ย้อนรอย "ฉายารัฐบาล" ร้อนแห่งปี จาก "ยิ่งลักษณ์" สู่ยุค "ประยุทธ์"

ย้อนรอย "ฉายารัฐบาล" ร้อนแห่งปี จาก "ยิ่งลักษณ์" สู่ยุค "ประยุทธ์"

เปิดธรรมเนียมปฏิบัติ "สื่อมวลชน" สายการเมืองทำเนียบรัฐบาล ตั้ง "ฉายารัฐบาล" แห่งปีจากสมัย "ยิ่งลักษณ์" สู่ยุค "ประยุทธ์"

เป็นธรรมเนียมอีกครั้งสำหรับการตั้ง "ฉายารัฐบาล" ประจำปีของสื่อมวลชนสายการเมืองทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทุกปีจะประชุมเพื่อตั้งฉายาคณะรัฐมนตรี เพื่อสะท้อนการทำงานฝ่ายบริหารในฐานะรัฐมนตรีตลอดทั้งปี ที่ผ่านมาการตั้งฉายาของสื่อมวลชนเริ่มตั้งแต่ปี 2523 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนมาวันนี้ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาครบ 42 ปีเต็ม

ที่ผ่านมาสื่อมวลชนจะร่วมประชุมเพื่อให้นักข่าวแต่ละคนเสนอฉายาพร้อมคำอธิบาย เพื่อประชุมคัดเลือก "ฉายา ครม." แล้วนำมาเปิดเผยสู่สาธารณะในช่วงปลายเดือนธ.ค.ของทุกปี

แต่การเข้ามารัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตั้งแต่ปี 2557-2551 สื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาล ได้เว้นวรรคการตั้งฉายาจากรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร ทำให้การตั้งฉายารัฐบาลที่มาจากการเลือกในยุคนั้นหยุดอยู่ที่ "ฉายารัฐบาล" ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 

ตามจริงแล้วในช่วง ธ.ค.ปี 2556 ซึ่งยังไม่มีการรัฐประหาร สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล ได้เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนตั้งฉายาให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล จึงมีมติงดการตั้งฉายารัฐบาลในปีนั้นในเวลาต่อมา

ทำให้ในปี 2555 เป็นปีสุดท้ายก่อนเข้าสู่รัฐบาล คสช.ที่สื่อมวลชนตั้งฉายาให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยให้ฉายารัฐบาลว่า "พี่คนแรก" ส่วนฉายานายกรัฐมนตรีคือ "ปูกรรเชียง"

จากนั้นเมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562-2564 สื่อมวลชนได้กลับมาตั้งฉายาให้รัฐบาลเช่นกัน มีดังนี้

• 2562 

ฉายารัฐบาล : รัฐเชียงกง

รัฐเชียงกง สะท้อนภาพรัฐบาลคล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจาก ข้าราชการยุคก่อน และนักการเมืองหน้าเก่า แม้ใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ

ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม : อิเหนาเมาหมัด

ยกคำสุภาษิตไทย ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เปรียบแนวทางปฏิบัติ และนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นได้ชัดหลายเรื่อง มักจะตำหนิหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสุดท้ายก็กลับมาทำเอง อาทิ โครงการลักษณะประชานิยม บอกไม่เป็นนายกฯ สุดท้ายก็กลับมา ไม่อยากเล่นการเมือง ก็หนีไม่พ้น ตั้งคนมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นรัฐมนตรี แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าสภา และฝ่ายตรงข้ามรุมเร้าคล้ายโดนระดมหมัดเข้าถาโถม แม้พยายามสวนหมัดสู้ แต่หลายครั้งถึงกับมึนชกโดนตนเองก็มี

• 2563 

ฉายารัฐบาล :  VERY "กู้"

เปรียบเปรยการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องกอบกู้วิกฤติจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กู้ชีวิตคนไทยให้อยู่รอดปลอดภัยแม้จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ แม้จะไม่ถึงขั้น very good ก็ตาม ขณะเดียวกัน ผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องคนไทยที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน และ ภาวะตกงาน บางคนต้องจากโลกนี้ไปด้วยไม่อาจรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มาบรรเทาปัญหา

ฉายาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม : "ตู่ไม่รู้ล้ม"

เป็นการล้อคำ “โด่ไม่รู้ล้ม” ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงาน ของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ว่าจะประสบปัญหา  อุปสรรคการเมือง หรือชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป

• 2564 

ฉายารัฐบาล : ยื้อยุทธ์

ภาพของรัฐบาล ที่ยื้อแย่งกันเองทั้งในส่วนของอำนาจ และ ตำแหน่ง โดยไม่สนใจประชาชนและการเดินหน้าประเทศ ถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และ มองการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อยื้อให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีการชุมนุมขับไล่ไสส่งอย่างไร ใครไม่อยู่ แต่พล.อ.ประยุทธ์อยู่

ฉายาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม : ชำรุดยุทธ์โทรม

การบริหารราชการแผ่นดินตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ถือได้ว่า เป็นผู้ที่รับบทหนักที่สุดแห่งปี  ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง ถูกโจมตีรอบด้าน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ 

อ่านที่เกี่ยวข้อง : เปิดฉายารัฐบาล ปี 64 "ยื้อยุทธ์" นายกฯ "ชำรุดยุทธ์โทรม

ย้อนรอย "ฉายารัฐบาล" ร้อนแห่งปี จาก "ยิ่งลักษณ์" สู่ยุค "ประยุทธ์"

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์