รับมือโอมิครอนระบาด เช็คความเสี่ยงเมื่อ "ติดโควิด" รักษาที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย ?

รับมือโอมิครอนระบาด เช็คความเสี่ยงเมื่อ "ติดโควิด" รักษาที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย ?

เรื่องต้องรู้ สำหรับใครที่ตรวจโควิด-19 และพบว่า ผลเป็นบวก "ติดเชื้อโควิด" แล้วนั้น หากมีอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยสามารถรักษาตนเองที่บ้านได้จนกว่าจะหาย แต่เมื่อพบว่ามีอาการรุนแรงมากขึ้นจะต้องรีบติดต่อหน่วยบริการทางการแพทย์ทันที

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังจากตรวจพบโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุด วันนี้ (6 ม.ค.65) กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาด จากเดิมที่ระดับ 3 เป็น "ระดับ 4" เพื่อเตรียมออกมาตรการสกัดการระบาด อาทิ การปิดสถานที่เสี่ยง และชะลอการเดินทางนั้น 

เมื่อแนวโน้มยอดผู่ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้น เรื่องหนึ่งที่ต้องจับตา คือ ระบบสาธารณสุข และศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยประเทศไทย ว่า จะกลับไปสู่ระดับวิกฤติอย่างเดิมหรือไม่ 

ทั้งนี้ หนึ่งประเด็นสำคัญ ที่แตกต่างกันระหว่างการระบาดรอบล่าสุดนี้ กับ รอบที่ผ่านมา ก็คือ เรื่องของสายพันธุ์ เนื่องจาก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และไม่ถึงกับเสียชีวิต จึงสามารถพัก "รักษาตัวที่บ้าน" และกักตัวเพื่อตรวจอาการซ้ำได้จนกว่าจะหายดี

คำถามที่น่าสนใจในมุมของผู้ป่วยและคนรอบข้าง จึงมีอยู่ว่า อาการโควิด-19 ในระดับมากน้อยแค่ไหน ที่สามารถทำการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้?

คำตอบเบื้องต้น ก็คือ

1. มีไข้
2. ไอ
3. เจ็บคอ
4. ปวดศีรษะ
5. ปวดกล้ามเนื้อ
6. มีน้ำมูก

ซึ่ง ก่อนจะทำการรักษาตัวที่บ้านนั้นผู้ป่วยต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขโดยตรงภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อลงทะเบียนผู้ป่วยและประเมินอาการ โดยการรักษาตัวที่บ้านผู้ป่วยจำเป็นจะต้องตรวจเช็คอาการข้างต้นอย่างสม่ำเสมอและวัดค่าออกซิเจนทุกวัน รวมถึงต้องมียาพื้นฐาน เช่น พาราเซตามอล, ฟ้าทะลายโจร, ยาแก้เจ็บคอ ฯลฯ และต้องรับประทานเป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความร่วมมือเมื่อแพทย์ติดต่อมาสอบถามอาการอยู่ตลอด และห้ามสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นโดยตรง

  •  "อาการโควิด" แบบไหน ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ด่วน

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการดังนี้ จำเป็นจะต้องติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยสาธารณสุขใกล้เคียงเพื่อเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยจะต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือเรียกรถพยาบาลมารับตัวเท่านั้น ห้ามใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะเด็ดขาด

1. มีไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชม.
2. หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ
3. วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้ต่ำกว่า 94
4. ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
5. สำหรับอาการในผู้ป่วยเด็กจะมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง

ด้าน คริส โปตระนันท์ ประธานมูลนิธิ "เส้นด้าย" ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรักษาดูแลผู้ป่วยโควิดมาตลอด อธิบายเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ว่า โควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" อาจจะเหมือนเบาลง แต่ก็มีหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเพราะตัวโรคหรือประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนไปแล้ว เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเบากว่าเดลต้า

“การรักษาผู้ป่วยที่ติดโอมิครอนเราใช้แนวทางเดียวกับเดลต้า นั่นคือผู้ป่วยอาการสีเขียวอยู่บ้านได้ ไม่มีอาการเหนื่อย แต่เมื่อเหนื่อย และออกซิเจนเริ่มตกต่ำกว่า 97 หรือเหนื่อยหอบ ต้องเข้าไปรักษาดูแลใกล้ชิด หากแค่เจ็บคอหรือไอสามารถรักษาตัวอยู่บ้านได้ แต่ต้องโทรหา 1330 ก่อน ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้เขาประสานเรื่องการรักษาให้ แต่ถ้าไม่สามารถติอต่อได้ก็ยังสามารถติดต่อมูลนิธิหรือเอกชน เช่น ลงทะเบียนผ่านเพจเส้นด้ายหรือเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขได้”

นายคริสกล่าว