"โบรกเกอร์" กางแผนปี 65 ตบเท้าให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล

"โบรกเกอร์" กางแผนปี 65 ตบเท้าให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล

“บล.ฟินันเซียฯ” เล็งขอไลเซ่นส์ “นายหน้าซื้อขาย-ที่ปรึกษา” ไตรมาส 1/65 “บล.บัวหลวง” จ่อเป็นปรึกษาลูกค้าบจ.ระดมทุนโทเคนดิจิทัล “บล.กสิกรไทย” พร้อมให้บริการระดมทุนโทเคนดิจิทัล หากลูกค้าต้องการ “บล.เมย์แบงก์” เชื่อมลูกค้าลงทุนคริปโทฯ ผ่านกองทุนอีทีเอฟต่างประเทศ

นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS เปิดเผยว่า จากความสนใจในการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ที่เพิ่มขึ้นนั้น บล.ฟินันเซีย ไซรัส มีแผนที่จะยื่นขอใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการส่งคำสั่งซื้อขายคริปโทฯ ให้กับตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ให้ราคาที่ดีที่สุดกับลูกค้าของบริษัท และไลเซ่นส์การเป็นที่ปรึกษาในการออกเสนอขายสินทรัพย์ (ICO Portal) ในไตรมาส 1 ปี 2565

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทีมงาน และเตรียมความพร้อมระบบในการให้บริการนายหน้าซื้อขายคริปโทฯ รวมถึงการเตรียมเครื่องมือให้กับนักลงทุน เช่น ทีมนักวิเคราะห์คริปโทฯ เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบข้อมูลพื้นฐาน และเทคโนโลยีของแต่ละเหรียญหรือแต่ละโทเคนว่ามีสินทรัพย์อ้างอิง (อันเดอร์ไลอิง) อะไร

ส่วนนักลงทุนที่ลงทุนลักษณะเก็งกำไร ก็ควรที่จะมีเครื่องมือด้านเทคนิคอลที่ทันสมัย ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำแอพพลิเคชั่น “ฮีโร่” ปรับปรุงให้สามารถใช้กับคริปโทฯ ได้ คาดการให้บริการในปีนี้อาจจะยังไม่เต็มรูปแบบ คาดเต็มรูปแบบปี 2566

นายช่วงชัย กล่าวว่า การหันมาให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากเป็นเทรนด์ความสนใจของนักลงทุน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่ได้เข้ามาดิสรัปตลาดทุน เพราะตลาดทุนเป็นตลาดสำหรับการลงทุนที่สามารถให้ตอบแทนที่ยั่งยืนและมีปันผล ส่วนการลงทุนคริปโทฯ บางประเภทสามารถให้ผลตอบแทนได้เหมือนหุ้น แต่ถ้าเป็นการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีนั้น ราคาจะผันผวนรุนแรง เหมาะสำหรับการเก็งกำไร ทำให้นักลงทุนจะเป็นลักษณะการแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนคริปโทฯ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูง แต่สำหรับคนที่ต้องการการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนยั่งยืนก็ยังคงเลือกลงทุนในตลาดทุน

โบรกเกอร์ สินทรัพย์ดิจิทัล

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับคริปโทเคอร์เรนซี ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีสินค้าหรือบริการที่เปิดให้ลูกค้าลงทุนโดยตรง และมองว่าอนาคตของสินทรัพย์ดังกล่าวยังประเมินยาก อย่างไรก็ดี บริษัทไม่ได้ปิดกั้นและยังมอนิเตอร์พัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเริ่มเห็นเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมบางแห่งต่อท่อให้บริการลูกค้าแล้ว

แต่สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เชื่อว่าเป็นกระแสที่จะมาอย่างแน่นอน จากปัจจุบันมีลูกค้าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางระดมทุนที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้ลงทุนยังสามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในปี 2565 บริษัทมีแผนยื่นขอใบอนุญาต ICO Portal กับ ก.ล.ต.เพื่อให้บริการลูกค้าในระยะถัดไป

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บล.กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีบริการที่พาลูกค้าไปลงทุนโดยตรงในคริปโทเคอร์เรนซี แต่สำหรับโทเคนดิจิทัลที่มีทรัพย์สินหนุนหลัง บล.กสิกรไทย พร้อมให้บริการลูกค้าหากมีความต้องการระดมทุน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการระดมทุนในรูปแบบที่มีอยู่ยังเป็นพื้นที่ทางธุรกิจที่ลูกค้ามีความต้องการ (Blue Ocean)

นายอารภัฏ สังขรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MST กล่าวว่า กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบัน บล.เมย์แบงก์ฯ เปิดให้นักลงทุนซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีผ่านกองทุนรวมดัชนีต่างประเทศ (Global Crypto ETFs) โดยเชื่อว่าการลงทุนในคริปโทฯ เป็นกระแสการลงทุนระยะยาวไม่ใช้แค่การเก็งกำไรเท่านั้น ดังนั้น คริปโทฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลงทุนในพอร์ตโฟลิโอของบริษัทเพื่อช่วยให้ลูกค้าของกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้