใกล้ฝั่งมาก แบ่งเป็น 2 หย่อม 

 

หย่อมแรกเป็นหย่อมเล็กจะไปทางใกล้บริษัทไออาร์พีซีมากกว่า บริเวณท่าเรือ ขณะที่หย่อมใหญ่กำลังทยอยไหลตามเข้ามา และขึ้นอยู่กับสภาพของท้องทะเล ซึ่งทะเล ณ ตอนนี้ลมค่อนข้างนิ่ง น้ำยังเรียบอยู่ แต่ในช่วงบ่ายของวันนี้น้ำและลมจะเริ่มแรงขึ้น 

 

ซึ่งครั้งนี้เชื่อได้ว่าน้ำมันก้อนใหญ่ที่จะไหลเข้ามาและพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือบริเวณหัวโค้งเลยบริษัทไออาร์พีซี ยาวไปถึงก้นอ่าวไปทางบ้านเพ ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่สีส้ม จะอยู่ในพื้นที่ของเกาะเสม็ด บ้านเพ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่สภาพอากาศ

 

ลักษณะจะแตกต่างจากปี 2556 อย่างเห็นได้ชัด ช่วงที่เกิดเหตุตอนนั้นเป็นช่วงที่ลมแรงกว่านี้เยอะ การกั้นในทะเลซึ่งทำได้ยาก ทำให้คราบน้ำมันนั้นเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งไหลเข้ามารวมกันอยู่ในพื้นที่อ่าวพร้าวเกาะเสม็ดเท่านั้น ซึ่งอ่าวพร้าวนั้นยาวประมาณ 400 เมตร ซึ่งทำให้คราบน้ำมันนั้นรวมตัวกันอยู่ในอ่าว ซึ่งจะทำให้มองเห็นทะเลเป็นพื้นที่สีดำมืด เป็นทะเลน้ำมัน ซึ่งเกิดในช่วงตุลาคม แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดในช่วงมกราคม ซึ่งมันแตกต่างกันอย่างชัดเจน ลมในครั้งนี้จะเบากว่า เรามีเวลากักเก็บน้ำมันในทะเล 2-3 วัน เพราะฉะนั้นหย่อมน้ำมันจะกระจายตัวมากกว่า จะกระจายเป็นจุดๆ จะไม่เข้ามาเป็นลักษณะดำมืด หรือเป็นทะเลดำ ที่เดียวเหมือนกับที่อ่าวพร้าวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

พื้นที่เฝ้าระวังค่อนข้างกว้าง การทำงานในทะเลและข้อมูลจากดาวเทียม GISTDA พื้นที่ของแพน้ำมันประมาณ 47 กิโลเมตร เป็นฟิล์มบางๆ ในพื้นที่ด้านนอกยังสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ด้วยวิธีการที่กำจัดมาแล้ว 2 วัน คือการฉีดน้ำยา ทั้งการใช้บูม และน้ำยา 

 

การที่ใช้สารเคมีนั้นต้องใช้ในพื้นที่ที่มีน้ำลึกด้านนอก ซึ่งไม่ใช้ในพื้นที่ที่ใกล้ฝั่ง อีกส่วนหนึ่งต้องรอรับในส่วนด้านในซึ่งเราต้องใช้บูมในการกั้นชายหาด ซึ่งต้องกั้นในส่วนที่พิจารณาแล้ว คาดว่าคราบน้ำมันจะมาบริเวณชายหาด ถ้าตรงไหนเข้าเยอะต้องใช้วิธีในการซับน้ำมัน และกระจายคนในการเข้าไปจำกัดป้องกันชายหาด

 

ในส่วนคณะประมงเราได้เก็บตัวอย่างพื้นดิน พื้นทรายในทะเลก่อนเกิดเหตุที่จะมีคราบน้ำมันมาถึง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บมา 2 วันแล้ว ซึ่งเรามีข้อมูลต่างๆแล้ว และชายหาดเราก็ดำเนินการเก็บตัวอย่างเหมือนกัน ซึ่งบริเวณหาดแม่รำพึงนี้มีหอยเสียบเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะประมงได้เก็บตัวอย่างหลายจุดแล้ว และจะไปประมวลผลว่ามีผลกระทบอย่างไรหลังจากมีคราบน้ำมันเข้ามา ซึ่งสารเคมีจะสะสมไปในพื้นทรายหรือปะการัง 2-3 ปี ต้องศึกษาเป็นระยะยาวต่อไป

 

ข่าวโดย ธานนท์ ตรีพลอักษร จ.ระยอง