ภูเก็ต แจงปมนักข่าวชาวอังกฤษเขียนตีแผ่การใช้ชีวิตใน Hospitel เหมือนนักโทษ

ภูเก็ต แจงปมนักข่าวชาวอังกฤษเขียนตีแผ่การใช้ชีวิตใน Hospitel เหมือนนักโทษ

ภูเก็ตประสานเสียงแจงยิบกรณีนายโจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษคนดัง เขียนบทความตีแผ่ปัญหาระบบ "ฮอสพิเทล"

(26 ม.ค.2565) นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงกรณีนายโจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษคนดัง ได้เขียนบทความตีแผ่เรื่องปัญหาของระบบ "ฮอสพิเทล" (Hospitel) หรือการกักตัวชาวต่างชาติผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ในโรงแรมของไทย โดยเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือน "การใช้ชีวิตเยี่ยงนักโทษที่ต้องจ่ายเงินขังตัวเอง"

 


 

โดยผู้ว่าฯ ภูเก็ต ระบุว่า ที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต มีการนำเสนอข่าวทั้งบวกและลบ เมื่อมีข่าวด้านลบได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมใช้วิกฤติเป็นโอกาสและทำการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่บกพร่อง

 

ขณะเดียวกันหากข้อมูลใดไม่ถูกต้องก็จะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบและจะทำทุกอย่างให้ดีขึ้นซึ่งขณะนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต นั้นยังมีจำนวนมาเฉลี่ยวันละ 2,500 -3,500 คน นั่นแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวยังคงมีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของจังหวัด และมั่นใจว่าหลังการเปิดให้ลงทะเบียน Test&Go รอบใหม่จะยิ่งมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจคู่กับการควบคุมรักษาโรค

 

ภูเก็ต แจงปมนักข่าวชาวอังกฤษเขียนตีแผ่การใช้ชีวิตใน Hospitel เหมือนนักโทษ

 

ขณะที่นางสาวนันทาศิริ รณศิริ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า กรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาและมีผลเป็นบวก เป็นกลุ่มสีเขียวไม่แสดงอาการ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่สามารถเลือกเข้ารับการรักษาใน "ฮอสพิเทล" (Hospitel) ได้

 

ซึ่งการดูแลจะมีความผ่อนคลายมากกว่า ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า นักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อและรักษาตัวในฮอสพิเทล มีการออกจากห้องพักมารับประทานหรือทำกิจกรรมต่างๆนั้น จากการสอบถามข้อมูลจากแพทย์และโรงพยาบาลคู่สัญญาให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถที่จะออกมาจากห้องพัก เพื่อเดินออกกำลังกายหรือรับประทานอาหารนอกห้องพักได้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมผ่อนคลายภายใต้มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

 

 

ดังนั้น เมื่อมีการเสนอข่าวออกมาในทางลบ ททท.จะได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลคู่สัญญาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลกำหนดมาตรการอย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น เพื่อวางแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติและกำชับในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมให้เข้มงวดในเรื่องนี้มากขึ้น

 

พร้อมทั้งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในกรณีการเข้าพักในฮอสพิเทลของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีผลบวกเป็นลบแต่ไม่มีอาการว่า สามารถออกมาจากห้องพักได้ แต่ยังคงต้องอยู่ภายในโรงแรมเท่านั้น ไม่สามารถออกจากโรงแรมได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยไม่มีการแพร่กระจายโรคและลดความตึงเครียดของนักท่องเที่ยวได้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ ททท.ภูเก็ต กล่าวด้วยว่า เนื่องจากเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดภูเก็ต เพื่อต้องการมาท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่างๆ แต่เมื่อมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบผลเป็นบวก และต้องเข้ารับการรักษาก็ย่อมจะเกิดความเครียดในระดับหนึ่ง

 

โดยการดูแลนักท่องเที่ยวจากนี้ไปจะมีการวางมาตรการเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวให้ดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีแนวปฏิบัติเดียวกัน ทั้งประเภทของกิจกรรมและระยะเวลาการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้ทาง ททท.ได้มีการชี้แจงและสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปยัง ททท.ด้านสื่อสารทางการตลาดทั่วโลก 29 แห่ง เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ต่อไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ได้รับทราบ เกี่ยวกับแนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

ทางด้านนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงประเด็นที่นักเขียนชาวต่างชาติได้นำเสนอ ว่า ไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดที่เดินทางเข้ามาแล้วต้องการติดเชื้อ แต่เมื่อตรวจพบว่ามีผลเป็นบวก ทางจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกับภาคเอกชนได้มีการเสนอทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว 4 ช่องทาง คือ

 

1.การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรักษา ซึ่งในหลักการมองว่า โรงพยาบาลควรจะสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างน่าเป็นห่วงมากกว่า

 

2. เป็นการเข้ารับการดูแลในรูปแบบผสมผสานระหว่างโรงพยาบาลคู่สัญญากับโรงแรม เรียกว่า ฮอสพิเทล เพื่อให้ผู้ป่วยสีเขียวเข้าไปอยู่ก่อนได้โดยตามหลักการ คือ รักษาตัว 10 วันโดยส่วนใหญ่ กลุ่มนี้มีอาการไม่น่าเป็นห่วง

 

3. Hotel Room Isolution เป็นการขอความร่วมมือจากโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว สำรองห้องพักไม่น้อยกว่า 5% เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยที่สุด

 

4 CI คือ การมีโรงแรมกลางที่สามารถจะรับผู้ป่วยสีเขียวจากที่อื่นๆ เข้ามาพัก

 

นอกจากนี้นายภูมิกิตติ์ กล่าวด้วยว่า ขอสร้างความเข้าใจใน 2 ประเด็น คือ สิ่งที่ฮอสพิเทลที่เป็นข่าวดำเนินการนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองจิตใจผู้ป่วย โดยเปิดโอกาสให้ออกมาสูดอากาศหรือทำกิจกรรมบางอย่างนอกห้องพักได้บ้าง เพื่อบรรเทาความตึงเครียด เพราะจากการทำงานร่วมกับสาธารณสุข พบว่า คนติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายแล้ว จะมีอาการที่เรียกว่า Long Covid หรืออาการเรื้อรังจากการติดโควิด โดยร่างกายจะมีความเครียดสะสม

 

ฉะนั้น จึงมีการบรรเทาความตึงเครียดในระหว่างเวลา 10 วัน ทำให้เห็นภาพนักท่องเที่ยวที่ออกมาทำกิจกรรม แต่ไม่ใช่การจัดงานเลี้ยง หลังจากนี้จะได้มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถทำได้ เพื่อให้เกิดความพอดี

 

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ การคอมเพลนเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อินเทอร์เน็ตไม่ดี สัญญาณโทรทัศน์ไม่เรียบร้อย สระว่ายน้ำไม่สะอาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละโรงแรม ในประเด็นนี้สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวฯ จะได้ประสานงานกับโรงพยาบาลคู่สัญญากับโรงแรม เพื่อให้ทำการปรับปรุง เพราะไม่ว่าจะเป็นนักข่าวหรือคนธรรมดาก็ไม่อยากอยู่ในสภาพนั้น