ร.ฟ.ท.ลุยปีหน้า ลงทุนส่วนต่อขยายสายสีแดง 7.9 หมื่นล้าน

ร.ฟ.ท.ลุยปีหน้า ลงทุนส่วนต่อขยายสายสีแดง 7.9 หมื่นล้าน

ร.ฟ.ท. เตรียมชงสร้างส่วนต่อขยายสายสีแดง 4 เส้นทาง รวม 7.93 หมื่นล้าน เข้า ครม. กลางปีหน้า ดันประกวดราคาทันที หวังแก้ปัญหาเส้นทางฟันหลอ โดยเฉพาะ Missing Link ขณะที่ปมพัฒนาสถานีหัวลำโพง เผยชะลอออกไปก่อน ลุยเช็คลิสต์ผลกระทบ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ศึกษาทบทวนความเหมาะสมโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้วเสร็จ ซึ่งจะรวมการพัฒนาส่วนต่อขยาย 4 โครงการ วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท

2.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 4.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ที่ปรึกษาต้องสรุปผลการศึกษาเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน พ.ค. 2565 หากเห็นชอบคาดว่าจะสามารถเปิดสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปี 2565 และได้ผู้รับจ้าง พร้อมเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2566

ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะเสนอ 3 แนวทางให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ครม.พิจารณา โดย 3 แนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1 คือ รัฐบาลรับภาระเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา งานระบบควบคุมการเดินรถ และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนลงทุนระบบบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ

แนวทางที่ 2 รัฐลงทุนงานโยธา และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนลงทุน งานระบบควบคุมการเดินรถ  บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ และ

แนวทางที่ 3 เอกชนรับผิดชอบเองทั้งหมด ได้แก่ งานโยธา ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุง

อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท. มองว่าแนวโน้มที่คุ้มค่าการลงทุนและเหมาะสมที่สุดน่าจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost  แนวทางที่ 1 โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรถไฟฟ้า และการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า ส่วนเอกชน เป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง

นายนิรุฒ เผยด้วยว่า กรณีการเดินขบวนรถเข้า-ออกสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) ที่ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.มีแผนปรับแผนการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง เป็นแนวคิดดั้งเดิมตั้งแต่อดีตที่จะมีการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่เคยมีแนวคิดที่จะยุติการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง เพียงแต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน แต่จะปรับอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และขอยืนยันว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทาง ร.ฟ.ท. จะเดินรถแบบเดิมที่ให้รถไฟทั้ง 118 ขบวน เดินรถเข้าหัวลำโพงทุกขบวนตามปกติไปก่อน และตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.นี้

“หลังจากนี้การรถไฟฯ ต้องจัดทำเช็คลิสต์ การให้บริการเปลี่ยนถ่ายไปยังสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงการเดินรถเส้นทางสายสีแดง ช่วงรังสิต-สถานีกลางบางซื่อ ของรถเชิงพาณิชย์ และรถเชิงสังคมที่จะไม่เดินรถระดับดินให้มีการบริการต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ”

ส่วนเรื่อง การพัฒนาสถานีหัวลำโพง ร.ฟ.ท. ขอชี้แจงว่าเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว ซึ่งต้องมีการพัฒนาไม่มากก็น้อย ร.ฟ.ท. จะไม่ยอมปล่อยให้ทิ้งร้างอย่างแน่นอน และจะมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน ส่วนในภาพที่มีตึกเป็นแท่งสูง เป็นเพียงภาพออกแบบเบื้องต้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำแบบใด กรณีที่พูดกันว่าจะยกให้เจ้าสัว เป็นข้อมูลเท็จ ทำให้ ร.ฟ.ท. เสียหาย ประชาชนเข้าใจผิด

อย่างไรก็ดี เรื่องที่ทำให้ ร.ฟ.ท.เสียหาย ประชาชนเข้าใจผิด ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งพิจารณาบริบทด้านกฎหมายว่าการให้ข้อมูลเท็จดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง ร.ฟ.ท. จะไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายหัวลำโพงไปมากกว่านี้ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนสีผังเมือง ต้องดูก่อนว่ารูปแบบการพัฒนาจะเป็นแบบใด จำเป็นต้องเปลี่ยนสีผังหรือไม่ เปลี่ยนแล้วจะเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ในการพิจารณาจะให้เปลี่ยนสีผังหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผังเมืองเป็นผู้พิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าใครจะขอเปลี่ยนได้ทัน