TMBAM - TFUND Eastspring ชวนส่อง 5 ธีมลงทุนรับปีเสือ

TMBAM - TFUND Eastspring ชวนส่อง 5 ธีมลงทุนรับปีเสือ

ทีมกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Eastspring เปิด 5 ธีมลงทุนปี 65 คาดเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมีความผันผวน ต้องจับตานโยบายการเงินการคลัง แต่เชื่อหุ้น ESG และจีนแผ่นดินใหญ่มาแรง

นายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ  รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.ธนชาตอีสท์ปริง ( Thanachart Fund Eastspring ) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 65 จะยังคงได้รับผลจากการระบาดโควิด-19 ในปีนี้ และจะมีความผันผวนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเป็นหลัก แต่ยังเชื่อว่าในภาพรวมยังมีโอกาสการลงทุน และมีกลุ่มสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนอยู่

ทีมกลยุทธ์การลงทุนได้แบ่งธีมการลงทุนโลกออกเป็น 5 ธีม โดยเชื่อว่าหากมีการเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างรัดกุมก็จะทำให้พอร์ตของผู้ลงทุนยังสามารถทำผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวังได้

 

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน  บลจ.ทหารไทยอีสท์สปริง (TMBAM Eastspring)  กล่าวถึง ธีมแรกสำหรับการลงทุนในปีหน้าคือ  ธีมรับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลังจากการระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ส่งผลสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าหลายประเทศสามารถประคองให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าในปี 2022 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับมาชะลอตัวลง จากฐานการเติบโตที่สูงในปีนี้ และความต้องการที่เริ่มชะลอตัวหลังจากการเปิดประเทศในปีหน้า ดังนั้นการลงทุนในช่วงปี 2022 มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระจายสินทรัพย์ลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ และไม่ควรเก็งกำไรในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งหรือภูมิภาค/กลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง

ธีมการลงทุนที่สองคือ  การลงทุนที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน จากการที่ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้ในปี 2022 ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยุโรป และอังกฤษ ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ ทั้งลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐ หลังจากการประชุมในเดือนธันวาคม จาก Dot plot มีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้งในปี 2022 ซึ่งอาจเริ่มส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นได้


ดังนั้นในช่วงจังหวะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น อาจต้องกระจายลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นบ้าง แทนที่จะเน้นลงทุนกลุ่มเติบโตหรือกลุ่มเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว โดยส่วนตัวมองว่ากลุ่มหุ้นวัฏจักร เช่น ธนาคาร พลังงาน มีความน่าสนใจเหมาะเอาไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงและได้ประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น ในส่วนของตราสารหนี้อาจจะต้องเลือกตราสารที่มีอายุไม่ยาว และเน้นไปยังตราสารประเภท Investment Grade เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น


สำหรับ ธีมที่สามเชื่อว่านโยบายการคลังที่ลดขนาดลงและการขึ้นภาษีจะเป็นปัจจัยในการพิจารณาการลงทุนในปีหน้า จากที่กล่าวข้างต้นว่า หลายประเทศมีการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่สูงมาก อย่างในสหรัฐ ปีนี้มีการใช้วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 16% ของ GDP แต่กลับพบว่าในปี 2022 วงเงินในด้านการคลังคาดว่าจะมีการใช้งบประมาณไม่ถึง 10% ของ GDP ทำให้เชื่อว่าสหรัฐ อาจเริ่มเก็บภาษี ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีนิติบุคคล และภาษีจากการลงทุน ในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริโภค กำไรบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการลงทุนที่อาจผันผวนเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้น สำหรับการลงทุนอาจจะต้องเลือกบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่ดีเพื่อรองรับการเติบโตที่อาจจะชะลอตัวลง รวมถึงความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และอาจเพิ่มการลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มียอดขายเติบโตน่าสนใจติดพอร์ตไว้บ้าง ซึ่งมองว่าจะได้รับผลบวกในกรณีเกิดการขึ้นภาษีนิติบุคคล


นายวสวัตติ์ บวรเสรีผไท ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ทหารไทยอีสท์สปริง (TMBAM Eastspring )กล่าวว่า ธีมที่สี่ ในปีหน้าหลายบริษัทจะให้ความสำคัญต่อ ESG โดยเชื่อว่าในปีหน้าหลายบริษัทจะนำเอา ESG เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น และในแง่ของการลงทุน ทางผู้จัดการกองทุนทั่วโลกได้มีการตระหนักถึงประเด็น ESG และมีการนำเรื่อง ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุน ขณะที่ทาง Bloomberg  มีการคาดการณ์ว่าขนาดของกองทุน ESG ที่เป็น ETF อาจเติบโตขึ้นได้ 3-5 เท่าในช่วง 2020-2025 ซึ่งในปี 2020 กองทุน ESG  ประเภท ETF มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2020 และอาจโตได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2025


สำหรับธีมสุดท้าย มองว่า  นโยบายรุ่งเรืองร่วมกันของ สี จิ้น ผิง จะยังดำเนินต่อไป แต่จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ ในปีนี้หลังจากที่ทางการจีนได้มีการประกาศนโยบาย รุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity เพื่อจัดการความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงด้านการผูกขาดตลาด และในปี 2022 นโยบายนี้จะยังคงอยู่แต่ผลกระทบอาจเริ่มจำกัด

และที่สำคัญในปี 2022 จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงการเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะยังเป็น สี จิ้น ผิง ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 3 และหากไปดูนโยบายต่างๆ จะพบว่าจีนมีการดำเนินนโยบายที่ยังคงเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก 


ดังนั้นในด้านการลงทุน ตลาดหุ้นจีนอาจฟื้นตัวไม่เท่ากันระหว่าง ตลาดหุ้นฝั่งที่เป็น H Shares และ China ADR ที่อยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าจีนแผ่นดินใหญ่มีความน่าสนใจ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เน้นการบริโภคในประเทศ รวมถึง Valuation ยังไม่แพงมาก และมีโอกาสเกิด Country Rotation ได้เนื่องจากในปี 2022 การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในจีน สามารถเติบโตได้ประมาณ 15%-16%  และจากอดีตพบว่าปีใดที่ตลาดหุ้นจีน Underperform มาก ในปีถัดมามีโอกาสที่นักลงทุนจะหมุนการลงทุนไปยังตลาดหุ้นจีน

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์