เนื้อหมูแพงร้านอาหารแบกรับไม่ไหวขึ้นราคาเมนูละ 10 บาท

เนื้อหมูแพงร้านอาหารแบกรับไม่ไหวขึ้นราคาเมนูละ 10 บาท

พิษเนื้อหมูปรับราคารายวัน ร้านอาหารท้องถิ่นดัง แบกไม่ไหวขึ้นราคาเมนู 10 บาท โวยหมูโรคระบาดตายหรือแอบส่งหมูเป็นไปต่างประเทศ

นางภัทราภร เที่ยงตรง เจ้าของร้าน “เจ้น้อย กระโทก” ร้านอาหารท้องถิ่นรสเด็ด เจ้าของเมนูดัง “คั่วหมี่กระโทก” “ซี่โครงหมูย่าง” “เห่าดง” “คั่วหม่ำหมู” ตรงข้ามทางเข้าโรงพยาบาลค่ายสุรนารี ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบสำคัญของแต่ละเมนูได้ปรับราคาขึ้นแทบเป็นรายวันได้ส่งผลกระทบทั้งลูกค้าและคนขาย ยิ่งเจอวิกฤตโควิดรายได้ลดรายจ่ายเพิ่ม ลูกค้าต้องประหยัดทำให้ยอดขายลดลง ที่สำคัญเป็นเวลาหลายปีเราไม่ได้ปรับราคาขึ้น แม้นวัตถุดิบต่างๆ ได้ทยอยปรับราคาขึ้น เช่น แก๊สหุงต้ม เครื่องปรุงและผัก ผลไม้บางชนิด รวมทั้งเนื้อหมู,ไก่,ปลา ตนไม่ได้ปรับขึ้นตาม พยายามตรึงราคาให้นานที่สุด ขึ้นแล้วขึ้นอีกไม่ได้ หากปรับบ่อยๆ ลูกค้าก็หาย

ขณะนี้เนื้อหมูราคากิโลกรัมละ 200 บาท บางแผงพุ่ง 220 บาท จำเป็นต้องปรับราคาบางเมนูที่ใช้ปริมาณหมูมากลดปริมาณไม่ดีขอขึ้นราคา 10 บาท ดีกว่า ฝากถึงรัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่นายทุนอ้างหมูแพงเพราะหมูเป็นโรคระบาด เอาซากมาให้ดูด้วย ใช่หรือไม่ส่งหมูเป็นส่งขายต่างประเทศ ตอบข้อข้องใจด้วย

ด้านนายอนุวัฒน์ เทียมเกรียงไกร อายุ 50 ปี เจ้าของร้าน “โซ้ยเจ๊กโภชนา” อาหารตามสั่งตั้งอยู่หลังโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ซึ่งมีบรรดาแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านเป็นลูกค้าประจำ กล่าวว่า ร้านมีค่าใช้จ่ายต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะเนื้อหมู แต่ไม่สามารถขึ้นราคาได้ เห็นใจลูกค้า พยายามรักษาคุณภาพและปริมาณไว้ ต้องยอมแบกรับภาระกำไรน้อยลง

ทั้งนี้ต้องรอดูสถานการณ์จะส่งผลในระยะยาวมากน้อยเพียงไร ก่อนวางแผนขึ้นราคาเมนูปรับแล้วปรับอีกยอดขายร่วงแน่ ขณะนี้ราคาหมูสดพุ่งเสมือนราคาทองคำ ปลายปี 2564 หมูสามชั้น กก.ละ 170 บาท ได้ปรับราคาขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด 230 บาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นยิ่งเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน

ต้องยอมรับเป็นกลไกการตลาดและสถานการณ์บางอย่างส่งผลให้เนื้อหมูขาดตลาดเกิดการแย่งกันซื้อ แม้นรัฐบาลพยายามเยียวยาโดยจัดสรรสินค้าเนื้อหมูธงฟ้าหรือสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็น แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั่วถึง ประชาชนต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง